: : ยินดีต้อนรับเข้าสู่สถานปฏิบัติธรรม กับธรรมชาติที่สัปปายะ สงบ สะอาด ป่าไม้ ถ้ำ และภูเขา บนเนื้อที่ ๘๐ ไร่ ..วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ อ.พาน จ.เชียงราย โทร.053 184 325
 

ป ริ ว า ส ก ร ร ม

ปริวาสกรรม เป็นชื่อของสังฆกรรมสำหรับพระภิกษุสงฆ์ ซึ่งในปัจจุบันนี้ เป็นที่รู้จักแพร่หลายในหมู่พระภิกษุสงฆ์ ซึ่งการอยู่ปริวาสเรียกได้อีกอย่างหนึ่งว่า "การประพฤติวุฒฏฐานวิธี" หรือ “ปริวาสกรรม”

"ปริวาส” เป็นพระวินัยสงฆ์ที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้ หมายถึง "การอยู่ใช้” หรือ “การอยู่รอบ” หรืออยู่เพื่อ "พิสูจน์ตนเอง" โดยปริวาสมีในบุคคล ๒ ประเภท คือ สำหรับพระภิกษุในพระพุทธศาสนา และสำหรับบุคคลนอกศาสนา หรือบุคคลจากศาสนาอื่นที่ประสงค์จะเข้ามาบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา จะต้องอยู่ปริวาสเพื่อพิสูจน์ตนเองว่าตั้งใจและมีศรัทธาที่แท้จริงต่อพระพุทธศาสนา ไม่ได้ปลอมตัวมาบวชเพื่อมาทำลายพระพุทธศาสนา เช่นในสมัยพุทธกาลมีตัวอย่างคือสุภัททะปริพาชก ที่เคยเป็นคนนอกศาลนาที่นับถือลัทธิอื่นมาก่อน เมื่อมีศรัทธามาขอบวช พระพุทธองค์จึงทรงอนุญาตโดยให้สุภัททะปริพาชกได้พิสูจน์ตนเองโดยการอยู่ปริวาสกรรม ซึ่งสุภัททะเมื่อได้ดวงตาเห็นธรรมเป็นพระอรหันต์องค์สุดท้ายที่ทันได้บวชกับพระพุทธองค์ สุภัททะปริพาชก จึงยอมตนขออยู่ปริวาสรับใช้สงฆ์สาวกเป็นเวลาถึง ๔ ปี แม้ในปัจจุบันก็ยังมีชาวต่างชาติที่มีศรัทธามาขอบวชในพระพุทธศาสนา ครูบาอาจารย์สายวัดป่าท่านจึงให้อยู่เป็นผ้าขาวรับใช้พระภิกษุสงฆ์ในวัดเป็นเวลานาน เพื่อพิสูจน์ตนอง จนกว่าจะแน่ใจว่าบุคคลผู้นั้นมีศรัทธาและความตั้งใจแน่วแน่ในการที่จะบวชเป็นพระภิกษุ เมื่อเห็นว่าบุคคลผู้นั้นมีศรัทธาจริงและตั้งใจแน่วแน่ พระอุปัชฌาย์จึงทำการบรรพชา-อุปสมบทให้ ดังมีตัวอย่างให้เห็นในปัจจุบันหลายแห่ง
ปริวาสกรรม หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “การประพฤติวุฏฐานวิธี” คือ อยู่ให้ครบกระบวนการของการอยู่ปริวาสกรรม ตามพระวินัยของสงฆ ์เพื่อเป็นการชำระศีลาจารวัตรให้บริสุทธิ์

เหตุแห่งการอยู่ปริวาสกรรม
การอยู่ปริวาสกรรมของพระภิกษุสงฆ์ เป็นพระวินัยที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้เพื่อให้พระภิกษุสงฆ์ ชำระศีลของตนให้บริสุทธิ์จากการล่วงละเมิดสิกขาบท ๑๓ ประการ ซึ่งเรียกโทษที่ล่วงละเมิดสิกขาบทนั้นว่า สังฆาทิเสส และจะชำระศีลโดยวิธีอื่นไม่ได้ พระพุทธองค์ทรงกำหนดให้ชำระด้วยการอยู่ปริวาสกรรมเท่านั้น

สังฆาทิเสส
คือ ประเภทของโทษที่เกิดจากการล่วงละเมิดสิกขาบทประเภท ครุกาบัติ ที่เรียกว่า อาบัติสังฆาทิเสส จัดเป็นอาบัติโทษรุนแรงรองจากปาราชิก มีทั้งหมด ๑๓ ประการดังนี้

  1. พูดเกี้ยวพาราสีสตรี
  2. แตะต้องสัมผัสกายสตรี
  3. พูดจาให้สตรีบำเรอกามให้
  4. ทำน้ำอสุจิเคลื่อน
  5. ทำตัวเป็นพ่อสื่อ
  6. สร้างกุฏิด้วยการขอ
  7. มีเจ้าภาพสร้างกุฏิให้แต่ไม่ให้สงฆ์แสดงที่ก่อน
  8. ใส่ความว่าปาราชิกโดยไม่มีมูล
  9. แกล้งสมมติแล้วใส่ความว่าปาราชิกโดยไม่มีมูล
  10. ทำสงฆ์แตกแยก(สังฆเภท)
  11. เข้าข้างภิกษุที่ทำสงฆ์แตกแยก
  12. ภิกษุทำตนเป็นคนหัวดื้อ
  13. ประจบสอพลอคฤหัสถ์

คำว่าสังฆาทิเสส แปลว่า อาบัติที่ต้องอาศัยสงฆ์ในกรรมเบื้องต้นและกรรมที่เหลือ กล่าวคือ เมื่อภิกษุต้องอาบัติดังกล่าวแล้ว ต้องแจ้งแก่สงฆ์ ๔ รูปเพื่อขอประพฤติวัตรที่ชื่อมานัต เมื่อสงฆ์อนุญาตแล้วจึงประพฤติวัตรดังกล่าวเป็นเวลา ๖ คืน เมื่อพ้นแล้วจึงขอให้สงฆ์ ๒๐ รูป ทำสังฆกรรมสวดอัพภานให้ เมื่อพระสงฆ์สวดอัพภานเสร็จสิ้น ถือว่าภิกษุรูปนั้นพ้นจากอาบัติเหล่านี้

ในกรณีที่ภิกษุต้องอาบัติข้อนี้แล้วปกปิดไว้ เมื่อมาแจ้งแก่หมู่สงฆ์แล้ว ต้องอยู่ปริวาสกรรมเท่ากับจำนวนวันที่ปกปิดไว้ก่อน เช่น ภิกษุต้องอาบัติสังฆาทิเสสแล้วปกปิดไว้หนึ่งเดือน เมื่อแจ้งแก่สงฆ์แล้วต้องอยู่ปริวาสหนึ่งเดือน แล้วจึงขอประพฤติวัตรมานัตต่อไป

พระพุทธองค์ทรงอนุญาตการอยู่ปริวาสกรรม สำหรับบุคคล ๒ ประเภท คือ

  • ปริวาสกรรมสำหรับคฤหัสถ์ หรือพวกเดียรถีย์หรือคนนอกศาสนา
  • ปริวาสกรรมสำหรับพระภิกษุสงฆ์ที่บวชอยู่แล้วในพระพุทธศาสนาแต่ต้องครุกาบัติ

ปริวาสมี ๔ ชนิด คือ

  1. อัปปฏิจฉันนปริวาส คือ ปริวาสสำหรับผู้ต้องครุกาบัติแล้วไม่ปิดไว้
  2. ปฏิจฉันนปริวาส  คือ ปริวาสสำหรับผู้ต้องครุกาบัติแล้วปิดไว้ ซึ่งนับวันได
  3. สุทธันตปริวาส คือ ปริวาสสำหรับผู้ต้องอาบัติแล้วปิดไว้ มีส่วนเท่ากันบ้าง ไม่เท่ากันบ้าง
  4. สโมธานปริวาส คือ ปริวาสสำหรับผู้ครุกาบัติแล้วปิดไว้ ต่างวันที่ปิดบ้าง ต่างวัตถุที่ต้องบ้าง

 

 
พระครูบาเจ้าบุญชุ่ม ญาณสังวโร
เมตตาแสดงธรรม
 

ปริวาสกรรมสำหรับคฤหัสถ์ หรือพวกเดียรถีย์
“ปริวาส” คำนี้มีมาแต่สมัยพุทธกาล เนื่องด้วยมีคฤหัสถ์มากมายที่ไม่ใช่ผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนา หรือ ไม่ได้นับถือพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หรือเป็นผู้ที่นับถือศาสนาอื่นหรือลัทธิอื่น ๆ มาก่อน ซึ่งคนจำพวกนี้เรียกว่า เดียรถีย์ซึ่งเดียรถีย์เหล่านั้นเมื่อได้ฟังพระธรรม จากพระพุทธเจ้าบ้าง หรือพระอัครสาวกบ้าง ก็เกิดมีความเลื่อมใสศรัทธในพระพุทธศาสนา คิดจะเข้ามานับถือพระพุทธศาสนา โดยจะยังครองเพศเป็นคฤหัสถ์เช่นเดิม หรือจะขอบวชก็ตามพระพุทธเจ้าทรงพิจารณา เห็นว่าควรจะให้คนเหล่านี้ได้อบรมตน ให้เข้าใจในหลักพระพุทธศาสนาเสียก่อน เป็นเวลา ๔ เดือน จึงได้ทรงอนุญาตให้อยู่ประพฤติตนเรียกว่า “ติตถิยปริวาส” ไว้


ผู้ที่ถูกกำหนดว่าเป็นเดียรถีย์ต้องอยู่ติตถิยปริวาส ๔ เดือนนั้นได้แก่

  • เดียรถีย์ หรือคนนอกศาสนาที่ไม่เคยบวชในพระศาสนานี้มาและ
  • อาชีวก ได้แก่คนที่นุ่งผ้าสไบเฉียงข้างบนผืนเดียว ส่วนข้างล่างเปลือย
  • อเจลกะ ได้แก่คนที่เปลือยกายทั้งหมด ควรให้ปริวาส ๔ เดือน คือ ติตถิยปริวาส ซึ่งเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าอัปปฏิจฉันนปริวาสฯ (สมนต.๓/๕๓-๕๔)
  • ปริพาชก คือส่วนที่เป็นดาบสชีปะขาวอื่น เป็นต้น ยังมีผ้าพันกายเป็นเครื่องหมายของลัทธิอยู่ ถือว่าได้รับสิทธิพิเศษไม่ต้องอยู่ปริวาสก่อน ๔ เดือน เพราะท่านเหล่านี้ เรียกว่า สันสกฤติสัทธาได่แก่ผู้ที่มุ่งหน้าเข้ามาหาหรือถามปัญหาโดยมีศรัทธาเป็นประธาน ซึ่งก็ได้แก่ผู้ที่เป็นสาวกบารมีญาณแก่กล้าเต็มที่แล้วนั่นเอง

ในทางคัมภีร์ชั้นบาลีนั้น ผู้ที่ไม่ได้เป็นชีเปลือยก็เคยมีปรากฏว่าอยู่ติตถิยปริวาสมาบ้างแล้ว ในเวลาที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตติตถิยปริวาส ๔ เดือน นี้ ได้แก่พวกเดียรถีย์ (วินย.๔/๘๖/๑๐๑-๒) ท่านหมายเอาคนนอกศาสนาผู้มีความเห็นผิดเป็นนิยตมิจฉาทิฏฐิเข้าด้วย เช่น สถิยพราหมณ์ ผู้นึกดูหมิ่นพระพุทธเจ้า (สภิยสูตร ๒๕/๕๔๘) และปสุรปริพาชกผู้ไปเข้ารีตเดียรถีย์ เป็นต้น คนเหล่านี้ก็ยังมีเสื้อผ้าอยู่ และการอนุญาตติยถิยปริวาสให้แก่อเจลกกัสสปะ ชาวเมืองอุชุญญนคร  ซึ่งทั้งสามท่านที่ยกตัวอย่างมานี้ ภายหลังเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาก จึงขออยู่ปริวาสถึง ๔ ป

   

ปริวาสสำหรับพระภิกษุสงฆ์
ปริวาสกรรมสำหรับพระภิกษุสงฆ์นี้ เป็นปริวาสตามปกติสำหรับภิกษุผู้บวชอยู่แล้วในพระพุทธศาสนา
ซึ่งตามพระวินัยบัญญัติ พระพุทธองค์ทรงบัญญัติพระวินัยไว้ให้สงฆ์ปฏิบัติตาม แต่หากสงฆ์ประมาทพลาดพลั้งกระทำผิดพระวินัย เรียกว่า อาบัติ ซึ่ง อาบัติ หมายถึง การต้องโทษทาง พระวินัย ก็ทรงบัญญัติมีหนทางให้สงฆ์ได้แก้ไขตนเองตามแต่วิธีที่ทรงบัญญัติไว้

พระวินัย หมายถึง กฎระเบียบข้อบังคับของสงฆ์หรือขนมธรรมเนียมประเพณีที่จะต้องปฏิบัติให้เป็นไปในทางเดียวกันของหมู่ภิกษุสงฆ์เพื่อให้เกิดความเลื่อมใสแก่ผู้พบเห็น เพื่อมีอาจาระอันงามเป็นระเบียบเรียบร้อย อันจะนำไปสู่การประพฤติปฏิบัติชอบ เป็นการเอื้อเฟื้อต่อการประพฤติธรรมทางจิตต่อไป พระวินัยนี้ก็เปรียบกับกฎระเบียบหรือกฏหมายของบ้านเมืองของสังคมทางโลกที่ต้องปฏิบัติตาม

พระพุทธองค์ได้ทรงบัญญัติพระวินัย(สิกขาบท)หรือศีล ไว้เป็นกฎข้อบังคับสำหรับพระสาวกได้ปฏิบัติ ซึ่งพระวินัยที่ทรงบัญญัตินั้นมีลักษณะใหญ่ๆ ๒ ประการ คือ

  1. พุทธบัญญัติ คือ ข้อที่พระองค์บัญญัติไว้ห้ามมิให้ประพฤติ ถ้าภิกษุรูปใดฝ่าฝืนพุทธบัญญัตินี้ จะมีโทษปรับอาบัติตั้งแต่เบาๆ จนถึงมีโทษหนักที่สุด คือ ขาดจากความเป็นภิกษุ
  2. อภิสมาจาร คือ ข้อปฏิบัติหรือขนมธรรมเนียมที่พระสงฆ์จะต้องประพฤติตาม เพื่อให้มีอาจาระเป็นที่น่าเลื่อมใสแก่ผู้พบเห็น เช่น การตัดผม การตัดเล็บ การอาบน้ำ การนุ่งห่ม การยืน การเดิน การนั่ง การนอน การฉันขบเคี้ยว เป็นต้น ซึ่งพระวินัยในส่วนนี้ไม่มีการปรับอาบัติไว้โดยตรง แต่หากสงฆ์ไม่เอื้อเฟื้อตามวิธีปฏิบัตินี้ ก็ปรับโทษเพียงอาบัติเบาๆ คือทุกกฏเท่านั้น

โดยพระวินัยทั้งสิ้นที่บัญญัติรับเป็นข้อปฏิบัติของสงฆ์ โดยพระวินัยนั้นได้ถูกจัดหมวดหมู่แบ่งออกเป็น

  • ปราชิก ๔
  • สังฆาทิเสส ๑๓
  • อนิยต ๒
  • นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๓๐
  • ปาจิตตีย์ ๙๒
  • ปาฏิเทสนียะ ๔
  • เสขิยวัตร ๗๕
  • อธิกรณสมถะ ๗

รวมทั้งสิ้นจำนวน ๒๒๗ ข้อ ซึ่งก็คือศีลสำหรับพระภิกษุสงฆ์ จำนวน ๒๒๗ ข้อการที่ภิกษุสงฆ์กระทำพลาดพลั้งผิดพระวินัย เรียกว่า อาบัติ ซึ่ง อาบัติ หมายถึง การต้องโทษทาง พระวินัย เพราะทำความผิดต่อพระพุทธบัญญัติ หรืออภิสมาจารที่พระพุทธเจ้าบัญญัติ ห้ามมิให้ประพฤติ ผู้ฝ่าฝืนต้องมีโทษตามที่กำหนดไว้ในพระวินัยแต่ละสิกขาบท ซึ่งมีการกำหนดโทษไว้ลดหลั่นกันไปจาก

  • โทษหรืออาบัติที่หนักที่สุดคือขาดจากความเป็นภิกษได้แก่ ปราชิก๔
  • โทษอย่างกลางต้องอยู่กรรมประพฤติมานัตจึงจะพ้นได้ ได้แก่สังฆาทิเสส ๑๓
  • โทษอย่างเบาต้องประจานตนเองต่อหน้าภิกษุอื่นหรือคือการปลงอาบัติจึงจะพ้นได้ ซึ่งการลงโทษในทางพระวินัยไม่มีความยุ่งยาก ไม่ต้องสอบสวนหาผู้กระทำความผิด ยกเว้นอาบัติปาราชิกและอาบัติสังฆาทิเสส เช่นการลักทรัพย์ที่เจ้าของมิได้ให้ เป็นต้น

เมื่อสงฆ์กระทำผิดพระวินัยในแต่ละหมวดหมู่ ก็จะมีโทษให้กระทำคืนตามพระวินัยบัญญัติไว้
การอยู่ปริวาสกรรมสำหรับพระภิกษุสงฆ์ จึงจำเป็นให้ประพฤติปริวาสตามเงื่อนไขทางพระวินัย และ เงื่อนไขของสงฆ์ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า“การประพฤติวุฏฐานวิธี”

 
   

“การประพฤติวุฏฐานวิธี”
วุฏฐานวิธี คือ กฎระเบียบเป็นเครื่องออกจากอาบัติ หมายถึง ระเบียบวิธีปฏิบัติสำหรับภิกษุเพื่อออกจากครุกาบัติ มีทั้งหมด ๔ ขั้นตอน คือ

ขั้นตอนการประพฤติวุฎฐานวิธ แบ่งเป็น ๔ ขั้นตอนใหญ่ๆ ดังนี้

  1. ปริวาส หรือ การอยู่ประพฤติปริวาส หรือ อยู่กรรม (โดยสงฆ์เห็นชอบที่ ๓ ราตรี)
  2. มานัต การอยู่ประพฤติมานัต ๖ ราตรี หรือนับราตรี ๖ ราตรีแล้วสงฆ์สวดระงับอาบัติ
  3. อัพภาน หรือ การเรียกเข้าหมู่ โดยพระสงฆ์  ๒๐  รูป สวดให้อัพภาน
  4. ปฏิกัสสนา ประพฤติมูลายปฏิกัสสนา (ถ้าต้องอันตราบัติในระหว่างหรือการชักเข้าหาอาบัติเดิม)

ทั้ง  ๔  ขั้นตอนนี้รวมกันเข้าเรียกว่า “การประพฤติวุฎฐานวิธี” แปลว่า ระเบียบหรือขั้นตอนปฏิบัติตนเพื่อออกจากอาบัติ

   

การประพฤติวุฏฐานวิธีประกอบด้วยสงฆ์ ๒ ฝ่าย 
ขั้นตอนการประพฤติวุฎฐานวิธีนั้น จะต้องประกอบด้วยสงฆ์ที่ทำสังฆกรรม คือ ประกอบด้วยคณะสงฆ์ ๒ ฝ่าย

  • พระภิกษุผู้ประพฤติปริวาส หรือ ภิกษุผู้อยู่กรรม หรือ พระลูกกรรม คือสงฆ์ที่ต้องอาบัติ แล้วประสงค์ที่จะออกจากอาบัตินั้น จึงไปขอปริวาสเพื่อประพฤติวุฏฐานวิธี ตามขั้นตอนที่พระวินัยกำหนด
  • พระปกตัตตะภิกษุ (ปะ-กะ-ตัด-ตะ)หรือคณะสงฆ์พระอาจารย์กรรม(หรือพระพี่เลี้ยง) ซึ่งเป็นสงฆ์ฝ่ายที่พระวินัยกำหนดให้เป็นผู้ควบคุมดูแลความประพฤติของสงฆ์ฝ่ายแรก ผู้ขอปริวาสซึ่งสงฆ์ที่ทำหน้าที่ควบคุมดูแลอนุเคราะห์เกื้อกูลนี้ ทำหน้าที่เป็น พระปกตัตตะภิกษุ หรือ ภิกษุโดยปกติพระภิกษุผู้มีศีลไม่ด่างพร้อย
 

 

ระเบียบขั้นตอนการประพฤติวุฒฐานวิธี
 

 

๒.ความหมายของปริวาส
ประเภทของปริวาสกรรม
ปริวาสสำหรับสงฆ์-คฤหัสถ์
ขั้นตอนการประพฤติวุฒฐานวิธี

อ่านต่อ >>

๓.ประเภทของปริวาส
อัปปฏิฉันนปริวาส
ปฏิฉันนปริวาส
สโมธานปริวาส
สุทธันตปริวาส
 
อ่านต่อ >>
 
   
 
 
 
   
๔.เงื่อนไขของปริวาส
รัตติเฉท-วตตเภท
สหวาโส-วิปวาโส
อนาโรจนา
อ่านต่อ >>
๕.วัตร..บอกวัดร-เก็บวัตร
การสมาทานวัตร
การบอกวัตร
การเก็บวัตร
อ่านต่อ >>
 
   
 
   
 
 
๖.ขึ้นมานัต
สหวาโส -วิปปวาโส
อนาโรจนา-อูเน คเณ จรณํ
การขอหมู่-สวดหมู่
การขอหมู่-สวดเดี่ยว
การขอเดี่ยว-สวดเดี่ยว

อ่านต่อ>>
๗.คำขอปริวาสกรรม
คำขอสุทธันตะอย่างจุลสุทธันตะ
กรรมวาจาให้สุทธันตปริวาส

คำสมาทานปริวาส
คำบอกสุทธันตปริวาส
การเก็บปริวาส
อ่านต่อ >>
 
   
 
 
 
   
๘.การขอมานัต
คำขอสุทธันตขอมานัต
กรรมวาจาให้มานัต
คำสมาทานมานัต
คำบอกมานัต
คำเก็บมานัต

อ่านต่อ >>
๙.การขออัพภาน
คำขออัพภาน
กรรมวาจาให้อัพภาน

อ่านต่อ>>
 
   

 
 

ภาพกิจกรรมภายในวัด
หลวงพ่อถวิล จนฺทสโร เมตตานำพระภิกษุสงฆ์ รับบิณฑบาตจากอุบาสก-อุบาสิกา ทุกเช้าภายในวัด เวลา ๐๗.๕๐ น.
อ่านต่อ>>

ภัตตาหาร-น้ำปานะบริการ..ฟรี
มีภัตตาหารถวายพระ
และบริการญาติธรรม
ตลอดงานปฏิบัติธรรม
อ่านต่อ>>
 
   
 
 
 
   

แทนปักกลด ๒๐๐ แท่น
มีแท่นปูนสำหรับให้พระภิกษุสงฆ์ปักกลด
เพื่อป้องกันน้ำฝนไหลเข้าเต้นท์ที่พัก
อ่านต่อ>>

อาคารที่พักญาติธรรม
มีอาคารที่พักของญาติธรรม ที่ไปร่วมปฏิบัติธรรมแยกต่างหากเป็นสัดส่วน
ห้องน้ำ-ห้องสุขา

มีห้องน้ำ-ห้องสุขาภายในวัดประมาณ ๑๐๐ ห้อง สะอาด สดวก ปลอดภัย อ่านต่อ>>
 
   
 
ชมภาพการปฏิบัติธรรม  
 












         
วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ
ศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติ ประจำจังหวัดเชียงราย
ศูนย์พัฒนาคุณธรรม-จริยธรรมประจำจังหวัดเชียงราย
๓๙๕ หมู่ ๑๑ ตำบลธารทอง อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ๕๗๒๕๐
โทรศัพท์ (๐๕๓)๑๘๔ ๓๒๕ โทรสาร (๐๕๓)๑๘๔ ๓๒๕

website : www.watthumpra.com
email : watthumprachiangrai@gmail.com