: : ยินดีต้อนรับเข้าสู่สถานปฏิบัติธรรม กับธรรมชาติที่สัปปายะ สงบ สะอาด ป่าไม้ ถ้ำ และภูเขา บนเนื้อที่ ๘๐ ไร่ ..วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ อ.พาน จ.เชียงราย โทร.053 184 325
 

สังเขปประวัติ
พระครูจันทนิภากร
(หลวงพ่อถวิล จนฺทสโร)
ประธานสงฆ์-เจ้าอาวาส
วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ

พระครูจันทนิภากร (หลวงพ่อถวิล จนฺทสโร, ถวิล จันทะสะโร)
บรรพชา: 
วันอาทิตย์ที่ ๑ เมษายน ๒๕๐๙  
ณ วัดมหาธาตุ ต.ในเมือง อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์
อุปสมบท:
วันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๒๖

ณ วัดหนองโตนด ต.พงตึก อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี
นาม พระถวิล จนฺทสโร
ฉายา..จนฺทสโร แปลว่า “ผู้นำแสงสว่างมาสู่โลก”

หน้าที่ทางสงฆ์:
๐ เป็น พระอุปัชฌาย์
๐ เจ้าคณะตำบลธารทอง
๐ เจ้าอาวาส-ประธานสงฆ์ วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ
๐ พระวิปัสสนาจารย์และเผยแผ่ธรรม

ผลงานดีเด่นและเกียรติคุณของหลวงพ่อถวิล จนฺทสโร

  1. พ.ศ. ๒๕๔๒ "หลวงพ่อถวิล จนฺทสโร” ได้เป็นผู้นำและเผยแผ่ธรรมแด่หมู่สงฆ์และสาธุชน ทำให้วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ ได้รับการแต่งตั้งเป็น ศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติ ประจำจังหวัดเชียงราย แห่งที่ ๕ เนื่องในมหามงคลวโรกาสที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช เจริญมายุครบ ๖ รอง ทรงครองราชย์ครบ ๖๐ ปี
  2. พ.ศ. ๒๕๔๗ "หลวงพ่อถวิล จนฺทสโร” ได้รับรางวัลดีเด่น “เสาเสมาธรรมจักร” ในด้านส่งเสริมการปฏิบัติธรรมแก่มหาชนโดยทั่วไป และใบประกาศเกียรติคุณนักเผยแผ่ธรรม สาขาปฏิบัติธรรม จาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง เนื่องในวันวิสาขบูชา ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๔๗
  3. พ.ศ. ๒๕๔๗ "หลวงพ่อถวิล จนฺทสโร” ได้รับเกียรติบัตรยกย่องเชิดชูเกียรติในด้าน“ผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา”จาก สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก โดยศูนย์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
  4. พ.ศ. ๒๕๕๑ "หลวงพ่อถวิล จนฺทสโร”ได้รับพระราชทานแต่งตั้งสมณศักดิ์ สัญญาบัตร-พัดยศ ที่ "พระครูจันทนิภากร"เจ้าอาวาสวัดราษฏร์ชั้นโทเนื่องในวโรกาส เฉลิมพระชนมพรรษาในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ๕ ธันวาคม ๒๕๕๑
  5. พ.ศ. ๒๕๕๔ "พระครูจันทนิภากร"(หลวงพ่อถวิล จนฺทสโร) ได้เป็นผู้นำและเผยแผ่ธรรมแด่หมู่สงฆ์และสาธุชน ทำให้วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ ได้รับการประกาศเกียรติคุณรางวัล สำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดดีเด่น เฉลิมพระเกียรติ ๘๔ พรรษา พุทธศักราช ๒๕๕๔
  6. พ.ศ. ๒๕๕๔ "พระครูจันทนิภากร"(หลวงพ่อถวิล จนฺทสโร) ได้เป็นผู้นำและเผยแผ่ธรรมแด่หมู่สงฆ์และสาธุชน ทำให้วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ ได้รับการประกาศเกียรติคุณ ๑ ใน ๔๕ วัดดีเด่นทั่วประเทศ เป็น "สำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดดีเด่น ๔๕ สำนัก พุทธศักราช ๒๕๕๔ ในวาระครบ ๒๖๐๐ ปีพุทธชยันตี จากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ โดยสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เป็นประธานมอบเกียรติบัตร
  7. พ.ศ. ๒๕๕๔ "พระครูจันทนิภากร"(หลวงพ่อถวิล จนฺทสโร) ได้เป็นผู้นำและเผยแผ่ธรรมแด่หมู่สงฆ์และสาธุชน ทำให้วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ ได้รับพระเมตตาทรงรับเป็น วัดในสังฆราชูปถัมภ์ ใน สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก
  8. พ.ศ. ๒๕๕๔ "พระครูจันทนิภากร"(หลวงพ่อถวิล จนฺทสโร) ได้เป็นผู้นำและเผยแผ่ธรรมแด่หมู่สงฆ์และสาธุชน ทำให้วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ ได้รับเชิดชูเกียรติให้วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญเป็น วัดในประวัติศาสตร์ ที่ให้การสนับสนุนโครงการฟื้นฟูศีลธรรมโลก จากโครงการฟื้นฟูศีลธรรมโลก โดยมีสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์เป็นประธานที่ปรึกษาโครงการ
  9. พ.ศ. ๒๕๕๘ "พระครูจันทนิภากร"(หลวงพ่อถวิล จนฺทสโร) ได้รับแต่งตั้ง เป็น พระอุปัชฌาย์ ทำหน้าที่บรรพชา-อุปสมบทกุลบุตรให้เป็นพระภิกษุสงฆ์ไว้ในพระพุทธศาสนา เมื่อ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘
  10. พ.ศ. ๒๕๕๘ "พระครูจันทนิภากร"(หลวงพ่อถวิล จนฺทสโร) ได้เป็นผู้นำและเผยแผ่ธรรมแด่หมู่สงฆ์และสาธุชน ทำให้วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ ได้รับการ แต่งตั้งเป็น วัดกลุ่มเป้าหมายจัดดำเนินการตามโครงการแผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง หมู่บ้านรักษาศีล ๕ ประจำปีงบประมาณ ๒๕๕๘
  11. พ.ศ. ๒๕๕๘ "พระครูจันทนิภากร"(หลวงพ่อถวิล จนฺทสโร) ได้รับแต่งตั้งเป็น เจ้าคณะตำบลธารทอง อ.พาน จ.เชียงราย
  12. พ.ศ. ๒๕๕๘ "พระครูจันทนิภากร"(หลวงพ่อถวิล จนฺทสโร) ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง พระวินยาธิการ ประจำอำเภอพาน
  13. พ.ศ. ๒๕๖๐ "พระครูจันทนิภากร"(หลวงพ่อถวิล จนฺทสโร) ได้เป็นผู้นำและเผยแผ่ธรรมแด่หมู่สงฆ์และสาธุชน ทำให้วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ ได้รับ รางวัล หน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล (อ.ป.ต.)ดีเด่น ๑๖ จังหวัด หนเหนือ คณะสงฆ์ภาค ๔ โดยรับมอบประกาศเกียรติคุณจากพระวิสุทธิวงศาจารย์ เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ ณ หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา จ.นครสวรรค์
  14. พ.ศ. ๒๕๖๐ "พระครูจันทนิภากร"(หลวงพ่อถวิล จนฺทสโร) ได้เป็นผู้นำและเผยแผ่ธรรมแด่หมู่สงฆ์และสาธุชน ทำให้วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ ได้รับ แต่งตั้งเป็น หน่วยอบรมประชาชนดีเด่นประจำตำบล อ.บ.ต.ธารทอง
  15. พ.ศ. ๒๕๖๔ "พระครูจันทนิภากร"(หลวงพ่อถวิล จนฺทสโร) ได้รับระกาศเกียรติคุณ“พระดีศรีเชียงราย”จากสมาคมคนดีศรีเชียงราย เมื่อวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๖๔

วัยเด็ก : ด.ช.ถวิล ปุ้มสีดา
หลวงพ่อถวิล จนฺทสโร หรือ พระครูจันทนิภากร ท่านได้เมตตาเล่าถึงชีวิตในวัยเด็กของท่านว่า ท่านถือกำเนิดมาในครอบครัวที่เป็นชาวนา ด้วยโยมบิดา-มารดาของท่านนั้นมีบุตรหลายคน คือ มีบุตรทั้งสิ้นจำนวน ๗ คน หลวงพ่อท่านเป็นบุตรคนโต ท่านถือกำเนิดที่บ้านโนนตะค้อ อำเภอพุทไธสง จังหวัดบุรีรัมย์
         
ในเวลาที่ท่านคลอดออกมาจากครรภ์มารดานั้น ท่านคลอดในวันพระขึ้น ๘ ค่ำ วันศุกร์ ปีมะเส็ง พุทธศักราช ๒๔๙๖ ท่านเป็นเด็กที่ค่อนข้างพิเศษคือท่านมีรกพันคอออกมาด้วยในขณะที่คลอดจากครรภ์มารดา ภายหลังจากที่คลอดได้ ๗ วัน ท่านก็ตัวเหลืองผอมแห้ง ด้วยเพราะท่านไม่ยอมทานนมหรืออาหารใดๆ ทั้งสิ้น จนโยมแม่ท่านคิดว่าบุตรชาย คือหลวงพ่อคงจะไม่รอดไปจนเติบใหญ่ หรือจะเลี้ยงให้โตไม่ได้ จึงได้นำความกังวลใจนี้ไปปรึกษากับหลวงตาที่วัด และผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้าน ซึ่งท่านเหล่านั้นก็ได้บอกกับโยมมารดาของท่านตามคติโบราณว่า ลูกคนนี้คงเป็นเด็กมีบุญ พ่อ-แม่ คงไม่สามารถที่จะเลี้ยงเด็กน้อยคนนี้ไว้ได้ จึงได้แนะนำโยมแม่ของท่านให้นำลูกคนนี้ซึ่งก็คือหลวงพ่อ ให้เอาไปฝากยกให้เป็นลูกพระตามความเชื่อแบบโบราณ เพื่อให้ลูกน้อยรอดจากภัยอันตราย ดังนั้นโยมมารดา จึงได้นำ ด.ช.ถวิล ไปทำพิธีตามความเชื่อโดยมอบถวายยกบุตรชาจให้เป็นลูกของพระที่หมู่บ้านเป็นพิธีกรรมที่เชื่อกันเช่นนั้น คือ นำท่านไปถวายฝากไว้ให้เป็นลูกของหลวงตาที่วัด ซึ่งหลวงตาก็ได้บอกว่าเด็กที่มีรกพันคอมาแต่เกิดนั้น ก็เหมือนกับมีผ้าสังฆาฏิของพระสงฆ์ติดตัวมาด้วย บิดา-มารดาเลี้ยงไว้ก็จะทำให้เด็กชายคนนี้อาจไม่รอดชีวิต อาจจะต้องถึงแก่ชีวิต คือ ตายลง นั่นจึงเป็นความเชื่อของคนไทยแต่โบราณมา

ภายหลังจากที่โยมแม่ท่านนำ ด.ช.ถวิล (หลวงพ่อถวิล จนฺทสโร)ไปถวายให้เป็นลูกของพระแล้วนั้น ด.ช.ถวิลก็เริ่มทานนม-อาหาร ได้ และก็เติบโตอ้วนท้วนขึ้นเร็ววันเร็วคืนจนกลับเป็นปกติ โยมแม่ของท่านจึงได้ยก ด.ช.ถวิล ให้คุณโยมป้าปุ่น ชำนิไกร ซึ่งเป็นพี่สาวของแม่นับแต่นั้น ด้วยโยมแม่ท่านนั้นคิดเห็นว่าคงจะเลี้ยงบุตรคนนี้ไม่ได้ เพราะเกรงว่าลูกจะเสียชีวิต ส่วนคุณโยมป้าปุ่นนั้น ท่านเป็นหญิงโสดไม่มีครอบครัวให้เป็นภาระ อีกประการหนึ่งนั้นโยมป้าของท่านนั้นก็เป็นผู้ที่ใจบุญ ทำทาน รักษาศีล ปฏิบัติธรรมตลอดชีวิต ท่านได้เมตตาอุปการะเลี้ยงดูเด็กชายถวิล ซึ่งเด็กชายถวิลท่านได้เติบโตมากับคุณโยมป้าปุ่น ชำนิไกร และท่านก็ถือเสมือนหนึ่งคุณโยมป้าปุ่นนี้เป็นบุพการีคือ เป็นมารดาอีกคนหนึ่งของท่าน คุณโยมป้าปุ่นมักจะพา ด.ช.ถวิล ไปวัดด้วยทุกวันพระ เพราะคุณโยมป้าปุ่นท่านเป็นผู้ที่เข้าวัดรักษาศีลทุกวันพระ จึงทำให้ ด.ช.ถวิล คุ้นเคยกับการไปวัดจนติดเป็นนิสัย และเมื่อถึงวัยที่จะต้องเล่าเรียน คุณโยมป้าปุ่นก็ให้เด็กชายถวิลท่านเริ่มเรียนหนังสือเมื่ออายุประมาณ ๗-๘ ขวบ ตามเกณฑ์ที่ต้องเล่าเรียนหนังสือในยุคสมัยนั้น จนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖

บรรพชาเป็นสามเณร:

บรรพชาเป็นสามเณร:
ขณะเมื่อท่านอายุประมาณ ๑๒ ขวบ โยมบิดา-มารดาของท่านจึงย้ายครอบครัวไปอยู่ที่จังหวัดกำแพงเพชร คุณโยมพ่อจึงนำท่านไปฝากบวชเป็นสามเณรกับหลวงพ่อบุญเลิศ ที่วัดหนองตะลุมพุก อำเภอไตรตรึง จังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งในสมัยนั้นการบรรพชาเป็นสามเณรก็ทำตามประเพณี ซึ่งไม่ได้มีใบสุทธิสามเณร เด็กชายถวิลท่านจึงได้บรรพชาเป็นสามเณรอีกครั้ง เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๐๙ ที่วัดมหาธาตุ ตำบลในเมือง อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ โดยมีพระครูพิชัยธรรมานุรักษ์ เป็นพระอุปัชฌาย์


ชีวิตในวัยที่เป็นสามเณรถวิลของหลวงพ่อท่านนั้น ท่านได้เมตตาเล่าว่า ชีวิตของการเป็นสามเณรในสมัยก่อนนั้น ครูบาอาจารย์ท่านจะเข้มงวดมาก สามเณรต้องตื่นนอนตั้งแต่ตี ๔ เพื่อสวดมนต์ทำวัตรเช้าและท่องหนังสือ โดยสามเณรทุกรูปที่อยู่ในวัดจะต้องท่องจำคำสวดมนต์ได้ทุกบท และที่วัดมหาธาตุแห่งนี้มีกฏระเบียบว่า พระภิกษุและสามเณรทุกรูปจะต้องเรียนนักธรรมตามลำดับไป เริ่มจากนักธรรมตรี นักธรรมโท นักธรรมเอก สามเณรถวิลเองท่านก็ต้องเรียนนักธรรมตรีด้วยเช่นกัน ท่านถูกบังคับให้ท่องหนังสือทุกวันไม่มีวันหยุด คือ สามเณรในวัดมหาธาตุที่บรรพชามาพร้อมท่านทุกรูปจะต้องท่องหนังสือให้ได้ ถ้าใครท่องไม่ได้จะถูกลงโทษด้วยการตีด้วยไม้เรียว ท่านว่าครูบาอาจารย์สมัยก่อนนั้นท่านเข้มงวดมากกับพระภิกษุสงฆ์-สามเณรที่อยู่ในการปกครอง

หลวงพ่อถวิลท่านได้เมตตาเล่าว่าตื่นเช้าขึ้นมาในเวลาตีสี่ หลวงตาที่ทำหน้าที่ควบคุมดูแลสามเณร ท่านจะให้สามเณรนั่งประจำที่ของตนในศาลาที่ใช้ทำวัตร โดยศาลานั้นเป็นศาลากว้าง ในศาลาก็จะมีเสาศาลาหลายต้น แล้วให้สามเณรแต่ละรูปนั่งประจำที่ของตน ที่ของใครก็ให้นั่งที่ตรงนั้น ไม่ให้โยกย้ายไปไหน สามเณรแต่ละรูปก็จะนั่งประจำตรงเสาในศาลาที่เป็นที่ประจำของตนเอง ไม่ให้สามเณรนั่งใกล้กัน สามเณรหนึ่งรูปต่อเสาหนึ่งต้น เสาใครก็เสาของสามเณรรูปนั้น แล้วก็ให้ท่องหนังสือนวโกวาท เมื่อหลวงตาท่านถามคำถามในหนังสือที่ท่อง หากใครท่องจำไม่ได้ก็จะถูกลงโทษโดยการถูกตีด้วยไม้เรียว หลวงพ่อเองท่านเล่าว่าท่านท่องได้โดยไม่ต้องเปิดหนังสือดู ท่านสามารถท่องนวโกวาทนักธรรมชั้นตรีได้ตั้งแต่ยังเป็นสามเณร สามเณรถวิลท่านเป็นผู้มีสติปัญญาและความจำเป็นอย่างดียิ่ง รวมถึงความขยันหมั่นเพียรรักการอ่าน รักการเรียนรู้ ซึ่งนิสัยรักการอ่านของท่านนี้เป็นมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก แม้กระทั่งปัจจุบันท่านก็ยังคงเป็นนักอ่านหนังสือเกือบทุกชนิดที่เป็นประโยชน

ในปีนั้นท่านสามารถสอบนักธรรมชั้นตรีได้ ซึ่งท่านเมตตาเล่าอย่างเป็นที่ขบขันว่า ในปีนั้นมีพระภิกษุสงฆ์และสามเณรเข้าทำการสอบนักธรรมชั้นตรีที่วัดมหาธาตุ จังหวัดอุตรดิตถ์ จำนวนทั้งสิ้นประมาณ ๕๐ รูป แต่มีผู้ผ่านการสอบนักธรรมชั้นตรีได้เพียง ๑ รูป คือสามเณรถวิล ซึ่งเจ้าคณะอำเภอท่านก็แปลกใจเป็นอย่างยิ่ง จึงได้เรียกตัวสามเณรถวิลเข้าพบ ด้วยสงสัยว่าทำไมสามเณรถวิล ท่านถึงสอบได้ และในปีนั้นก็มีสามเณรถวิลเพียงรูปเดียวที่สอบผ่าน เมื่อท่านเจ้าคณะอำเภอเรียกท่านไปไต่ถาม สามเณรถวิลท่านก็กราบเรียนว่า ตัวท่านพยายามพากเพียรหมั่นท่องหนังสืออยู่เสมอมิได้ขาด เพื่อความไม่ประมาทในการสอบและการจำนวโกวาท เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่หลวงพ่อท่านเมตตาเล่าถึงชีวิตวัยเด็กทีไรท่านก็จะอดขำไม่ได้ทุกครั้ง

ชีวิตสามเณรถวิล :

 
 

สามเณรถวิล :
สามเณรถวิล..เมื่อท่านพำนักอยู่ที่วัดในจังหวัดกำแพงเพชรนั้น ท่านได้พบกับพระอาจารย์บุญเสริม ชาครธมฺโม
ซึ่งท่านเป็นพระธุดงค์ ท่านได้มีจิตเมตตาต่อสามเณรถวิลอย่างยิ่ง โดยพระอาจารย์บุญเสริม ชาครธมฺโม ท่านได้เมตตาชักชวนสามเณรถวิลให้ติดตามท่านออกธุดงค์ ด้วยความที่ยังเป็นเด็ก สามเณรถวิลจึงไม่คิดอะไรมาก เมื่อท่านชักชวนเช่นนั้นสามเณรถวิลจึงตัดสินใจทันทีที่จะติดตามพระอาจารย์บุญเสริม ชาครธมฺโม ออกจาริกเดินธุดงค์ไปตามป่า เขา ตามถ้ำ ผ่านห้วยหนอง คลองบึง ที่ลุ่มที่ดอน ทั้งแล้ง ทั้งฝน และเดินธุดงค์ไปยัง สถานที่อันสงบ ค่ำไหนนอนนั่น มีเพียงผ้าไตรจีวร บาตร และกลด เป็นสมบัติติดตัวไปเป็นเวลาหลายปี ท่านจาริกเดินธุดงค์ไปจนเกือบทั่วทุกสารทิศ จากภาคเหนือลงสู่ภาคใต้ ภาคกลาง ภาคอีสาน ท่านจาริกแสวงบุญไปเรื่อยๆ ไม่หยุดหย่อน สุดแท้แต่พระอาจารย์ท่านจะพาไปที่ไหน สามเณรท่านมีหน้าที่เพียงติดตามไปด้วยในทุกที่

นอกจากจะพาสามเณรถวิล ออกเดินธุดงค์เพื่อเรียนรู้ ศึกษาการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานแล้ว
พระอาจารย์บุญเสิรม ชาครธมฺโม ท่านยังได้มีจิตเมตตาต่อสามเณรถวิลเป็นอย่างมาก โดยพระอาจารย์บุญเสริม ท่านมีความรู้ความสามารถมากในด้านยาสมุนไพร และการรักษาคนเจ็บไข้ได้ป่วย ท่านจึงได้เมตตาถ่ายทอดวิชาการทางด้านการรักษาและเรื่องยาสมุนไพรต่างๆ ให้กับสามเณรถวิล ครั้งตั้งแต่ยังเป็นสามเณรเพื่อเป็นความรู้ที่อาจนำไปใช้ในเวลาธุดงค์เข้าป่าหากเจ็บไข้ได้อาพาธ ก็จะสามารถนำวิชาความรู้นี้ไปใช้ให้เป็นประโยชน์กับตนเองและเพื่อนร่วมทาง

กระทั่งในวันหนึ่งท่านได้แวะไปเยี่ยมบิดา-มารดา ท่านได้เห็นความเป็นอยู่ของบุพการีที่แสนลำบาก ท่านจึงได้กลับไปโปรดตอบแทนคุณบุพการีอยู่ระยะหนึ่ง โยมพ่อท่านเจ็บป่วยก็มีน้องสาวชื่อน้องยงค์ไปช่วยดูแลที่โรงพยาบาล ในบุรีรัมย์ กระทั่งโยมพ่อได้สิ้นชีวิตที่โรงพยาบาลนั้นน้องสาวจึงพาโยมพ่อกลับบ้าน ท่านและญาติพี่น้องจึงได้ร่วมกันจัดการงานฌาปนกิจศพของโยมพ่อจนเรียบร้อย อีกไม่นานโยมแม่ท่านป่วยหนัก ท่านก็ได้กลับไปเยี่ยมโดยมีน้องสาวคนเล็กชื่อแหวนพร้อมญาติไปช่วยดูแลที่โรงพยาบาลในจังหวัดบุรีรัมย์ กระทั่งในวันหนึ่งเวลาสี่โมงเย็นท่านได้ขอให้น้องคนเล็กอยู่เฝ้าโยมแม่ ท่านจะขอเวลาไปสรงน้ำก่อนแล้วจะกลับมาเยี่ยมอีกรอบ โยมแม่ก็ชวนท่านพูดคุยแล้วก็สั่งว่าอย่าไปไหนนะ แม่จะรีบไปงานทอดกฐิน เค้าจะมีงานทอดกฐินกันแล้ว น้องๆ ก็คิดว่าโยมแม่ของท่านเพ้อด้วยพิษไข้ พอท่านคล้อยหลังไม่ถึงห้านาทีขณะที่่ท่านหันหลังจะเดินออกจากห้องเยี่ยมเท่านั้นเอง โยมแม่ของท่านก็สิ้นใจลงในเวลาเพียงชั่วอึดใจนั้น ตัวท่านเองและญาติพี่น้องจึงทำการฌาปนกิจศพของโยมแม่ตามประเพณีจนเป็นที่เรียบร้อย นั่นจึงเป็นการสูญสิ้นโยมแม่ของท่านไปในปีนั้น

ในความลำบากของบุพการีนั้นหลวงพ่อท่านกล่าวถึงทีไรท่านก็คงเกิดความสะเทือนใจ ด้วยความรู้สึกเวทนาเป็นอย่างยิ่งเพราะภาคอีสานในอดีต ชาวบ้านส่วนมากจะมีอาชีพทำนาทำไร่ และก็เป็นภูมิภาคที่แห้งแล้ง กันดาร การทำอาชีพต่างๆ ก็ค่อนข้างลำบากจนท่านเองถึงกับเอ่ยว่า

"บางครั้งก็ต้องขอบพระคุณความลำบากที่เป็นครู.. เพราะทำให้ท่านได้เห็นทุกข์ของความเป็นอยู่ และการเกิดดับแห่งชีวิตนี้ เพราะถ้าไม่ใช่ด้วยความลำบาก ก็คงไม่ได้บรรพชา-อุปสมบท ดังที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ว่า

“เมื่อใดเห็นทุกข์..เมื่อนั้นจึงเห็นธรรม.. เมื่อใดเห็นธรรม..เมื่อนั้นจึงเห็นพระตถาคต"

ครูบาอาจารย์และพระอรหันต์จำนวนมากก็ล้วนแล้วแต่เกิดมาในครอบครัวที่ยากจนแทบทั้งสิ้น หากเราทั้งหลายจะศึกษาดูจาก อัตชีวประวัติของครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบในอดีตที่ผ่านมาและอีกไม่น้อยในปัจจุบัน แต่ทั้งนี้ก็ใช่ว่าจะเป็นด้วยวิบากกรรมหรืออะไรก็คงจะสรุปเช่นนั้นไม่ได้ ซึ่งหากเกิดมาสุขสบายเกินไป ก็คงไม่มีท่านใดที่อยากอุปสมบทหรือบวชเป็นพระภิกษุให้เกิดความลำบาก เพราะทุกคนย่อมรักความสบายด้วยกันแทบทั้งสิ้น ส่วนหนึ่งก็คงจะเป็นด้วยกรรมดีที่อุปถัมภ์ให้มีชะตาชีวิตเช่นนี้จึงได้เป็นเช่นนี้  คือเป็นพระภิกษุที่มุ่งเพื่อการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเพื่อเป็นที่พึ่งของชาวบ้านและสาธุชน
 

อุปสมบทเป็นสมณะ:

ชีวิตสมณะ: พระถวิล จนฺทสโร
สามเณรถวิล ขณะนั้นท่านมีอายุเกินวัยอุปสมบทแต่ท่านก็ยังไม่ได้รับการอุปสมบทเป็นพระภิกษุสงฆ์ เมื่อสิ้นบุพการีแล้วท่านจึงได้รับการอุปสมบทที่จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๒๖ ที่วัดหนองโตนด ตำบลพงตึก อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี ได้รับฉายา พระถวิล จนฺทสโร โดยมีพระครูจริยาภิรัติ เป็นพระอุปัชฌาย์ มีพระอธิการสุรินทร์ กิตติธโร เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระครูปลัดคุณวัฒน์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ เมื่ออุปสมบทแล้วพระถวิลท่านก็ได้ศึกษาพระธรรมวินัย ฝึกปฏิบัติสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐานสืบต่อไปอย่างอุกฤษฏ์นับแต่ท่านรับการบรรพชา-อุปสมบท เป็นพระภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนา โดยได้จำพรรษา ณ วัดหนองโตนด ตำบลพงตึก อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี ในเวลานั้น

ที่วัดหนองโตนด พระถวิลท่านเรียนนักธรรมชั้นตรี-โท-เอก ตามกำหนดของมหาเถระสมาคม ท่านรับหน้าที่เป็น
พระกรรมวาจาจารย์ ซึ่งเป็นตำแหน่งคู่สวด

  • เป็นพระครูสอนพระปริยัติธรรมซึ่งทำหน้าที่สอนนักธรรม
  • เป็นพระธรรมทูตประจำจังหวัดกาญจนบุรี
  • เป็นพระครูผู้ตรวจข้อสอบธรรมสนามหลวง
  • เป็นพระนวกะประจำจังหวัดกาญจนบุรี
  • เป็นพระวิทยากรชมรมพุทธรักษาพระพุทธศาสนา
  • เป็นพระวิปัสสนาจารย์ซึ่งเป็นครูสอนวิปัสสนากรรมฐานและยังได้ทำหน้าที่
  • เป็นครูสอนพระปริยัติธรรม โดยท่านได้ศึกษาพระอภิธรรม ณ จิตตภาวันวิทยาลัย  อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ซึ่งสอนโดยพระอาจารย์จากสำนักวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ และยังได้อบรมเรียนหลักสูตรครูสอนศีลธรรมและหลักสูตรการพูดจาก มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ ได้รับประกาศนียบัตรครู หลักสูตรการฝึกพูดและครูผู้สอนศีลธรรม ท่านจึงได้
  • เป็นครูผู้สอนศีลธรรมให้กับนักศึกษา กศน.
   

พระถวิล จนฺทสโร ขณะที่ได้พำนักจำพรรษาอยู่ที่วัดหนองโตนดแห่งนี้ประมาณปีพุทธศักราช ๒๕๒๗ ท่านเจ้าอาวาสวัดหนองโตนดแห่งนี้ได้ถึงแก่กาลมรณภาพลง พระถวิล จนฺทสโร จึงได้รับนิมนต์ให้รักษาการแทนตำแหน่งเจ้าอาวาสที่ว่างลง ต่อมาได้รับนิมนต์ให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส วัดหนองโตนด ตำบลพงตึก อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรีในปีต่อๆ มา

พระถวิล จนฺทสโร ท่านได้ฉุกคิดและเบื่อหน่ายต่อการที่จะต้องรับภาระธุระของการเป็นเจ้าอาวาส และภารกิจต่างๆ ท่านคิดว่า ท่านบวชมาเพื่อสิ่งใด ท่านต้องการอะไรกันแน่ ในทุกวันนั้นท่านรับตำแหน่งเจ้าอาวาส เช้าขึ้นมาสาธุชนบ้านนั้นก็นิมนต์ไปทำกิจ สายก็ถูกนิมนต์ไปอีกบ้าน บ่าย-เย็น ถูกนิมนต์ไปอีกงาน แต่ละวันนั้นไม่อาจจะละเว้นได้ซึ่งภาระต่างๆ ของผู้คนในทางโลก ไม่เคยได้หยุดพัก ไม่ได้รับความสงบเท่าที่ควรเลย การบวชเป็นพระภิกษุของท่านเห็นทีจะเสียเวลาเปล่า ถึงแม้จะบวชมาตั้งแต่ยังเป็นสามเณร จนที่สุดละสังขารแก่ตายไป จะหาประโยชน์ใส่ตนเองได้มากน้อยแค่ไหน เรื่องของโลกก็เป็นเพียงแค่เรื่องของโลก มันก็เป็นของมันอยู่อย่างนี้มิเปลี่ยนแปลง  นั่นเป็นสาเหตุให้ท่านเกิดความเบื่อหน่าย และต้องการแสวงหาการปฏิบัติธรรม

จาริกธุดงค์ :

ชีวิตการจาริกธุดงค์ : พระถวิล จนฺทสโร
เมื่อคิดเบื่อหน่ายถึงเพียงนั้นท่านจึงได้สละตำแหน่งพระอธิการ ซึ่งเป็นตำแหน่งเจ้าอาวาสวัด ท่านเก็บกลด เก็บบาตร ไตรจีวรติดตัว มอบหมายทุกสิ่งของวัดให้กับท่านต่อไปที่จะต้องดูแลวัด แล้วจึงตัดสินใจออกธุดงค์จาริกแสวงบุญ เพื่อไปปฏิบัติธรรมตามสถานที่ต่างๆ ตามป่าช้าบ้าง ในป่าบ้าง ในถ้ำบ้าง เริ่มจากทางภาคกลาง โดยเฉพาะจังหวัดกาญจนบุรี ภาคใต้ ภาคเหนือ และภาคอีสาน ท่านจาริกแสวงบุญไปเรื่อยๆ ตามเหตุตามปัจจัย

ในเวลานั้นท่านยังเป็นพระภิกษุหนุ่มที่ยังมีร่างกายแข็งแรง การจาริกธุดงค์ไปที่แห่งไหนก็ยังไม่มีปัญหาเรื่องของสุขภาพแต่ประการใด ในโอกาสนั้นท่านได้จาริกแสวงบุญไปแทบทุกภาคทั่วประเทศ โดยท่านเริ่มจากภาคกลาง ไปพำนักตามป่าเขาต่างๆ ค่ำไหนนอนนั่น ท่านออกจากจังหวัดกาญจนบุรี มุ่งหน้าเข้าสู่ทุ่งใหญ่นเรศวร จังหวัดอุทัยธานี เมื่อพักอยู่จนพอประมาณท่านก็มุ่งสู่ป่าภูเขาจังหวัดตาก หยุดพักรายวันไปเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด แล้วมุ่งเข้าสู่จังหวัดกำแพงเพชร จนที่สุดท่านจาริกเข้าสู่จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งในสมัยก่อนนั้นพื้นที่แต่ละจังหวัดยังไม่มีความเจริญดังปัจจุบัน


ในบางวันก็ได้ฉันภัตตาหาร บางวันก็ไม่ได้ฉันภัตตาหาร มีเพียงน้ำเปล่าที่พระธุดงค์ท่านใช้ ธมกรก(ทำมะกะรก) หรือที่กรองน้ำ ใช้กรองน้ำฉันหรือต้มน้ำร้อนฉันเพื่อความปลอดภัย บางครั้งต้องอาศัยผลไม้ หน่อไม้ ที่อยู่ในป่าดงดิบเหล่านั้น อย่างกล้วยป่าทั้งสุกทั้งดิบที่ฉันได้เพียงเพื่อยังชีพอยู่ หากวันไหนโชคดีก็จะมีชาวบ้านมาถวายภัตตาหารให้ ซึ่งก็ไม่พ้นส้มตำ ตำส้ม ส้มตำและตำส้ม หรือตำมะละกอ ท่านมักจะเทศนาสู่พระภิกษุสงฆ์ที่มาปฏิบัติธรรมที่วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญให้ทราบ เพื่อให้กำลังใจในยามที่พระภิกษุปัจจุบันที่ยังหนุ่มแข็งแรง และปรารถนาจะออกจาริกธุดงค์เพื่อแสวงหาโมกขธรรม เพื่อเป็นแนวทางว่าเมื่อตัดสินใจที่จะออกจาริกธุดงค์สู่ป่าเขานั้นจะได้พบเจออะไรบ้าง ควรเตรียมตัวเตรียมใจอย่างไรบ้าง

พิษณุโลก ท่านจาริกธุดงค์สู่จังหวัดพิษณุโลกและได้ไปพักปักกลดอยู่ที่ ป่าช้าผีดิบบ้านคลองเตย อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก ท่านยังกล่าวอย่างเป็นที่ขบขันว่า ที่เรียกว่าอำเภอบางระกำนี้ ช่างระกำสมชื่ออำเภอจริงๆ เพราะมันมีแต่ความแห้งแล้งกันดารเป็นอย่างยิ่ง ท่านไปพักอาศัยปักกลดที่ป่าช้าผีดิบบ้านคลองเตย ที่เรียกว่าป่าช้าผีดิบนั้น เพราะในสมัยนั้นเมื่อมีคนตายชาวบ้านจะเอาศพไปฝังโดยไม่มีการเผาเหมือนชาวบ้านที่อื่นๆ จึงเรียกป่าช้าแห่งนั้นว่า ..ป่าช้าผีดิบ คือซากศพยังดิบๆ อยู่ก็ถูกฝังโดยไม่ต้องมีการเผาเหมือนที่อื่นๆ

 
     

ชาวบ้านที่อาศัยอยู่หมู่บ้านใกล้เคียง ซึ่งส่วนมากจะเป็นคนทางภาคอีสานมาอาศัยอยู่ ก็จะนำภัตตาหารไปถวายเพล ซึ่งทุกวันก็ไม่พ้นต้องฉันส้มตำ ตำส้มและส้มตำคือตำมะละกอ เป็นอาหารประจำของคนในละแวกนั้น บางวันโชคดีของพระธุดงค์ก็อาจจะได้ฉันไข่ต้มบ้างแต่ก็ใช่จะมีบ่อย ด้วยชาวบ้านก็ล้วนเป็นชาวนาชาวไร่ที่ยากจน หาเช้าทานค่ำพอประทังชีวิต ชาวบ้านเมื่อเห็นพระธุดงค์ไปปักกลดอยู่ในป่าช้านั้นก็จะดีใจ มีความเลื่อมใสพระธุดงค์เป็นอย่างยิ่ง ท่านได้เมตตาเล่าว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่จะมีความหวังว่าเมื่อได้พบพระธุดงค์ก็จะขอโชคขอลาภ ซึ่งก็ไม่พ้นขอน้ำมนต์ ขอสายสิญจน์ ขอเรื่องเลขเล่นหวย เลขเสี่ยงทาย ซึ่งหลวงพ่อท่านก็ไม่เคยให้ใครเพราะท่านว่าท่านไม่รู้เรื่องเลขหวย และที่ป่าช้าผีดิบบ้านคลองเตย อำเภอบางระกำนั้นก็สุดแสนจะระกำสมชื่อจริงๆ ท่านว่าเวลากลางวันก็ดูทุกอย่างปกติดี แต่พอเริ่มเย็นย่ำค่ำสนธยาเท่านั้น ก็จะมี ยุง ยุง ยุง ซึ่งก็ไม่รู้ว่ายุงมาจากไหน บินมาจับมุ้งกลดเยอะมากจนดำมืดไปหมด จะออกจากกลดไปไหนไม่ได้ เพราะยุงชุมมาก ในที่สุดก็ต้องนั่งสวดมนต์เจริญสติอยู่แต่ในกลดที่กางคลุมไว้เท่านั้น ท่านว่าก็เป็นสิ่งที่ดีเพราะทำให้ทำความเพียรได้ตลอดคืน ไปไหนไม่ได้ สวดมนต์เสร็จก็นั่งเจริญสติยาวนานจนกว่าจะง่วงนอนก็หลับไปพักหนึ่ง ตื่นขึ้นมาก็ทำต่ออีกโดยไม่ได้ออกไปไหน เมื่ออยู่ที่ป่าช้าผีดิบบ้านคลองเตย จนได้เวลาพอสมควรท่านก็เก็บกลดและบาตรจาริกธุดงค์มุ่งสู่จังหวัดตาก ไปพักปักกลดปฏิบัติอยู่ในป่าภูเขาจังหวัดตาก

แสวงหาครูบาอาจารย์

 
     
ศึกษาหลักการปฏิบัติธรรม
เมื่อออกจากป่าดงดิบจังหวัดตาก ท่านก็เดินทางย้อนกลับสู่ภาคกลางอีกครั้ง ครั้งนี้พระถวิล จนฺทสโร ท่านได้เดินทางมุ่งหน้าเข้าสู่ กรุงเทพมหานคร เพื่อไปศึกษาและปฏิบัติธรรมกับ พระธรรมธีรราชมหามุนี(โชดก) พระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาธุระ วัดมหาธาตุรังสฤกษ์ ท่าพระจันทร์ กรุงเทพฯ เมื่อศึกษาวิธีการปฏิบัติธรรมต่างๆ ได้รับความรู้ทางด้านการปฏิบัติจนเป็นที่พอใจแล้ว ท่านจึงเดินทางไปศึกษาเรียนรู้กับหลวงพ่อประเดิม โกมโล หรือ พระครูสังวรสมาธิวัตร ที่ วัดเพลงวิปัสสนา เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร

วัดเพลงวิปัสสนาแห่งนี้ หลวงพ่อประเดิม โกมโล ท่านได้เมตตานำพระภิกษุสงฆ์ที่ฝึกกรรมฐานกับท่านไปพิจารณาซากศพ ที่อาคารกายวิภาคศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช ในตึกกายวิภาคนี้จะเป็นอาคารที่มีห้องเก็บศพอยู่ ซึ่งที่ห้องเก็บศพนี้จะเป็นที่นักศึกษาแพทย์ทุกรุ่นจะเป็นผู้ที่ทำการศึกษาเรื่องสรีระกายของศพทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้หญิง ผู้ชาย ที่นักศึกษาแพทย์เรียกศพเหล่านั้นว่า อาจารย์ใหญ่ ซึ่งในอาคารกายวิภาคนี้อาจารย์หมอก็เป็นผู้นำพระภิกษุสงฆ์เข้าไปดูการทำงาน การผ่าศพของนักศึกษาแพทย์ การผ่าศพนั้นเค้าก็จะให้ดูศพที่ถูกผ่าให้เห็นตับ ไต ไส้ กระเพาะ คืออวัยวะต่างๆ ในร่างกายของคนเราทั้งหมดที่เค้าจะให้ดูได้ ซึ่งหลวงพ่อถวิลท่านแสดงธรรมให้พระภิกษุสงฆ์ทราบว่า

เมื่อเห็นศพที่ถูกผ่าอวัยวะต่างๆ น้ำเลือดน้ำหนอง สิ่งต่างๆ ที่เห็นนั้นก็จะเกิดความรู้สึกว่า ชีวิตนี้มันหมดแค่นี้แหล่ะ มันไม่มีอะไรเลย ความรู้สึกปรุงแต่งต่างๆ มันหดหายไปจนหมดสิ้น มันเกิดเวทนาอย่างแรงกล้า

เมื่อท่านได้ศึกษาการปฏิบัติหลักธรรมวิปัสสนากรรมฐานและสมถกรรมฐานเป็นเวลาพอสมควรแล้ว ต่อจากนั้นท่านจึงจาริกธุดงค์ออกจากกรุงเทพมหานคร เดินทางไปพักปฏิบัติกับพระธรรมสิงหบุราจารย์ (หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม) วัดอัมพวัน จ.สิงห์บุรี ซึ่งหลวงพ่อจรัญท่านมีจิตเมตตาต่อพระถวิลเป็นอย่างยิ่ง โดยหลวงพ่อจรัญท่านได้มอบของใช้ส่วนตัวของท่าน เช่น ธมกรก(ทำมะกะรก) หรือที่กรองน้ำ ให้พระถวิลไว้ใช้กรองน้ำฉันหรือต้มน้ำร้อนเมื่อต้องจาริกธุดงค์เข้าป่า ซึ่งพระถวิล ได้เก็บรักษาธมกรกของหลวงพ่อจรัญท่านไว้ จนกระทั่งปัจจุบันนี้ก็ยังถูกเก็บรักษาไว้ที่วัดถ้ำพระบำเพ็ญบูญ ซึ่งในเรื่องนี้ไม่มีท่านใดทราบมาก่อน หลวงพ่อถวิลเองท่านก็ไม่ได้บอกกล่าวให้ใครทราบ เพราะไม่อยากให้ใครนำมาเป็นข้อตำหนิว่านำครูบาอาจารย์มาแอบอ้าง

เมื่อท่านพักปฏิบัติกับหลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม ได้ระยะหนึ่ง ท่านจึงกราบลาและออกจาริกธุดงค์สู่ป่า ในภูเขาภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสาน ได้ไปศึกษาและปฏิบัติธรรมกับ พระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภัทโท) แห่งวัดหนองป่าพง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ท่านได้ไปอยู่จำพรรษากับหลวงพ่อชา สุภัทโท ตลอดพรรษานั้น เมื่อออกพรรษาท่านก็กราบลาครูบาอาจารย์ แล้วออกเดินทางจาริกธุดงค์เข้าสู่ป่า ภูเขาในจังหวัดต่างๆ ทางภาคอีสาน ไปพำนักอยู่ตามป่าเขา ตามถ้ำต่าง ๆ ท่านได้เดินทางเข้าสู่อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา แล้วท่านก็จาริกเข้าสู่จังหวัดชัยภูมิ จนได้ระยะหนึ่งก็จาริกต่อไปจังหวัดเลย ที่จังหวัดเลยนี้ท่านได้จาริกแสวงบุญธุดงค์สู่เทือกเขาภูกระดึง

ภูกระดึง
ที่ภูกระดึงนี้ท่านจาริกธุดงค์มุ่งตรงขึ้นสู่ยอดเขาบนภูกระดึง ซึ่งสถานที่แห่งนี้ท่านเมตตาเล่าว่าท่านได้พบกับครูบาอาจารย์รูปหนึ่ง จะเป็นพระหรือก็ไม่เชิง จะเป็นฤาษีดาบสก็ไม่มีคำตอบ แม้จะพยายามสอบถามว่าท่านนามใด ชื่ออะไร ท่านก็ไม่ตอบอะไร ได้แต่มองหน้าแล้วก็นิ่งเสีย ไม่บอกนามว่าเป็นใคร การแต่งกายเครื่องนุ่งห่มของท่านก็สุดแสนจะมอซอเต็มที่ ท่านทำตัวเหมือนคนบ้าก็ไม่เชิง ในแต่ละวันท่านฉันแต่ยาต้ม รากไม้ต้ม หน่อไม้ต้ม อาหารอื่นๆ ท่านไม่ฉัน ท่านก็ฉันของท่านอยู่เช่นนี้ทุกวัน

พระถวิล จนฺทสโร เมื่อได้พบกับท่านผู้นี้ ก็ได้บอกกล่าวปวารณาว่า หากท่านจะใช้สอยให้ทำกิจอันใดที่พอจะช่วยทำให้ได้ก็ยินดีทำให้ ในวันหนึ่งท่านก็ขอให้ช่วยไปหาไม้ไผ่ และให้ช่วยทำเป็นที่นั่งแคร่ไม่ไผ่ เพื่อใช้เป็นที่่นั่งกรรมฐานให้ด้วย พระถวิลก็รับปากว่าจะทำให้ ก็ใช้เวลาหาไม้ไผ่แล้วก็ลงแรงทำที่นั่งกรรมฐานให้ตามที่ท่านขอ สำเร็จออกมาเป็นแคร่ไม้ไผ่สำหรับนั่งกรรมฐานดังประสงค์ เมื่อทำเสร็จแล้วก็ไปแจ้งท่านว่าได้ทำให้เสร็จแล้วตามที่ขอให้ทำ ท่านก็ตามไปดูแคร่นั่งกรรมฐานที่พระถวิลทำให้จนเสร็จสวยงามดี แต่แล้ว.. ท่านก็ใช้เท้ากระทืบที่นั่งแคร่ไม้ไผ่นั้นจนพังยับเยิน ซึ่งหลวงพ่อถวิลท่านก็ได้เล่าว่า ขณะนั้นเมื่อท่านกระทืบที่นั่งที่อุตส่าห์ทำให้นั้นพังไป ในใจก็แว๊บ..รู้สึกว่าโกรธ หรือไม่พอใจเหมือนกัน เมื่อใจแว๊บโกรธเท่านั้น ท่านผู้นั้นก็ทักว่า อ้าว..ไม่แน่จริงนิหว่า พังแค่นี้..ยังโกรธอยู่ ยังใช้ไม่ได้ ซึ่งก็ทำให้พระถวิลได้สติว่าเห็นจะจริงดังที่ท่านผู้นั้นกล่าวมา ท่านรู้ได้อย่างไร?

การฝึกปฏิบัติอยู่ ณ เทือกเขาภูกระดึงแห่งนี้ ได้พบเห็นผู้จาริกแสวงบุญที่แบกกลดสะพายบาตรไปแสวงหาความสงบ อย่างที่ก็ไม่คาดคิดว่ายังจะมีผู้ที่ปรารถนาความเพียรทางจิตเข้าป่าปฏิบัติกันถึงเพียงนี้ นี่ก็แสดงว่าผู้ต้องการความสงบและแสวงหาธรรมยังมีตามป่าเขาที่ห่างไกลผู้คนอีกเป็นจำนวนมาก ท่านยังได้พบแม้กระทั่งคุณโยมผู้หญิงที่บวชชีปฏิบัติอยู่ในถ้ำคนเดียวโดยไม่เกรงกลัวสิ่งใด จึงเป็นบุคคลที่น่ายกย่องอย่างยิ่ง ท่านว่าคุณโยมท่านนั้นท่านเขียนหนังสือติดไว้ว่า “ปิดวาจา” และก็ตั้งใจปฏิบัติธรรม นั่งสมาธิ เดินจงกรมตลอดเวลาเพียงลำพังคนเดียว แม้จะเป็นเพศหญิงก็ตาม ท่านก็ไม่ได้มีความกลัวเกรงสิ่งใดๆ อันเป็นความตั้งใจที่แน่วแน่เด็ดเดี่ยว ซึ่งหากกราบเรียนสอบถามความคิดเห็นหลวงพ่อท่านก็คาดว่าโยมผู้หญิงท่านนั้นคงจะเป็นคุณแม่ชี ที่ปฏิบัติชอบท่านหนึ่งในปัจจุบัน ซึ่งก็คงเป็นแม่ชีบงกช

เมื่ออยู่บนภูกระดึงได้เวลาพอสมควรท่านจึงตัดสินใจที่จะลงจากภูกระดึง เพื่อเดินทางจาริกไปยังที่อื่นต่อ เพราะที่ภูกระดึงนี้จะมีปัญหามากเรื่องภัตตาหารขบฉัน เนื่องจากในเวลานั้นบนภูกระดึงแห่งนี้เป็นพื้นที่สูงชันอยู่ในป่าห่างไกล หาผู้คนที่จะเดินทางไปเหมือนปัจจุบันนี้ก็ยากเต็มทน การเดินทางลำบากและห่างไกล ต้องเดินเท้าเป็นวันจึงจะเดินทางถึงยอดภู และเพราะมีร้านค้าขายอาหารอยู่เพียงแห่งเดียว ในทุกเช้าก็จะมีพระธุดงค์ออกมาจากถ้ำ จากราวป่าเพื่อมาภิกขาจาร คือออกมารับบิณฑบาตรและทุกรูปก็จะไปรับบิณฑบาตที่ร้านค้านี้ ท่านกล่าวอย่างเป็นที่นึกเวทนาว่า พระภิกษุร่วมสามสิบสี่สิบรูป นักบวชฤาษีอีก ก็น่าเห็นใจ ร้านค้าหุงข้าวเพื่อไว้ขาย แต่ทุกเช้า ก็จะมีนักบวชไปบิณฑบาตรทุกวัน แล้วเค้าจะทำยังไง เค้าทำธุรกิจ ถ้านำเอาอาหารไปใส่บาตพระทุกรูป วันนั้นก็ไม่ต้องขายกัน ถ้าเป็นอย่างนี้ทุกวัน ร้านค้าก็อยู่ไม่ได้เหมือนกัน และสินค้าอาหารต่างๆ ก็ไม่มีขายมากนักบนภูกระดึง เพราะเค้าก็ขนส่งของขึ้นไปขายด้วยความยากลำบาก ต้องจ้างเค้าแบกหามเดินขึ้นเป็นวันๆ ไม่ได้สะดวกสบายเหมือนปัจจุบันนี้

ก้าวสู่เส้นทาง "พระธรรมทายาท"

 
 
 
     

"พระธรรมทายาท"
ในที่สุดพระถวิล จนฺทสโร จึงตัดสินใจเดินทางจาริกธุดงค์ย้อนกลับเข้าสู่ภาคกลางอีกครั้ง ในครั้งนี้ท่านได้พบครูบาอาจารย์ คือ พระพรหมมังคลาจารย์ หรือ ท่านเจ้าคุณปัญญา นันทภิกขุ แห่งวัดชลประทานรังสฤกษ์ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี พระถวิล จนฺทสโรจึงได้เข้าไปพำนักอยู่ที่วัดชลประทานรังสฤกฏ์ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี และได้ปฏิบัติธรรมอยู่กับท่านเจ้าคุณ "พระธรรมโกศาจารย์" หรือ "ท่านปัญญานันทภิกขุ" แห่งวัดชลประทานรังสฤษฏ์ ท่านเจ้าคุณปัญญานันทภิกขุ จึงได้มอบหมายให้พระถวิล จนฺทสโร ให้เป็นพระเลขาส่วนตัวของท่านเพื่อช่วยในการเผยแผ่ธรรมนับแต่ครั้งนั้น

ในปีนั้นเองที่หลวงพ่อ ท่านเจ้าคุณปัญญา นันทภิกขุ ท่านเริ่มโครงการ"พระธรรมทายาท" อบรมพระภิกษุสงฆ์ให้เป็นนักเผยแผ่ธรรมที่ดี เป็น "ธรรมทายาท" มิใช่ "อามิสทายาท" ของพระบรมศาสดา ซึ่งนี่เป็นจุดเริ่มต้นที่ พระถวิล จนฺทสโร ท่านได้ไปพำนักอยู่ฝึกกับท่านเจ้าคุณหลวงพ่อปัญญา นันทภิกขุ ซึ่งท่านเจ้าคุณท่านได้ส่ง พระถวิล จนฺทสโร ให้ไปฝึกอบรมโครงการพระธรรมทายาทกับ ท่านพุทธทาสภิกขุ (พระธรรมโกศาจารย์-ปัจจุบันท่านมรณภาพแล้ว) ที่ สวนโมกขพลาราม ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งหลวงพ่อท่านเจ้าคุณปัญญานันทภิกขุ และท่านพุทธทาสภิกขุ ท่านเป็นสหธรรมิกกันคือเป็นสหายธรรม ที่เคารพรักใคร่กัน ซึ่ง พระถวิล จนฺทสโร ได้ถูกส่งไปศึกษาและปฏิบัติธรรมกับท่านพุทธทาสภิกขุแห่งสวนโมกขพลาราม ในหลักสูตรพระธรรมทายาท จนเมื่อจบหลักสูตรพระธรรมทายาทกลับมา พระถวิล จนฺทสโร จึงได้รับมอบหมายให้เป็นพระเลขาส่วนตัวของท่านเจ้าคุณปัญญา นันทภิกขุ ให้ช่วยการเผยแผ่ธรรมในสายงานของท่านเจ้าคุณปัญญานันทภิกขุ เป็นพระธรรมทายาทของวัดชลประทานรุ่นแรกๆ ที่นำพระภิกษุสงฆ์ขึ้นไปเผยแผ่ธรรเขตภาคเหนือ โดย พระถวิล ได้รับมอบหมายให้ไปเผยแผ่ในเขต จังหวัด เชียงราย พระถวิล จนฺทสโร ท่านจึงไปอยู่ที่เชียงรายจนเสร็จสิ้นภารกิจด้านการเผยแผ่พระธรรมทายาทเขตภาคเหนือ
ที่เชียงราย

 
พระธรรมทายาทที่รับหน้าที่ไปเผยแผ่ธรรม"เชียงราย"
 
พระธรรมทายาทที่รับหน้าที่ไปเผยแผ่ธรรม"เชียงราย"

เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจพระธรรมทายาท พระถวิล จนฺทสโร ได้เดินทางกลับสู่วัดชลประทานรังสฤกฏ์ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี และได้กราบขออนุญาตท่านเจ้าคุณปัญญา นันทภิกขุ ท่านขออนุญาตกราบลาเพื่อเดินทางออกจาริกธุดงค์

ภายหลังจากนั้นท่านก็ได้เดินทางจาริกธุดงค์ไปเชียงรายอีกครั้งตามลำพังองค์เดียว โดยที่เชียงรายนี้ท่านได้ไปแวะพำนักที่ วัดดงหนองเป็ด หรือ วัดวรกิจตาราม(สวนโมกข์เชียงราย) ซึ่งที่แห่งนี้ได้ไปอยู่ช่วยเผยแผ่ธรรมอยู่ประมาณ ๑ ปี หลังจากนั้นท่านก็ได้ไปพำนักอยู่กับท่าน พระครูสาธรปริยัติกิจ ซึ่งท่านเป็นเจ้าคณะตำบลบ้านดู่ ที่พุทธสถาน ว.ค. หรือสถาบันราชภัฎเชียงราย ท่านได้อยู่ช่วยพระครูท่านเผยแผ่ธรรม อบรมนักศึกษาและคณะครูอาจารย์ของสถาบันราชภัฏเชียงราย ประมาณ ๑ ปี ในที่สุดท่านพระครูจึงได้ส่งพระถวิลให้ไปเป็น เจ้าอาวาสวัดบ้านดู่ ซึ่งอยู่ใกล้กับบริเวณสถาบันราชภัฏเชียงรายตั้งอยู่ ท่านรับเป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านดู่ประมาณ ๑ ปี

ในที่สุดท่านได้ลาออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบ้านดู่เพราะเกิดความเบื่อหน่ายในการบริหาร ภาระธุระ และได้ออกธุดงค์จาริกแสวงบุญไปตามสถานที่ต่างๆ ไปพักบำเพ็ญเพียรทางจิตภาวนาตามป่า เขา ตามถ้ำ แล้วท่านก็ได้เดินธุดงค์จาริกแสวงบุญย้อนกลับไปพักค้างปักกลดอยู่ที่ "ถ้ำพระ" อีกครั้ง ซึ่งแต่ก่อนนั้นยังเป็นป่า ภูเขาหิน มีแต่ถ้ำ ยังไม่ได้ตั้งเป็นวัดเป็นแต่เพียงธุดงค์สถานถ้ำพระ

หวนคืนสู่เชียงราย

คุณยายแก่มานิมนต์ให้อยู่ที่"ถ้ำพระ"
พระถวิล  จนฺทสโร ได้จาริกธุดงค์กลับเข้าสู่การปฏิบัติธรรม ท่านได้แวะพักปฏิบัติธรรมที่ “ถ้ำพระ”แห่งนี้เป็นเวลาประมาณ ๗ วัน เมื่อท่านพำนักปักกลดบำเพ็ญอยู่ที่ถ้ำพระแห่งนี้ได้ประมาณ ๗ วัน ท่านได้นิมิตฝันไปว่ามีโยมผู้หญิงคุณยายท่านหนึ่งอายุมากแล้ว แต่งกายด้วยเครื่องแต่งกายโบราณแบบทางเหนือมาเข้านิมิตฝัน โดยนิมิตฝันนั้นคุณยายได้นิมนต์ให้ท่านอยู่จำวัดที่สถานปฏิบัติธรรมแห่งนี้ การมานิมิตฝันนั้นได้เกิดขึ้นติดต่อกันเป็นเวลา ๓ คืน พระถวิล จนฺทสโร ท่านก็มิได้รับกิจนิมนต์นั้น เมื่ออยู่ครบ ๗ วัน ท่านเก็บกลด เก็บบาตร บริขาร ออกจาริกเดินธุดงค์ต่อไปอีก โดยจาริกธุดงค์ย้อนกลับไปพักปฏิบัติธรรมอยู่ที่ป่าช้าผีดิบบ้านคลองเตย อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก อีกครั้ง

ย้อนกลับสู่ "ถ้ำพระ”
ก่อนออกพรรษาในปีพุทธศักราช ๒๕๓๑ ขณะที่ท่านจาริกธุดงค์ปฏิบัติจิตอยู่ที่ป่าช้าผีดิบบ้านคลองเตย จังหวัดพิษณุโลก ก็ได้นิมิตฝันอีกว่าได้เหาะเข้ามาอยู่ยังสถานปฏิบัติธรรมถ้ำพระ
อีกครั้ง

ในปีพุทธศักราช ๒๕๓๑-๓๒ นั้น ท่านก็ได้จาริกธุดงค์ย้อนกลับขึ้นสู่ภาคเหนือ คือ เชียงราย อีกครั้ง โดยครั้งนี้ได้แวะเข้าพักปฏิบัติธรรมที่ธุดงค์สถาน "ถ้ำพระ" แห่งนี้
    

ครูบาอาจารย์มาสอนกรรมฐาน

 
 

ครูบาอาจารย์มาสอนกรรมฐาน
เมื่อท่านตัดสินใจเดินทางกลับไปปฏิบัติธรรมที่่ ถ้ำพระ โดยท่านปักกลดพักค้างอยู่ในบริเวณถ้ำ ซึ่งบนภูเขามีถ้ำ ๓-๔ ถ้ำ ในเวลานั้นยังเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ สถานที่แห่งนี้เป็นที่สัปปายะอยู่ห่างจากหมู่บ้านประมาณ ๓ กิโลเมตร ท่านอาศัยความเพียรอย่างยิ่งในการปฏิบัติจิต ท่านตื่นนอนตั้งแต่เวลาตีสอง-ตีสามแล้วก็ปฏิบัติ สวดมนต์ทำวัตรเช้า เจริญสติ เดินจงกรม จวบเวลาฟ้าสางเริ่มเห็นแสงเรืองรอง รับอรุณแล้วตามพระวินัย ท่านก็ออกรับบิณฑบาตยามเช้า เมื่อได้ภัตตาหารพอเพียงสำหรับการฉันได้แล้ว ท่านก็เดินทางกลับมายังถ้ำพระ เมื่อทำภารกิจฉันภัตตาหารเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เก็บกลด ล้างบาตร นำบาตรตากแดดทิ้งไว้ให้แห้ง เสร็จแล้วก็ปฏิบัติธรรมต่อโดยการเจริญสติ เดินจงกรม ท่านปฏิบัติอยู่เช่นนี้ตลอดทั้งวัน เหนื่อยก็หยุดพัก พักเสร็จหายเหนื่อยแล้วก็ปฏิบัติต่อด้วยการนั่งเจริญสติ เดินจงกรม สลับกัน ตลอดวันจนย่ำค่ำ เมื่อทำภารกิจยามเย็นเสร็จแล้วท่านก็ปฏิบัติต่อจนดึกดื่น

"เนสัชชิก"
ยิ่งหากวันใดที่เป็นวันพระธรรมสวนะ ท่านจะอธิษฐาน เนสัชชิก คือการไม่นอนเอนหลังแตะพื้น แม้นท่านจะเหนื่อย อ่อนเพลียและง่วงนอนจนถึงที่สุด ท่านก็จะเจริญสติหรือนั่งหลับโดยไม่ยอมเอนกายลงนอนให้หลังแตะพื้นเด็ดขาด หากง่วงจัดจะนั่งหลับก็ไม่เป็นไรให้จิตได้พักเหนื่อยสัก ๑ ชั่วโมงก็เป็นการเพียงพอแล้ว เมื่อจิตได้พักแล้ว ท่านก็จะเจริญสติติดต่อกันตลอดทั้งคืน ซึ่งการอธิษฐาน เนสัชชิก นี้ ช่วงที่พำนักอยู่ถ้ำพระแรกๆ นั้น ท่านได้มุ่งปฏิบัติพากเพียรอย่างยิ่งยวด ท่านอธิษฐาน เนสัชชิก ตลอดพรรษา และท่านยังนำเอาไม้โลงศพไปไว้ด้านในถ้ำที่ฝึกกรรมฐาน โดยซ่อนไว้หลังผนังถ้ำเพราะเกรงว่าญาติธรรมที่มาถวายภัตตาหารเห็นก็จะเกิดความกลัว ท่านจึงไม่ให้ผู้คนเห็น ท่านใช้โลงศพนี้เป็นที่จำวัดนอนของท่าน เมื่อท่านปฏิบัติบำเพ็ญเพียรในถ้ำพระแห่งนี้ ในงานปฏิบัติธรรมท่านได้เล่าประสบการณ์ให้กับพระภิกษุสงฆ์ที่ปรารถนาจะดำเนินรอยตามทางของ ครูบาอาจารย์ฟังว่า บางครั้งก็ต้องอธิษฐาน สัจจะบารมี เช่น วันนี้ข้าพเจ้าจะไม่นอน หรือ วันนี้ข้าพเจ้าจะไม่ฉันภัตตาหารและก็ต้องทำให้ได้ อธิฐานเช่นใดก็ต้องทำให้ได้เช่นนั้น ท่านว่าให้ปฏิบัติจนกว่าจะมีครูบาอาจารย์มาสอนในนิมิตฝัน หากปรากฏเหตุเช่นนี้เมื่อไรก็แสดงว่าการปฏิบัติของเราเข้าข่ายแล้ว คืออยู่ในข่ายแห่งการปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ธรรมใดๆ ที่จะพัฒนาขึ้นไปครูบาอาจารย์จะเมตตามาสั่งสอนให้เจริญรุดหน้ายิ่งขึ้น

 
 

พระถวิล จนฺทสโร เมื่อท่านเก็บตัวปฏิบัติอยู่ที่ถ้ำพระแห่งนี้ ท่านได้นิมิตฝันว่ามีครูบาอาจารย์รูปหนึ่งผิวพรรณขาว รูปร่างสูงใหญ่ นุ่งผ้าจีวรสีแดงเข้มเหมือนพระภิกษุมอญ-พม่า ได้เมตตามาสอนท่าน โดยสอนให้เหาะจากถ้ำแห่งหนึ่งไปยังถ้ำอีกแห่งหนึ่ง ในครั้งแรกนั้นพระถวิลท่านก็ปฏิเสธว่าทำไม่ได้ ครูบาอาจารย์ท่านนั้นจึงบอกว่าให้ลองดูก่อน จากนั้นครูบาอาจารย์รูปนั้นก็ได้ทำตัวอย่างโดยการเหาะให้ท่านดู แล้วให้พระถวิล ทำตามท่าน หลวงพ่อถวิลท่านเล่าอย่างขำขันว่าครั้งแรกที่ท่านทดลองทำตามที่ครูบาอาจารย์ท่านสอนนั้น ท่านว่าไปได้ไม่ถึงไหนเลย พอไปได้หน่อยเดียวก็ตกลงมาก้นกระแทกพื้น ครูบาอาจารย์ท่านก็ว่าไม่เป็นไร ลองใหม่ ลองใหม่ เอาใหม่ ท่านก็ให้ลอง ท่านเมตตามาสอนอยู่ ๓ คืนติดๆ กัน การปฏิบัติธรรมต้องให้ก้าวหน้าอย่างนี้ ให้ทำจนถึงที่สุด.. ถึงเวลาครูบาอาจารย์ท่านจะเมตตามาสอนต่อให้เอง

ถ้ำมืด
ถ้ำมืด เหตุที่เรียกว่า ถ้ำมืด เพราะมีถ้ำอยู่บนยอดเขาสูงด้านทิศตะวันออก เป็นถ้ำที่ไม่มีแสงสว่างเล็ดรอดเ้ข้าไปได้เลย ภายในถ้ำจึงมีแต่ความมืดมิด เมื่อท่านปฏิบัติธรรมอยู่ในถ้ำมืดบนยอดเขาสูงสุดด้านทิศตะวันออก ซึ่งขณะนั้น ท่านมีอาการอาพาธหนักด้วยไข้มาลาเรียจนลุกขึ้นปฏิบัติธรรมต่อไม่ไหวด้วยพิษไข้ ท่านคิดว่าท่านคงจะไม่มีโอกาสรอดแน่ๆ เพราะต้องนอนซมด้วยพิษไข้อย่างหนัก แต่แล้วท่านก็นิมิตฝันว่า ได้มีผู้มีบุญ(เทวดา)ท่านหนึ่งมาเรียกให้ท่านลุกขึ้น ท่านจึงตอบไปว่าท่านลุกไม่ไหวเพราะอาพาธหนักมาก ในขณะนั้นเองผู้มีบุญท่านนั้นก็นำไซริงค์พร้อมเข็มฉีดยาซึ่งหลวงพ่อถวิลท่านเมตตาเล่าว่า ไซริงค์ฉีดยามีขนาดใหญ่เท่ากับขนาดท่อนแขนพร้อมเข็มฉีดยาขนาดใหญ่ บรรจุยาอะไรก็ไม่ทราบได้ แล้วท่านผู้นั้นก็นำเข็มฉีดยานั้นปักเข้าตรงก้นของท่าน จากนั้นก็ฉีดยาให้ท่าน ท่านรู้สึกว่ายานั้นแผ่ซ่านเข้าสู่ร่างกายจนเย็นวาบไปทั้งตัวแล้วท่านก็หลับไป ตื่นขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งปรากฏว่าอาการอาพาธป่วยไข้นั้นก็หายเป็นปลิดทิ้ง

หลังจากนั้นท่านก็นิมิตฝันว่ามีครูบาอาจารย์อีกท่านเมตตามาเยี่ยมอาการป่วยของท่าน ครูบาอาจารย์ท่านนั้นคือ หลวงปู่แหวน สุจินโณ ท่านได้เมตตามาเยี่ยมพระถวิลซึ่งนอนซมอยู่ในถ้ำ เมื่อหลวงปู่ท่านมาถึงก็มานั่งมองแล้วสอบถามอาการต่างๆ พระถวิลก็กราบเรียนให้ท่านทราบว่าไม่ไหวครับ ผมป่วยหนักมาก ท่านก็เมตตาดูแลรักษาให้ แล้วหลวงปู่ก็กล่าวขอยืมไม้ขีดไฟเพราะท่านจะสูบยา-มวน จะขอไม้ขีดจุดยาสูบ พระถวิลจึงกราบเรียนหลวงปู่ว่าผมไม่ได้สูบบุหรี่ จึงไม่มีไม้ขีดไฟ ในขณะนั้นเองจู่ๆ หลวงปู่ก็ยื่นมือออกไป ซึ่งหลวงพ่อท่านได้เมตตาเล่าว่ามือและแขนของหลวงปู่ก็ยืดยาวออกไปไกลมาก แล้วก็หยิบไม้ขีดไฟมาจากไหนก็ไม่ทราบได้ จากนั้นหลวงปู่ก็ใช้ไม้ขีดไฟนั้นจุดยา-มวนสูบ
เรื่องเหล่านี้ท่านจะแสดงธรรมให้กับพระภิกษุสงฆ์ฟังว่าการปฏิบัตินั้นต้องทำให้จริงจัง อย่าทำเล่นๆ เมื่อทำจริงจังก็จะได้ของจริง ถ้าทำเล่นก็จะได้ของเล่น เมื่อทำจนถึงจุดที่ไปได้ดีแล้วครูบาอาจารย์ท่านจะเมตตามาสอนต่อให้เอง ไม่ต้องเป็นห่วงกังวลกับการปฏิบัติว่าจะทำไม่ถูก

จัดตั้งสถานปฏิบัติธรรม
ธุดงค์สถาน"ถ้ำพระบำเพ็ญบุญ" ซึ่งเป็นสถานที่สัปปายะ เงียบสงบ สงัดจากสังคมผู้คนและชุมชนรอบด้าน พระถวิล จนฺทสโร ท่านจึงตั้งใจแน่วแน่ที่จะสร้างสถานปฏิบัติธรรมขึ้นในที่แห่งนี้ โดยเมตตาตั้งชื่อ ถ้ำพระ แห่งนี้เป็น ธุดงค์สถาน "ถ้ำพระบำเพ็ญบุญ" และในการจัดตั้งธุดงค์สถาน "ถ้ำพระบำเพ็ญบุญ" นั้น ได้รับเมตตาจากครูบาอาจารย์ คือ พระพรหมมังคลาจารย์ หรือ ท่านเจ้าคุณปัญญา นันทภิกขุ แห่ง วัดชลประทานรังสฤกษ์ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ได้เมตตาเดินทางมาให้กำลังใจแก่พระถวิล จนฺทสโร และแสดงธรรมแด่หมู่สงฆ์ นับแต่นั้นมาพระถวิล จนฺทสโร ท่านก็อยู่ปฏิบัติธรรมและเป็นประธานสงฆ์ในสถานที่แห่งนี้มาโดยตลอดจวบจนปัจจุบัน

 
   

เมื่อท่านมาพักปฏิบัติธรรมที่ถ้ำพระแห่งนี้ จึงได้กราบนิมนต์พระภิกษุสงฆ์และชักชวนเชิญชวนญาติธรรมทั่วประเทศ ให้มาร่วมปฏิบัติธรรมในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาร่วมกันทุกปี ปีละประมาณ ๗-๑๐ ครั้ง ซึ่งได้มีพระภิกษุสงฆ์และญาติธรรมผู้มีจิตศรัทธาทั่วประเทศได้มาร่วมปฏิบัติธรรม ได้ริเริ่มจัดให้มีกิจกรรมการปฏิบัติธรรมสำหรับสาธุชนในวันสำคัญทางศาสนาและมีการถือศีล บวชเนกขัมมะ ฝึกกรรมฐาน

จัดปฏิบัติธรรม

"ปริวาสกรรมแด่หมู่สงฆ์"

"ปริวาสกรรม" เพื่อสงเคราะห์แด่หมู่สงฆ์
จากนั้นท่านได้คิดถึงการที่จะสงเคราะห์หมู่พระภิกษุสงฆ์ ท่านจึงได้ริเริ่มจัดงาน“ปริวาสกรรม” สำหรับพระภิกษุสงฆ์ขึ้น นับแต่นั้นเป็นต้นมาจวบจนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีพระภิกษุสงฆ์จากทั่วทุกภาคของประเทศได้มาเข้าอยู่ปริวาสกรรม อันเป็นการชำระพระวินัยของพระสงฆ์ ซึ่งก่อให้เกิดคุณประโยชน์คุณูปการแด่พระภิกษุสงฆ์ เพราะจะมีครูบาอาจารย์ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบได้เมตตามาให้คำแนะนำการปฏิบัติ การจาริกธุดงค์ และหลักการปฏิบัติธรรม เจริญสติ เดินจงกรมให้ถูกต้องถูกธรรม นั่นจึงทำให้มีพระภิกษุสงฆ์ท่านเดินทางเข้าร่วมปฏิบัตธรรมเป็นจำนวนมากในทุกครั้ง เพราะแต่ละท่านก็มุ่งมาเพื่อศึกษาถึงวิธีการปฏิบัติที่ครูบาอาจารย์ท่านแนะนำสั่งสอนให้

จัดบรรพชาสมเณรและเนกขัมมะ
จัดบวชเณรภาคฤดูร้อนสำหรับบุตรหลานของญาติธรรม ในช่วงปิดภาคเรียนในภาคฤดูร้อน ซึ่งก็มีญาติธรรมนำบุตรหลานมารับการบรรพชาเป็นสามเณรในวันที่ ๑-๑๐ เมษายน ของทุกปีที่ผ่านมา ซึ่งได้มีผู้ปกครองได้นำบุตรหลานมาเข้ารับการอุปสมบท-บรรพชาเป็นจำนวนหลายร้อยรูป ต่อมาโครงการนี้ ได้มอบหมายให้วัดแห่งอื่นที่เป็นพระลูกศิษย์ที่ได้เคยมาอยู่อบรมกับหลวงพ่อได้รับไปทำต่อในปัจจุบัน

   

พัฒนาธุดงค์สถาน

พัฒนาธุดงค์สถาน"ถ้ำพระบำเพ็ญบุญ"
ในระยะแรกนั้น ถ้ำพระบำเพ็ญบุญ แห่งนี้ยังเป็นทุ่งโล่งที่โอบล้อมไปด้วยภูเขาหินที่มีป่าไม้ปกคลุมโดยรอบ ตั้งอยู่ในพื้นที่ราชพัสดุและที่ดินของกรมป่าไม้ เมื่อท่านตัดสินใจที่จะตั้งสำนักปฏิบัติธรรมในที่แห่งนี้ด้วยเห็นเป็นที่สัปปายะ สงบ ร่มรื่น เหมาะแก่การบำเพ็ญเพียรทางจิต และยังมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อประโยชน์สำหรับการปฏิบัติธรรมนั้นเอง ก็ได้มีผู้มีจิตศรัทธาเดินทางมาขอจัดทำผ้าป่าสร้างศาลาธรรมหลังเล็กๆ ถวายให้กับพระถวิล จนฺทสโร ศาลาธรรมหลังแรกของสถานปฏิบัติธรรมถ้ำพระจึงถูกจัดสร้างขึ้นอย่างง่ายๆ ด้วยแรงงานจากชาวบ้าน ที่อาศัยอยู่ในละแวกใกล้เคียงแห่งนั้น ด้วยความประหยัดแต่มุ่งเน้นประโยชน์สูงสุดในทางพระพุทธศาสนา


สร้างลานธรรม
การจัดทำสถานลานปฏิบัติธรรมแห่งนี้นั้น หลวงพ่อท่านได้เมตตาเล่าไว้ว่า ท่านได้นิมิตฝันว่า สถานลานธรรมที่จะดำเนินการสร้างขึ้นในที่แห่งนี้นั้น รูปแบบของสถานลานธรรมจะต้องก่อสร้างบนเชิงเขา โดยมีบันไดทางขึ้นสองข้างเป็นรูปทรงกลมให้มีขนาดดั่งรอยเท้าช้างเป็นทางเดินซ้าย-ขวา ตรงกลางเป็นกระบะใหญ่เพื่อปลูกดอกไม้ให้สวยงาม ด้านบนเป็นรูปครึ่งวงกลมลดลั่นเป็นชั้นๆ ตามลำดับ อุปมาเปรียบได้ดั่งลำดับชั้นของการปฎิบัติธรรมตามลำดับขั้นตอน
อุปมาบันไดคือทางเดินเข้าสู่หนทางแห่งมรรค-ผล

  • ลานธรรมชั้นแรก..อุปมาคือพระโสดาบัน
  • ลานธรรมชั้นสอง..อุปมาคือพระสกิทาคามี
  • ลานธรรมชั้นสาม..อุปมาคือพระอนาคามี
  • ลานธรรมชั้นสี่..คือพระอรหันต์ และ
  • ตรงใจกลางสูงสุดของลานธรรมมีพระพุทธรูปเป็นพระประธานประดิษฐานในซุ้ม อุปมาดั่งเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ และมีซุ้มอาสนะมุงฟางเพื่อให้พระสงฆ์แสดงธรรม เมื่อท่านได้นิมิตฝันเช่นนั้น จึงได้เล่านิมิตฝันให้กับคณะพระภิกษุสงฆ์ลูกศิษย์ได้ฟัง พระภิกษุสงฆ์ท่านได้ร่วมกันวาดภาพตามนิมิตฝันของหลวงพ่อถวิล จนฺทสโร เพื่อทำเป็นแผนผังในการดำเนินการจัดสร้าง "ลานปฏิบัติธรรม" ขึ้นบนเชิงเขาแห่งนี้

สร้างศาสนวัตถุ

สร้างศาสนวัตถุเพื่อเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม

  1. ลานปฏิบัติธรรม หลวงพ่อถวิล จนฺทสโร นำคณะสงฆ์-สาธุชน ดำเนินการจัดสร้าง "ลานปฏิบัติธรรม" ขึ้นบนเชิงเขาแห่งนี้
  2. สระน้ำ สระน้ำ ซึ่งท่านปรับปรุงจากเดิมที่มีอยู่ ให้เป็นที่กักเก็บน้ำใช้ในสถานปฏิบัติธรรมที่ไหลออกมาจากถ้ำ
  3. ซุ้มพระพุทธรูป เป็นซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูป เพื่อเป็นที่เคารพสักการะในบริเวณวัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ
  4. กุฏิสงฆ์-กุฏิที่พักผู้ปฏิบัติธรรมเดิม เป็นกุฏิหลังเล็กๆ สร้างด้วยต้นไผ่และไม้บ้านเก่าที่ชาวบ้านนำมาถวายร่วมบุญ
  5. โรงทานเดิม เป็นโรงทานหลังเล็ก เพื่อใช้เป็นที่จัดเตรียมภัตตาหารสำหรับถวายพระภิกษุสงฆ์และผู้ปฏิบัติธรรม
  6. ศาลาปฏิบัติธรรมจันทนิภากร๑ เป็นศาลาปฏิบัติธรรมหลังใหญ่ บรรจุผู้ปฏิบัติธรรมได้ประมาณ ๑,๐๐๐ คน
  7. อุโบสถ วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ ใช้เป็นที่ทำสังฆกรรมสำหรับพระภิกษุสงฆ์แทนอุโบสถถ้ำ
  8. พระพุทธรูปพระสุวรรณติโลกนาถปุญญาวาสสถิต เป็นพระพุทธรูปพระประธานในอุโบสถ
  9. กุฏิสงฆ์และกุฏิแม่ชี ที่สร้างขึ้นใหม่ ใช้วัสดุก่อสร้างที่แข็งแรงเพื่อรองรับกับสภาพธรรมชาติที่เปลี่ยนไป
  10. อาคารจันทนิภากร๒ ที่พักผู้ปฏิบัติธรรม ๓ ชั้น เพื่อเป็นที่พักรองรับผู้ปฏิบัติธรรมที่มีมากขึ้นในปัจจุบัน
  11. ศาลาโรงทาน ๒ ชั้น หลังใหม่ เป็นศาลาโรงทานที่สร้างขึ้นทดแทนหลังเดิม เป็นโรงอาหารมีที่นั่งเป็นระเบียบ

ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์

 
 

อุปสมบทพระภิกษุ
หลวงพ่อถวิล จนฺทสโร
หรือ พระครูจันทนิภากร
ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ ทำหน้าที่บรรพชา-อุปสมบทกุลบุตร ณ อุโบสถวัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ ซึ่งได้มีญาติธรรมนำบุตร-หลาน มาเข้ารับการบรรพชา-อุปสมบทเป็นจำนวนมากด้วยความศรัทธาเคารพเลื่อมใส

หลวงพ่อถวิล จนฺทสโร หรือ พระครูจันทนิภากร(สถานะในปัจจุบัน) ท่านได้ตั้งใจอย่างแน่วแน่
ในการที่จะทำประโยชน์ให้เกิดแก่พระพุทธศาสนา ท่านได้เคยกล่าวไว้ว่า

..."หลวงพ่อดำริที่จะทำประโยชน์ให้เกิดขึ้น ในชีวิตหนึ่งที่เกิดมาเป็นพระ ท่านกล่าวไว้ว่า ต่อจะให้ลำบากอย่างไรก็ตาม หากท่านสั่งสอนผู้คนเป็นเรือนหมื่นเรือนแสน ท่านอุปมาว่า ท่านเผยแผ่ธรรมก็เหมือนท่านหว่านแหไปในหมู่ผู้คนที่มุ่งหน้าเข้าปฏิบัติจิต หากได้มีโอกาสสร้างพระอรหันต์สักองค์์หนึ่งในชีวิตการเป็นนักบวชของท่าน ท่านก็ถือว่าท่านได้ทำประโยชน์เกินคุ้มแล้ว"...

ท่านได้เสียสละความสุขส่วนตัวของท่านด้วยความตั้งใจอย่างแน่วแน่ ในการริเริ่มเพื่อที่จะได้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา ทั้งนี้ก็ด้วย วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ แห่งนี้ตั้งตัวซุกซ่อนอยู่ในป่า พื้นที่ค่อนข้างห่างไกลผู้คน ซึ่งบริเวณทั้งหมดนั้นมีแต่ป่ารกชัฏเต็มไปด้วยถ้ำและภูเขาหิน แต่ด้วยความทที่เป็นสถานสัปปายะ สงบเงียบ ห่างไกลผู้คนเช่นนี้ ท่านจึงมีดำริอย่างแน่วแน่ที่จะเผยแผ่พระธรรมคำสอน ขององค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อมหาชน
          
นี่จึงเป็นอัตชีวประวัติโดยสังเขปของท่าน หลวงพ่อถวิล จนฺทสโร ที่มีมากมายมหาศาล แต่ก็ยกตัวอย่างการปฏิบัติตัวของท่าน ปฏิปทาในการประพฤฒิปฏิบัติของท่าน ในชีวิตของการเป็นนักบวชในนาม หลวงพ่อถวิล จนฺทสโร หรือพระครูจันทนิภากร เจ้าอาวาสวัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ คือ "พระ" ผู้มีแต่ให้ด้วยความเมตตาต่อสาธุชนรอบด้าน


ผลงานและเกียรติคุณ

 
 

ได้รับเกียรติบัตรยกย่องเชิดชูเกียรติ 
ในด้านผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา

จาก สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ

 
ได้รับพระราชทานแต่งตั้งสมณศักดิ์
สัญญาบัตร-พัดยศพระครูชั้นโท ที่

"พระครูจันทนิภากร
"
 
ได้รับรางวัล
วัดดีเด่นประจำจังหวัดเชียงราย

เป็น ๑ ใน ๕๐
วัดดีเด่นทั่วประเทศในปีพุทธชยันตี
 
รางวัล
วัดดีเด่นประจำจังหวัดเชียงราย

เป็น ๑ ใน ๕๐
วัดดีเด่นทั่วประเทศในปีพุทธชยันตี
 
รางวัล
วัดดีเด่นประจำจังหวัดเชียงราย

เป็น ๑ ใน ๕๐
วัดดีเด่นทั่วประเทศในปีพุทธชยันตี

ผลงานดีเด่น

เกียรติคุณดีเด่น

  • ได้รับรางวัลดีเด่น “เสาเสมาธรรมจักร”ในด้านส่งเสริมการปฏิบัติธรรมแก่มหาชนโดยทั่วไป และใบประกาศเกียรติคุณนักเผยแผ่ธรรมสาขาปฏิบัติธรรม จาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง เนื่องในวันวิสาขบูชา วันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๔๗
  • ได้รับรางวัล “สำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดดีเด่น ๔๕ สำนักพุทธศักราช ๒๕๕๔ ในวาระครบ ๒๖๐๐ ปี พุทธชยันตี” 
  • ได้รับ เกียรติบัตรยย่องเชิดชูเกียรติในด้านผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา จาก
    สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกโดยศูนย์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
  • ได้รับพระราชทานแต่งตั้งสมณศักดิ์ สัญญาบัตร-พัดยศที่ "พระครูจันทนิภากร" เจ้าอาวาสวัดราษฏร์ชั้นโท เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล ๕ ธันวาคม ๒๕๕๑
  • ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ ทำหน้าที่ในการบรรพชา-อุปสมบทแด่กุลบุตร เป็นพระภิกษุตามที่พิจารณาเห็นสมควร
  • ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตำบลธารทอง อ.พาน จ.เชียงราย
  • ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติ ประจำจังหวัดเชียงรายแห่งที่๕ วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ
  • ได้รับแต่งตั้งประธานศูนย์พัฒนาคุณธรรม-จริยธรรม ประจำจังหวัดเชียงราย วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ


เข้ารับรางวัลพระราชทาน
เสาเสมาธรรมจักร
ผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนาประจำปีพุทธศักราช ๒๕๔๗
ประเภทส่งเสริมการปฏิบัติธรรม

จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง เนื่องในเทศกาลวิสาขบูชา
๒๗ พฤษภาคม ๒๕๔๗

      เป็นรางวัลเกียรติยศสูงสุดที่คณะกรรมการฝ่ายคัดเลือกผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา พิจารณามอบให้แก่บุคคลหรือหน่วยงานที่ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา ซึ่งได้ผ่านการ เสนอชื่อการพิจารณาคัดเลือกกลั่นกรองจากคณะกรรมการ และการอนุมัติจากคณะกรรมการคัดเลือก ในโครงการสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา เนื่องในเทศกาลวิสาขบูชา
       
      ผู้ควรแก่รางวัลจะได้รับพระราชทานเสาเสมาธรรมจักร พร้อมด้วยประกาศเกียรติคุณจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งเสด็จฯ เป็นองค์ประธานเปิดงาน สัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา เนื่องในเทศกาล วันวิสาขบูชา ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง เป็นประจำทุกปี สืบเนื่องมาแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๗ ถึงปัจจุบัน
       
      บุคคลหรือหน่วยงานที่ได้รับคัดเลือก จะได้รับพระราชทานรางวัลเกียรติยศนี้เพียงครั้งเดียว เพราะถือว่าสูงสุดในชีวิตแล้ว หลักเกณฑ์ทั่วไปและคุณสมบัติผู้ทำคุณประโยชน์ฯ ดังนี้

  • เป็นผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนาตามประเภทที่กำหนด ประเภทใดประเภทหนึ่ง โดยมีผลงานเป็นที่ยอมรับและปรากฏผลดีเด่น
  • ประวัติและผลงาน เป็นที่ยอมรับและปรากฏผลดีในด้านใดด้านหนึ่ง หรือหลายด้าน โดยมีกิจกรรมต่อเนื่องไม่น้อยกว่า ๕ ปี ทั้งนี้ตามประเภทและ สาขาที่คณะกรรมการกำหนด
  • เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยคุณธรรม มีความประพฤติดีงาม เป็นที่ยอมรับ ศรัทธาเลื่อมใสแก่บุคคลใกล้ชิดและบุคคลที่รู้จักโดยทั่วไป

      ซึ่ง พระครูจันทนิภากร (หลวงพ่อถวิล จนฺทสโร)ได้รับพระราชทานรางวัล"เสาเสมาธรรมจักร” ในด้านผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๔๗ ประเภทส่งเสริมการปฏิบัติธรรม จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง เนื่องในเทศกาล วิสาขบูชา  ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๔๗

      จึงนับเป็นรางวัลอันน่าภาคภูมิใจที่ทำให้ผู้ได้รับรางวัลทั้งบรรพชิต และ ฝ่ายฆราวาส มีกำลังกาย และกำลังใจในการที่จะมุ่งมั่นทำความดีให้เป็นตัวอย่างสำหรับผู้อื่นๆ ได้กระทำสืบต่อไป

   

สถานภาพปัจจุบัน

  • ที่เจ้าอาวาส-ประธานสงฆ์ วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ
  • เจ้าคณะตำบลธารทอง อ.พาน จ.เชียงราย
  • พระอุปัชฌาย์ เพื่อทำหน้าที่ในการอุปสมบทพระภิกษุตามที่พิจารณาเห็นสมควร
  • ประธานศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติ ประจำจังหวัดเชียงราย วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ
  • ประธานศูนย์พัฒนาคุณธรรม-จริยธรรม ประจำจังหวัดเชียงราย วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ
  • ประธานหน่วยอบรมประชาชน อ.บ.ต.ประจำเขตตำบลธารทอง
  • เป็นพระครูสอนพระปริยัติธรรม
  • เป็นพระวิปัสสนาจารย์
  • เป็นเจ้าสำนักวิปัสสนากรรมฐาน วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ
  • เป็นพระเถระผู้กอรปด้วยเถรกรณธรรม
    มีจริยาวัตรและปฏิปทาในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาอย่างสม่ำเสมอ
    บำเพ็ญสังฆกรณียกิจและประโยชน์แก่พระพุทธศาสนา สังคม
    และประเทศชาติอย่างอเนกประการ

ภารกิจหลัก มีโดยสังเขปดังนี้

  • เป็นครูสอนพระปริยัติธรรม เป็นพระวิปัสสนาจารย์ เป็นเจ้าสำนักวิปัสสนากรรมฐาน วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ
  • จัดปริวาสกรรมสำหรับพระภิกษุสงฆ์ในระหว่างวันที่ ๑-๑๐ กุมภาพันธ์ของทุกปี เพื่อเปิดโอกาส ให้แด่พระภิกษุสงฆ์ได้อยู่ปริวาสกรรมตามพระวินัย ทั้งยังให้ประชาชนและหน่วยงานต่างๆ รวมถึงผู้มีจิตศรัทธาได้เข้าร่วมปฏิบัติธรรม เพื่อยังประโยชน์ให้เกิดขึ้นแก่ประเทศชาติและพระพุทธศาสนาสืบต่อไป
  • จัดงานปริวาสกรรมสำหรับพระภิกษุทั่วประเทศก่อนวันเข้าพรรษา ๑๕ วัน ของทุกปี ทั้งนี้เพื่อให้พระภิกษุสงฆ์ ได้ชำระพระวินัยก่อนอยู่จำพรรษายังวัดต่างๆ ในตลอดพรรษานั้น
  • จัดกิจกรรมบรรพชาอุปสมบทภาคฤดูร้อน เนกขัมมนารี ในระหว่างวันที่ ๑-๑๐ เมษายน
    ของทุกปี (ปัจจุบันได้มอบให้วัดที่จัดอบรมสามเณรดำเนินการ) เพื่อสงเคราะห์แก่กุลบุตรของผู้มีจิตศรัทธาและผู้ยากไร้ได้มีโอกาสเข้าบรรพชา
  • จัดกิจกรรมอบรมปฏิบัติธรรมในเทศกาลวันหยุดสงกรานต์ของทุกปี เป็นเวลา ๓-๕ วัน
  • จัดกิจกรรมอบรมปฏิบัติธรรมในวันวิสาขบูชาของทุกปี เป็นเวลา ๓-๕ วัน เพื่อเป็นกิจกรรมส่งเสริมพระพุทธศาสนาให้มีความเจริญวัฒนาถาวรสืบต่อไป
  • จัดกิจกรรมอบรมธรรมให้สำหรับพระภิกษุผู้บวชใหม่ก่อนวันเข้าพรรษา เป็นเวลา ๑๕ วัน ของทุกปี
  • จัดกิจกรรมอบรมปฏิบัติธรรมในวันแม่แห่งชาติ ๑๒ สิงหาคม ในระหว่างวันที่ ๑๑-๑๓ สิงหาคม
  • จัดกิจกรรมอบรมปฏิบัติธรรมในวันพ่อแห่งชาติ ๕ ธันวาคม ในระหว่างวันที่ ๔-๖ ธันวาคม
  • จัดกิจกรรมอบรมปฏิบัติธรรมในวันส่งท้ายปีเก่า-ต้อนรับปีใหม่ เป็นเวลา ๓-๕ วัน

กิจกรรมการอบรมต่างๆ

  • จัดอบรมคุณธรรม-จริยธรรมสำหรับหน่วยงานราชการ-รัฐวิสาหกิจ ตามที่หน่วยงานได้กำหนดมา
  • จัดอบรมคุณธรรม-จริยธรรมสำหรับองค์กรเอกชนต่างๆ ตามที่องค์กรได้กำหนดมา
  • จัดอบรมคุณธรรม-จริยธรรมสำหรับเยาวชนนิสิต นักศึกษามหาวิทยาลัย วิทยาลัย โรงเรียน ทั่วประเทศที่ติดต่ออบรมตามกำหนด โดยมีครู คณาจารย์ นำ นิสิต นักศึกษา นักเรียนมาให้ทางศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติจัดอบรมคุณธรรม-จริียธรรม และความประพฤติเป็นประจำตลอดทั้งปี ทั้งนี้เพื่อช่วยขัดเกลาจิตใจเยาวชนของชาติ ให้มีความประพฤติดี มีระเบียบวินัย และมองเห็นโทษภัยที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบัน
  • เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ารับการปฏิบัติธรรม ๓-๕-๗ วัน ตลอดทั้งปี ในแต่ละปีจะมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งหมดประมาณ ๕,๐๐๐-๑๐,๐๐๐ คน

รับตราตั้ง
เจ้าคณะตำบลธารทอง

ภาพภารกิจบางส่วน

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
   
ภารกิจบางส่วน
   
   














                    
วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ
ศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติ ประจำจังหวัดเชียงราย
ศูนย์พัฒนาคุณธรรม-จริยธรรมประจำจังหวัดเชียงราย
๓๙๕ หมู่ ๑๑ ตำบลธารทอง อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ๕๗๒๕๐
โทรศัพท์ (๐๕๓)๑๘๔ ๓๒๕ โทรสาร (๐๕๓)๑๘๔ ๓๒๕

website : www.watthumpra.com
email : watthumprachiangrai@gmail.com