: : ยินดีต้อนรับเข้าสู่สถานปฏิบัติธรรม กับธรรมชาติที่สัปปายะ สงบ สะอาด ป่าไม้ ถ้ำ และภูเขา บนเนื้อที่ ๘๐ ไร่ ..วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ อ.พาน จ.เชียงราย โทร.053 184 325
 

สังเขปประวัติ
วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ
ต.ธารทอง อ.พาน จ.เชียงราย

วั ด ถ้ำ พ ร ะ บำ เ พ็ ญ บุ ญ
ศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติประจำจังหวัดเชียงราย แห่งที่ ๕
ศูนย์พัฒนาคุณธรรม-จริยธรรม ประจำจังหวัดเชียงราย

วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ เป็นวัดปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติประจำจังหวัดเชียงราย แห่งที่ ๕ ศูนย์พัฒนาคุณธรรม-จริยธรรม ประจำจังหวัดเชียงราย วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ ตั้งอยู่ในพื้นที่ราชพัสดุและที่ดินของกรมป่าไม้ บ้านถ้ำพระ(ห้วยหลวง-บ้านนิคมแม่ลาว) เลขที่ ๓๙๕ หมู่ ๑๑ ตำบลธารทอง อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย๕๗๒๕๐ โทรศัพท์-โทรสาร (๐๕๓) ๑๘๔ ๓๒๕-๖

วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ ได้รับแต่งตั้งเป็น

  • ศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติ ประจำจังหวัดเชียงราย แห่งที่ ๕
  • ศูนย์พัฒนาคุณธรรม-จริยธรรม ประจำจังหวัดเชียงราย
  • วัดในสังฆราชูปถัมภ์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก
  • หน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล อ.บ.ต.ธารทอง
  • "สำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดดีเด่น ๔๕ สำนัก" พุทธศักราช ๒๕๕๔ ในวาระครบ ๒๖๐๐ ปีพุทธชยันตี จากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ โดยสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เป็นประธานมอบเกียยรติบัตร
  • รับรางวัลสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดดีเด่นเฉลิมพระเกียรติ ๘๔ พรรษา พุทธศักราช ๒๕๕๔
  • รับรางวัลหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล(อ.ป.ต.)ดีเด่น ๑๖ จังหวัดหนเหนือ
    คณะสงฆ์ภาค ๔ โดยพระวิสุทธิวงศาจารย์ เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ ณ หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา จ.นครสวรรค์
  • วัดกลุ่มเป้าหมายหมู่บ้านรักษาศีล ๕ จัดดำเนินการตามโครงการแผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง หมู่บ้านรักษาศีล ๕ ประจำปีงบประมาณ ๒๕๕๘
  • ได้รับเชิดชูเกียรติเป็นวัดในประวัติศาสตร์ ที่ให้การสนับสนุน โครงการฟื้นฟูศีลธรรมโลก โดยมีสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เป็นประธานที่ปรึกษาโครงการ

สภาพพื้นที่

สภาพพื้นที่โดยประมาณ ๘๐ ไร่ และสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาจัดซื้อเพิ่มเติม อยู่ในระหว่างดำเนินการขออนุญาตจัดสรรให้ถูกต้อง พื้นที่ทั้งหมดมีสภาพเป็นป่าภูเขาหิน มีถ้ำต่างๆ อีกประมาณ ๔-๕ ถ้ำ มีประชากรนับถือพระพุทธศาสนาประมาณ ๒๓๐ ครอบครัว อยู่ห่างจากถนนพหลโยธินสาย เชียงราย-พาน กม.๘๐๒-๘๐๓ ระยะทางเข้าสู่วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญประมาณ ๖ กิโลเมตร เส้นทางจากถนนพหลยโยธินเข้าสู่วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญเป็นถนนซีเมนต์จนถึงสถานปฏิบัติธรรม วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ

สถานที่ปฏิบัติธรรมแห่งนี้ได้ถูกค้นพบและก่อตั้งขึ้นเมื่อประมาณในราวปีพุทธศักราช ๒๔๗๗ โดยชาวบ้านนิยมเรียกกันว่า “ถ้ำพระ” ทั้งนี้เพราะในอดีตนั้นมีพระพุทธรูปโบราณเก่าแก่ปางต่างๆ อยู่ในถ้ำเป็นจำนวนมากโดยก็มิมีใครทราบว่าพระพุทธรูปโบราณเหล่านี้มาจากไหน จึงเป็นที่เรียกกันของชาวบ้านว่า “ถ้ำพระ"
 
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้มีพระสายปฏิบัติกรรมฐานแวะเวียนมาพักปฏิบัติธรรม สับเปลี่ยนหมุนเวียนอยู่อย่างนี้เรื่อยมา

 

ผู้เริ่มบุกเบิกถ้ำพระเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม

     
 
 
 

เริ่มพัฒนาถ้ำพระ
ปีพุทธศักราช ๒๕๒๙
พระถวิล จนฺทสโร (พระครูจันทนิภากร–สถานภาพปัจจุบัน) ท่านได้ไปพำนัก ปฏิบัติธรรมกับ ท่านเจ้าคุณพระธรรมโกศาจารย์ หรือ ท่านเจ้าคุณปัญญา นันทภิกขุ แห่ง วัดชลประทานรังสฤกษ์ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี จากนั้นท่านเจ้าคุณพระธรรมโกศาจารย์ได้ส่งพระถวิล จนฺทสโร ให้ไปศึกษา อบรมหลักสูตรพระธรรมทายาทกับท่านพุทธทาสภิกขุ (พระธรรมโกศาจารย์- ปัจจุบัน ท่านมรณภาพแล้ว) ที่สวนโมกขพลาราม ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี

พระถวิล จนฺทสโร เมื่อจบหลักสูตรพระธรรมทายาทที่สวนโมกขพลารามแล้วนั้น จึงได้เดินทางกลับสู่วัดชลประทานรังสฤกษ์ จากนั้นท่านเจ้าคุณพระธรรมโกศาจารย์ (ท่านปัญญา นันทภิกขุ) ท่านเริ่มทำโครงการ “พระธรรมทายาท” อบรมพระภิกษุสงฆ์ให้เป็นนักเผยแผ่ธรรมที่ดี เป็น “ธรรมทายาท” มิใช่ “อามิสทายาท” ของพระบรมศาสดา ซึ่งนี่เป็นจุดเริ่มต้นที่พระถวิล จนฺทสโร ได้รับมอบหมายให้เป็นพระเลขาส่วนตัวของท่านเจ้าคุณพระธรรมโกศาจารย์หรือท่านเจ้าคุณปัญญา นันทภิกขุ แห่งวัดชลประทานรังสฤกษ์ ให้ช่วยเดินทางสู่การเผยแผ่ธรรม ในสายงานเผยแผ่ธรรมของท่านเจ้าคุณปัญญานันทภิกขุ เป็นพระธรรมทายาทของวัดชลประทานรุ่นแรกๆ ที่นำพระภิกษุสงฆ์ขึ้นไปเผยแผ่ธรรมภาคเหนือ คือ เชียงราย

พระถวิล จนฺทสโร ท่านจึงได้นำคณะภิกษุสงฆ์เดินทางขึ้นไปเผยแผ่ธรรมอยู่ที่เชียงราย จนเสร็จสิ้นภารกิจด้านการเผยแผ่พระธรรมทายาทเขตภาคเหนือ

   
     

พระถวิล จนฺทสโร ได้เดินทางกลับสู่วัดชลประทานรังสฤกษ์ และได้กราบขออนุญาตกับท่านเจ้าคุณปัญญานันทภิกขุ เพื่อขอออกจาริกธุดงค์กลับไปเชียงรายอีกครั้งตามลำพังองค์เดียว ท่านได้ออกจาริกธุดงค์แสวงบุญไปตามสถานที่ต่างๆ ไปพักบำเพ็ญเพียรทางจิตภาวนาตามป่าเขา ตามถ้ำต่างๆ และได้จาริกธุดงค์แสวงบุญย้อนกลับไปภาคเหนือโดยมีจุดหมายมุ่งตรงคือ..เชียงราย และได้ไปพักอยู่ช่วยเผยแผ่ธรรมที่เชียงรายอีก ๑ ปี จนได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านดู่ จากนั้นท่านรู้สึกเบื่อหน่ายต่อภาระเหล่านี้จึงได้สละตำแหน่งและลาออกจากการเป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านดู่ ได้มอบหมายหน้าที่และสิ่งต่างๆ ของวัดบ้านดู่ให้พระภิกษุองค์ต่อไปได้จัดการดูแล จากนั้นท่านจึงเก็บกลด บาตร ไตรจีวรแล้วออกจาริกธุดงค์ โดยท่านได้จาริกเข้าไปปฏิบัติธรรมที่ธุดงค์สถาน "ถ้ำพระ"

ปีพุทธศักราช ๒๕๓๐ พระถวิล  จนฺทสโร ได้จาริกธุดงค์มุ่งสู่การปฏิบัติธรรมโดยได้ไป พักค้างปักกลดที่“ถ้ำพระ” อีกครั้ง ซึ่งแต่ก่อนนั้นถ้ำพระยังเป็นป่ารกชัฏ ภูเขาหิน มีแต่ถ้ำ ยังไม่ได้ตั้งเป็นวัด เป็นเพียงธุดงค์สถานถ้ำพระ ท่านได้มาแวะพักปฏิบัติธรรมที่ “ถ้ำพระ” โดยท่านปักกลดพักค้างอยู่ในถ้ำพระ ซึ่งเป็นถ้ำอยู่บนภูเขา ในเวลานั้นยังเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ สถานที่แห่งนี้เป็นที่สัปปายะ เงียบสงบ อยู่ห่างจากหมู่บ้านประมาณ ๓ กิโลเมตร ท่านได้มาพักปฏิบัติธรรมที่ถ้ำพระแห่งนี้เป็นเวลาประมาณ ๗ วัน ท่านได้นิมิตฝันไปว่ามีโยมคุณยายผู้หญิงท่านหนึ่ง แต่งกายด้วยเครื่องแต่งกายโบราณแบบล้านนาทางเหนือมาเข้านิมิตฝัน หญิงผู้นี้นิมนต์ให้ท่านอยู่จำวัดที่สถานปฏิบัติธรรมแห่งนี้ การมานิมิตฝันนั้นได้เกิดขึ้นติดต่อกันเป็นเวลา ๓ คืน พระถวิล จนฺทสโร ท่านก็มิได้รับกิจนิมนต์นั้น

พระถวิล จนฺทสโร ท่านได้ออกจาริกธุดงค์ต่อไปอีก โดยจาริกไปพักปฏิบัติธรรมอยู่ที่ป่าช้าผีดิบบ้านคลองเตย อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก ท่านก็ได้นิมิตฝันว่าท่านได้เหาะเข้ามาอยู่ยังสถานปฏิบัติธรรมถ้ำพระ อีกครั้งหนึ่งก่อนออกพรรษาปีพุทธศักราช ๒๕๓๑

ในปีพุทธศักราช ๒๕๓๑-๓๒ นั้น ท่านก็ได้เดินทางจาริกธุดงค์ย้อนกลับขึ้นมาทางภาคเหนืออีกครั้ง โดยมีจุดหมายปลายทางคือ เชียงราย ในครั้งนี้ท่านได้แวะเข้ามาพักปฏิบัติธรรมที่ ถ้ำพระ นับแต่นั้นมาท่านก็อยู่จำพรรษาในสถานที่ถ้ำพระแห่งนี้ (รายละเอียดส่วนนี้อ่านได้ในประวัติหลวงพ่อถวิล จนฺทสระ)

ถ้ำพระและป่ารกชัฏ

 

ถ้ำพระ แห่งนี้ แต่แรกนั้นยังเป็นทุ่งโล่งที่โอบล้อมไปด้วยภูเขาหิน มีป่าไม้ปกคลุมโดยรอบ มีถ้ำที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ๓-๔ ถ้ำ ตั้งอยู่ในพื้นที่ราชพัสดุและที่ดินของกรมป่าไม้

นาม "ถ้ำพระ"
สาเหตุที่ชาวบ้านเรียกพื้นที่แห่งนี้ว่า"ถ้ำพระ" เพราะในอดีตนั้นถ้ำแห่งนี้มีพระพุทธรูปโบราณอยู่ในถ้ำเป็นจำนวนมาก โดยชาวบ้านก็ไม่รู้ว่าพระพุทธรูปเหล่านี้มาจากไหน มาอยู่ในถ้ำแห่งนี้ได้อย่างไร จึงทำให้ชาวบ้านพากันเรียกขานว่าเป็น ถ้ำพระ แต่ในปัจจุบันบริเวณปากถ้ำหลายแห่งปิดตัวลงเองโดยอัตโนมัติตามธรรมชาติ เหลือไว้เฉพาะพื้นที่บริเวณโพรงถ้ำเป็นพื้นที่สำหรับให้สงฆ์ใช้ทำสังฆกรรมเท่านั้น

พระถวิล จนฺทสโร เมื่อท่านตัดสินใจที่จะตั้งสำนักปฏิบัติธรรมในที่แห่งนี้ด้วยเห็นเป็นที่สัปปายะ เงียบสงบร่มรื่น ห่างจากหมู่บ้านประมาณ ๓ ก.ม. เหมาะแก่การบำเพ็ญเพียรทางจิต และ ยังมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อประโยชน์สำหรับการปฏิบัติธรรมนั้นเอง ขณะนั้นได้มีผู้มีจิตศรัทธาเดินทางมาขอจัดทำผ้าป่าสร้างศาลาธรรมหลังเล็กๆ ถวายให้กับพระถวิล จนฺทสโร ศาลาธรรมหลังแรกของสถานปฏิบัติธรรมถ้ำพระจึงถูกจัดสร้างขึ้นอย่างง่ายๆ ด้วยแรงงานจากชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในละแวกใกล้เคียงแห่งนั้น ด้วยความประหยัดแต่มุ่งเน้นประโยชน์สูงสุดในทางพระพุทธศาสนา

ท่านได้ชักชวนเชิญชวนสาธุชนมาร่วมปฏิบัติธรรมซึ่งก็มีสาธุชนมาร่วมปฏิบัติธรรมร่วมร้อยชีวิต เมื่อได้ผลดังนั้นท่านจึงดำริจัดงานปฏิบัติธรรม ปริวาสกรรม เพื่อสงเคราะห์แด่หมู่สงฆ์ ทั้งยังเมตตานำพระภิกษุสงฆ์และสาธุชนร่วมปฏิบัติธรรมมาโดยตลอดนับแต่นั้นจวบจนปัจจุบัน และเมตตาตั้งชื่อสถานปฏิบัติธรรมแห่งนี้ว่า ธุดงค์สถานถ้ำพระ

ธุดงค์สถานถ้ำพระ ในพื้นที่แห่งนี้ยังไม่มีอาคารที่พักเพื่อรองรับผู้ปฏิบัติธรรม พระถวิล จนฺทสโร ท่านจึงได้ขอรอมฟางข้าวจากชาวบ้านที่ทำนาหลังเก็บเกี่ยวข้าวก็จะเหลือฟางข้าวทิ้งไว้ ท่านจึงขอนำมาทำเป็นที่พัก โดยมีชาวบ้านใกล้ถ้ำพระได้เข้ามาช่วยกันจัดทำศาลามุงฟาง นำไม้ไผ่มาตอกเป็นเสา สานไม้ไผ่เป็นโครงเพื่อทำฝาผนังจากฟางข้าว ทุกสิ่งที่ประกอบเป็นห้องพักจึงทำมาจากฟางข้าวของชาวนาในละแวกรอบถ้ำพระแห่งนั้น โดยได้แรงกายและน้ำใจจากชาวบ้าน ที่ต้องการให้มีพระภิกษุสงฆ์ได้มาอยู่จำพรรษา นำปฏิบัติธรรม การสร้างห้องพักมุงฟางจึงเกิดขึ้นมา ได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ โดยผู้ที่ประสงค์จะร่วมปฏิบัติธรรมก็ไม่มีท่านใดรังเกียจห้องพักมุงฟางแห่งนี้ แต่ในครั้งแรกกลับมีผู้มาเข้าร่วมปฏิบัติธรรมจำนวนมากพอควร ถือเป็นนิมิตหมายอันดีที่ทำให้พระถวิล จนฺทสโร ท่านได้มองเห็นแนวทางในการที่จะส่งเสริมให้สาธุชนได้ร่วมปฏิบัติธรรม ปลูกฝังศีลธรรมให้กับสาธุชนญาติธรรม ท่านจึงได้กราบนิมนต์พระภิกษุสงฆ์และชักชวน เชิญชวนญาติธรรมให้มาร่วมปฏิบัติธรรม

ศาลามุงฟางและทุ่งโล่ง

 

ศาลามุงฟาง
ฟางข้าวได้ถูกดัดแปลงนำมาใช้ได้อย่างคุ้มค่้าและก่อประโยชน์อย่างยิ่ง แต่ด้วยในเวลานั้นถ้ำพระ ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ผู้ปฏิบัติธรรมต้องใช้แสงสว่างจากแสงเทียน แต่แล้วก็เกิดเหตุขึ้นเมื่อผู้สูงอายุที่มาร่วมปฏิบัติธรรมได้ทำเทียนล้ม จึงเกิดไฟลุกไหม้ติดฟางเป็นที่โกลาหลขึ้น

หลวงพ่อถวิล จนฺทสโร ในขณะนั้นท่านจึงเริ่มพัฒนาโดยการยืมและเช่าเต้นท์มากางกันแดด-ฝน เป็นที่พักให้กับผู้ปฏิบัติธรรม โดยเริ่มโครงการบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อน เป็นการอบรมเด็กที่มารับการบรรพชาเป็นสามเณร ซึ่งก็ได้มีญาติธรรมที่เคยมาร่วมปฏิบัติธรรมนำบุตรหลานมาบรรพชาภาคฤดูร้อนเป็นจำนวนมาก ญาติธรรมและสามเณรจึงมีที่พักเป็นเต้นท์ผ้าใบ พระภิกษุสงฆ์ก็ใช้กลดกางรอบสระน้ำ แต่ปัญหาคงยังไม่จบลงโดยง่าย เพราะเมื่อใช้เต้นท์กาง ครั้นพอฝนตกลงมาพร้อมด้วยลมพัดจึงทำให้น้ำฝนไหลนองเข้าเต้นท์ที่พัก ลมแรงพัดตีเต้นท์กระจุยกระจาย จนทำให้เณรร่วมร้อยชีวิตต้องช่วยกันหอบผ้าและกลดวิ่งหนีฝนที่ไหลเข้าเต้น์กันอย่างชุลมุนวุ่นวาย

"สร้างลานธรรม"

   
 
 
 
 
 
 

การจัดสร้าง"ลานธรรม"
พระถวิล จนฺทสโร ท่านเห็นว่าพื้นที่โดยรอบของถ้ำพระบำเพ็ญบุญเป็นถ้ำและภูเขาหิน รายล้อมไปด้วยป่าอันร่มรื่น จึงมีดำริในการจัดพื้นที่เพื่อให้มีสถานที่สำหรับให้พระภิกษุสงฆ์และสาธุชน ได้มีสถานที่ปฏิบัติธรรมเป็นกิจลักษณะ ท่านจึงประชุมขอแรงจากชาวบ้านและพระภิกษุสงฆ์ ได้ช่วยกันจัดระเบียบพื้นที่ถ้ำพระขึ้นใหม่ โดยการถากถางจัดการความรกชัฏเหล่านั้น แล้วจัดสร้างที่ปฏิบัติธรรมโดยท่านประสงค์จะสร้าง "ลานปฏิบัติธรรม" ขึ้นบนเชิงเขาแห่งนี้

การจัดทำสถานลานปฏิบัติธรรมแห่งนี้นั้น หลวงพ่อท่านได้เมตตาเล่าไว้ว่า ท่านได้นิมิตฝันว่า สถานลานธรรมที่จะดำเนินการสร้างขึ้นในที่แห่งนี้นั้น รูปแบบของสถานลานธรรมจะเกิดขึ้นบนเชิงเขา โดยมีบันไดทางขึ้นสองข้างเป็นรูปทรงกลมดั่งรอยเท้าช้างเป็นทางเดินซ้าย-ขวา ตรงกลางเป็นกระบะใหญ่เพื่อปลูกดอกไม้ให้สวยงาม ด้านบนเป็นรูปครึ่งวงกลมลดลั่นเป็นชั้นๆ ตามลำดับ อุปมาเปรียบได้ดั่งลำดับชั้นของการปฏิบัติธรรมตามลำดับขั้นตอน อุปมาบันไดคือทางเดินเข้าสู่หนทางแห่งมรรค-ผล

  • ลานธรรมชั้นแรก..อุปมาคือพระโสดาบัน
  • ลานธรรมชั้นสอง..อุปมาคือพระสกิทาคามี
  • ลานธรรมชั้นสาม..อุปมาคือพระอนาคามี
  • ลานธรรมชั้นสี่..คือพระอรหันต์ และ
  • ตรงใจกลางสูงสุดของลานธรรมมีพระพุทธรูป เป็นพระประธานตั้งอยู่ในซุ้ม อุปมาดั่งเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ และมีซุ้มอาสนะมุงฟางเพื่อให้พระสงฆ์แสดงธรรม

เมื่อท่านได้นิมิตฝันเช่นนั้น จึงได้เล่าความฝันให้กับคณะพระภิกษุสงฆ์ลูกศิษย์รับฟัง พระภิกษุสงฆ์ท่านจึงรับอาสาได้ร่วมกันวาดภาพตามนิมิตฝันของหลวงพ่อถวิล จนฺทสโร ในเวลานั้น เพื่อใช้เป็นแผนผังในการดำเนินการจัดสร้าง "ลานปฏิบัติธรรม" ขึ้นบนเชิงเขาแห่งนี้

สร้างศาลาปฏิบัติธรรม

 
 
 
 
 
 
 

สร้างศาลาปฏิบัติธรรมจันทนิภากร ๑
หลวงพ่อถวิล จนฺทสโร
เมื่อมีพระภิกษุสงฆ์และสาธุชนเข้าไปร่วมปฏิบัติธรรมเพิ่มมากขึ้น ท่านจึงดำริที่จะจัดสร้างศาลาปฏิบัติธรรมหลังใหญ่ ทั้งนี้ก็เพราะท่านเห็นถึงความลำบากของญาติธรรม ซึ่งบางครั้งที่ใช้เต้นท์กางเป็นที่พัก แต่เมื่อฝนตกลงมาอย่างหนักก็ทำให้น้ำเจิ่งนอง เต้นท์ที่พักถูกลมพายุตีจนกระเจิง ผ้าห่ม ที่นอน หมอน มุ้ง ต่างก็เปียกฝนจนเกิดความเสียหายหลายครั้ง ความมุ่งมั่นที่ท่านจะสร้างศาลาขึ้นเพื่อใช้เป็นที่ปฏิบัติธรรมรวมถึงเป็นที่พักมีอยู่ตลอดเวลา แต่ความลำบากยุ่งยากก็เกิดขึ้นเป็นเครื่องทดลองตลอดเวลานั้นอีกเช่นกัน ทั้งนี้ด้วยท่านเป็นพระที่อยู่ป่าไม่มีปัจจัยที่จะใช้สร้าง การจะสร้างศาลาหลังนี้คงต้องใช้งบประมาณหลายล้านบาท

ปีนั้นเองได้มีกลุ่มท่านผู้มีจิตศรัทธาโดยท่านเหล่านี้ได้เดินทางไปเที่ยวเชียงราย ในช่วงวันหยุดสงกรานต์และได้โทรศัพท์ไปสอบถามถึงหนทางที่จะไปสู่ ถ้ำพระ พร้อมแจ้งความประสงค์ว่าในวันที่ ๑๙ เมษายน เวลา ๕ โมงเย็น ทางคณะจะแวะไปทอดผ้าป่า เพราะเป็นทางผ่าน ซึ่งหลวงพ่อท่านก็รับฟังและก็รับรู้ไว้เพียงนั้น เพราะผู้ที่โทรศัพท์ไปก็ไม่ได้รู้จักหลวงพ่อและไม่เคยเดินทางไปที่แห่งนี้มาก่อน จึงไม่มีอะไรเป็นเรื่องรับรองว่าจะเป็นดังนั้นหรือไม่ แต่เมื่อถึงกำหนดทั้งคณะก็มาตามที่นัดหมายไว้ ทั้งคณะได้ขึ้นสู่ศาลาหลังเล็กและก็ตั้งต้นผ้าป่าอย่างง่ายๆ ร่วมลงขันช่วยกันรวบรวมปัจจัย เป็นจำนวนเงิน ๑ ล้านบาท โดยไม่มีเงื่อนไขทั้งสิ้น หลวงพ่อเองก็คิดไม่ถึงว่าทุกท่านเหล่านี้จะสร้างกุศลอย่างง่ายๆ ไม่มีพิธีกรรมใดๆ ไม่ต้องการสิ่งใดตอบแทน การทอดผ้าป่าถวายปัจจัยจึงเกิดขึ้นโดยไม่มีกำหนดการใด ทำบุญทอดผ้าป่าเสร็จก็พากันเดินทางต่อไป เป็นที่น่าอนุโมทนาอย่างยิ่ง

ปัจจัยเหล่านั้นเป็นต้นบุญเบื้องต้นที่ทำให้ หลวงพ่อถวิล จนฺทสโร ได้ริเริ่มก่อสร้าง ศาลาปฏิบัติธรรมจันทนิภากร๑ ขึ้นมา เมื่อศาลาปฏิบัติธรรมเริ่มก่อสร้างรากฐาน ก็ทำให้ศรัทธาญาติธรรมคือ คุณแม่วิภา พิสิฐบัณฑูรย์ ได้เป็นเจ้าภาพร่วมมุงหลังคา ร่วมถวายกระเบื้องปูพื้น พร้อมญาติธรรมผู้มีจิตศรัทธาได้ร่วมกันถวาย ปูน อิฐ หิน ทราย กระทั่งเข้าสู่ปีที่ ๔ ศาลาหลังนี้จึงสำเร็จลุล่วงลงด้วยดี ใช้อรรถประโยชน์ได้อย่างสูงสุดในกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาตราบจนปัจจุบัน และเมื่อวัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญได้รับการแต่งตั้งจาก กรมศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ ให้วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ เป็น ศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติประจำจังหวัดเชียงราย แห่งที่ ๕ เนื่องในมหามงคลวโรกาสที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงครองราชย์ครบ ๖๐ ปี และได้รับแต่งตั้งเป็น "ศูนย์พัฒนาคุณธรรม-จริยธรรม ประจำจังหวัดเชียงราย" เพื่อเป็นสถานที่อบรมข้าราชการ หน่วยงาน รัฐวิสาหกิจ องค์กรนิสิต นักศึกษาและเยาวชน อบรมผู้นำ อ.บ.ต. และผู้นำชุมชนในจังหวัดเชียงราย อาคารหลังนี้จึงได้รับการตั้งชื่อเป็น "อาคารเฉลิมพระเกียรติ"

"อุโบสถถ้ำ" 

 
   

"อุโบสถถ้ำ"                             
ถ้ำพระ เป็นที่สัปปายะ มีถ้ำตามธรรมชาติจำนวน ๔-๕ ถ้ำ ดังนั้นท่านจึงใช้ "ถ้ำ" สมมติเป็นอุโบสถชั่วคราว ทั้งนี้ ถ้ำพระ ยังไม่มีอุโบสถใช้ แต่การจัดทำสังฆกรรมสำหรับพระภิกษุสงฆ์ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้อุโบสถในการทำสังฆกรรม ถ้ำที่ใช้เป็นอุโบสถชั่วคราวก็คับแคบ บรรจุพระภิกษุสงฆ์ในการทำสังฆกรรมได้ประมาณ ๒๐-๓๐ รูป และในระหว่างจำพรรษา "ถ้ำ" ก็มีน้ำเจิ่งนอง ซึ่งเมื่อพระภิกษุสงฆ์ใช้ ถ้ำ ในการทำสังฆกรรม เช่นบวชพระ พื้นถ้ำก็ชื้นแฉะไปด้วยน้ำ ก่อให้เกิดความลำบากแก่พระภิกษุสงฆ์เป็นอย่างยิ่ง ซึ่ง
พระครูจันทนิภากร (หลวงพ่อถวิล จนฺทสโร) เมื่อได้นำปฏิบัติธรรมและเผยแผ่ธรรม จนเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในหมู่พระภิกษุสงฆ์ ผู้จาริกแสวงบุญและธุดงค์แวะเวียนมาปฏิบัติธรรมยังสถานที่แห่งนี้ ท่านได้ริเริ่มจัดงาน "ปริวาสกรรม" เพื่อสงเคราะห์แด่หมู่พระภิกษุสงฆ์

หลวงพ่อถวิล จนฺทสโร ได้เปลี่ยนชื่อจากธุดงค์สถานถ้ำพระ" เป็นสำนักปฏิบัติธรรม ถ้ำพระบำเพ็ญบุญ และได้ขอพระราชทานวิสุงคามสีมาจากเดิมที่เป็นสำนักปฏิบัติธรรม ถ้ำพระบำเพ็ญบุญ เป็น วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ ให้ถูกต้องตามกฏของมหาเถรสมาคม

ในวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๓ วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ ได้รับการแต่งตั้งจาก กรมศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ ให้วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ เป็น ศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติประจำจังหวัดเชียงราย แห่งที่ ๕ เนื่องในมหามงคลวโรกาสที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงครองราชย์ครบ ๖๐ ปี และได้รับแต่งตั้งเป็น "ศูนย์พัฒนาคุณธรรม-จริยธรรม ประจำจังหวัดเชียงราย" เพื่อเป็นสถานที่อบรมข้าราชการ หน่วยงาน รัฐวิสาหกิจ อบรมผู้นำ อ.บ.ต. และผู้นำชุมชนในจังหวัดเชียงรายอีกประการหนึ่งด้วย

สร้างอุโบสถ

 
 
 

สร้างอุโบสถ
หลวงพ่อถวิล จนฺทสโร ท่านมีดำริที่จะสร้างอุโบสถขึ้นด้วยเหตุปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ ก่อให้เกิดความจำเป็นที่ท่านดำริก่อสร้างอุโบสถเพื่อเป็นประโยชน์โดยตรงไว้ในพระพุทธศาสนา และเพื่อประโยชน์ใหญ่แด่หมู่พระภิกษุสงฆ์ที่จำเป็นต้องใช้อุโบสถในการทำสังฆกรรม ไม่เพียงเฉพาะงานปริวาสกรรมสำหรับพระภิกษุเท่านั้น แต่ยังใช้เป็นสถานที่บรรพชา-อุปสมบท แก่ผู้ที่ประสงค์จะบรรพชา-อุปสมบทเป็นพระภิกษุสงฆ์ ณ วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญแห่งนี้

อุโบสถ วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ จึงมากด้วยประโยชน์คุณูปการดังกล่าว อุโบสถ เป็น วิสุงคามสีมา เพื่อยังประโยชน์สำหรับสืบทอดพระพุทธศาสนาและเกื้อกูลแด่หมู่สงฆ์ สามเณร ชีพราหมณ์ ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ อันเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงพระธรรมวินัย และสืบทอดพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรือง เป็นอานิสงส์อย่างยิ่งแห่งการ สร้างอุโบสถ ซึ่งเป็น วิหารทาน มีอานิสงส์ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงตรัสสรรเสริญถึงอานิสงส์แห่งบุญ และแสดงธรรมเกี่ยวกับเรื่องการสร้างวัดหรือส่วนประกอบของวัด เช่น ที่ดินหรือศาสนวัตถุต่างๆ โบสถ์ วิหาร ศาลา กุฏิสงฆ์ เสนาสนะถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ ไว้ดังนี้

อานิสงส์แห่งวิหารทาน

  1. "ผู้ใดให้ที่พักอาศัย ผู้นั้นชื่อว่าให้สิ่งทั้งปวง" (สังยุตตนิกาย)
  2. "ผู้ใดให้ที่พักอาศัย ย่อมมีบุญเจริญในกาลทุกเมื่อ ทั้งกลางวันและกลางคืน เขาทั้งหลายตั้งอยู่ในธรรม สมบูรณ์ด้วยศีลและเป็นผู้ไปสวรรค์"(วนโรปสูตร)
  3. พระพุทธองค์ทรงยืนยันให้เห็นชัดเจนว่า การถวายวิหาร(วัด) ที่อยู่อาศัยแด่พระภิกษุสงฆ์เป็นสมุฏฐาน ก่อให้เกิดประโยชน์สุขทั้งผู้รับและผู้ถวาย ซึ่งทรงแสดงอานิสงส์ไว้ว่าเป็นยอดของสังฆทานและเป็นปัจจัยให้ประสบความเกษมศานต์ จนบรรลุถึงพระนิพพาน (วิหารทานกถา) โดยตรัสไว้ว่า
    "วิหารย่อมป้องกันหนาว ร้อน และเนื้อร้าย นอกจากนั้นยังป้องกันงูและยุง ฝนในสิสิรฤดู นอกจากนั้นวิหารยังป้องกันลมและแดดอันกล้าที่เกิดขึ้นได้ การถวายวิหารแก่สงฆ์ เพื่อหลีกเร้นอยู่ เพื่อความสุข เพื่อเพ่งพิจารณาและเพื่อเห็นแจ้ง

    พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญว่า เป็นทานอันเลิศ เพราะเหตุนั้นแล คนผู้ฉลาดเมื่อเล็งเห็นประโยชน์ตน พึงสร้างวิหารอันรื่นรมย์ให้ภิกษุทั้งหลายผู้พหูสูต อยู่ในวิหารนี้เถิด อนึ่งพึงมีใจเลื่อมใสถวายข้าว น้ำ ผ้าและเสนาสนะอันเหมาะสมแก่พวกเธอ ในพวกเธอผู้ซื่อตรง พราะพวกเธอย่อมแสดงธรรมอันเป็นเครื่องบรรเทาสรรพทุกข์แก่เขา เขารู้ทั่วถึงแล้ว จะเป็นผู้ไม่มีอาสวะ ปรินิพพานในโลกนี้
    "
     

    ทานํ สคฺคสฺส โสปนํ  ทานกุศลจัดว่าเป็นบันได้ขั้นแรกที่จะนำขึ้นสู่สวรรค์
    ทานํ ปาเถยฺยมุตตมํ  ทานกุศลจัดว่าเป็นเสบียงอันประเสริฐ
    ทานํ อุชุคตํ มคฺคํ     ทานกุศลจัดว่าเป็นทางสายตรงไปสู่พระนิพพาน
    ทานํ โมกฺขปทํ วรํ    ทานกุศลจัดว่าเป็นบาทให้ถึงซึ่งความหลุดพ้น

    ารสร้างวัด สร้างอุโบสถของพระสงฆ์หรือของอุบาสกอุบาสิกาต่อพุทธศาสนาก็ดี จัดเป็นวิหารทาน เป็น ทานอันเลิศ ตามที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ในพระไตรปิฎก

การสร้างอุโบสถวัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ นำโดยคณะศรัทธา คุณประชุม มาลีนนท์ พร้อมครอบครัว มาลีนนท์ และคณะ ได้เป็นเจ้าภาพต้นบุญในการดำเนินการริเริ่มก่อสร้างอุโบสถหลังดังกล่าวนี้ โดยได้มอบหมายให้ คุณพรเดช อุยะนันทน์ เป็นวิศวกรดูแลและะควบคุมแนะนำการจัดสร้าง ร่วมด้วยคุณศิริชัย รณเกียรติ, คุณศรีชัย รุจิรวัฒนกุล และคุณจมร ปรปักษ์ปลัย สถาปนิกจากกรมศิลปากรเป็นผู้ถวายการออกแบบอุโบสถ

สถาปัตยกรรมล้านนาประยุกต์
โดยรูปแบบอุโบสถนั้นออกแบบเป็นอุโบสถแบบ ๒ ชั้น ศิลปล้านนาประยุกต์ มีความกว้าง ๑๓ เมตร ความยาว ๓๓ เมตร สามารถรองรับการทำสังฆกรรมสำหรับพระสงฆ์ลงทำสังฆกรรมได้ประมาณ ๑๐๐-๑๒๐ รูป ซึ่งก็เป็นอุโบสถที่มีขนาดกระทัดรัด งดงามเย็นตา เย็นใจ
 

การสร้างอุโบสถหลังนี้ หลวงพ่อถวิล จนฺทสโร ท่านดำริให้ปรับพื้นที่โล่งบนภูเขาสูง ให้เป็นพื้นที่ราบเพื่อสำหรับใช้เป็นที่ตั้งของโบสถ์ ซึ่งเดิมบริเวณที่จะทำการปลูกสร้างอุโบสถนั้นเป็นที่ดินเชิงเขา ท่านได้ทำการปรับหน้าดินให้ราบ แล้วนำดินส่วนที่ปรับออกมานั้นนำไปถมที่ลุ่มน้ำขังบริเวณหน้าวัดเพื่อใช้้สำหรับเป็นที่จอดรถ หรืออาจจะทำเป็นลานปฏิบัติธรรมในอนาคตภายหน้า

ในการนี้ยังได้รับความเมตตาจาก พระครูบาเจ้าบุญชุ่ม ญาณสังวโร ได้มีเมตตาช่วยเหลือกิจกรรมการก่อสร้างอุโบสถหลังนี้ให้ดำเนินการลุล่วงด้วยดีตลอดมา

   
 
   

อุโบสถชั้นบน เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปพระประธาน"พระพุทธสุวรรติโลกนาถปุญญาวาสสถิต"และพื้นที่บริเวณชั้นบนนี้เพื่อทำสังฆกรรมสำหรับพระภิกษุสงฆ์ ส่วน
อุโบสถชั้นล่าง
เป็นที่สำหรับอบรมการปฏิบัติธรรมที่เป็นหมู่คณะ หรือปรับทำเป็นห้องสมุดในอนาคตส่วนหนึ่งเพื่อเก็บรวบรวมหนังสือธรรมะต่างๆ ให้ผู้ที่สนใจได้เล่าเรียนอ่านประดับความรู้

สร้างพระประธานอุโบสถ

 
ทุ่งลุมพลี สถานที่ทำพิธีหล่อพระประธาน
 

พิธีเททองหล่อ"พระพุทธสุวรรติโลกนาถปุญญาวาสสถิต"
หลวงพ่อถวิล จนฺทสโร เมื่อทำการก่อสร้างอุโบสถเสร็จเรียบร้อยดีแล้ว จึงมีดำริในการจัดสร้างพระพุทธรูปพระประธานเพื่อประดิษฐานไว้ในอุโบสถวัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ โดยคุณประชุม มาลีนนท์ พร้อมครอบครัวมาลีนนท์และสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาได้รับเป็นเจ้าภาพจัดสร้าง โดยได้รับพระเมตตาจาก สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ทรงประทานพระนามพระพุทธรูปที่ พระพุทธสุวรรณติโลกนาถปุญญาวาสสถิต และทรงพระเมตตาประทานพระสารีริกธาตุเพื่อบรรจุไว้ในพระเศียรและส่วนต่างๆ ของพระพุทธรูป และได้จัดพิธีเททองหล่อพระพุทธรูป เมื่อ วันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๕๓ ลานพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรทรงม้า ทุ่งลุมพลี ต.ภูเขาทอง อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา

พิธียกช่อฟ้าอุโบสถ

   
 

พิธียกช่อฟ้าอุโบสถ วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ เมื่อได้ทำการก่อสร้างอุโบสถเป็นที่เรียบร้อยแล้วนั้น หลวงพ่อถวิล จนฺทสโร ซึ่งเป็นประธานสงฆ์และเจ้าอาวาสวัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ จึงได้จัดพิธีกรรมยกช่อฟ้าอุโบสถ อันเป็นส่วนประกอบของอุโบสถ วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๓

พิธีอัญเชิญวิสุงคามสีมา

   
 

พิธีอัญเชิญวิสุงคามสีมา วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ ขอรับพระราชทานวิสุงคามสีมา ซึ่งมีขั้นตอนและวิธีดำเนินการตามที่ได้กำหนดไว้ในกฎกระทรวงฉบับที่ ๑ (พ.ศ. ๒๕๐๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕

การขอพระราชทานวิสุงคามสีมานั้นเพื่อขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเพื่อถวายที่ดินบริเวณนั้น ให้เป็นสิทธิ์ของสงฆ์ ที่เรียกว่าขอ วิสุงคามสีมา คือ เขตแดนที่พระเจ้าแผ่นดินได้พระราชทานแก่สงฆ์ เพื่อใช้เป็นที่ทำสังฆกรรม เป็นการแยกส่วนบ้านออกจากส่วนวัด ซึ่งคำว่า วิสุง แปลว่า ต่างหาก ส่วนคำว่า คาม แปลว่า บ้าน

การที่ต้องขอพระบรมราชานุญาตเพราะถือว่าพระมหากษัตริย์เป็นเจ้าของแผ่นดิน การจะกระทำการใดๆ บนพื้นแผ่นดินจึงต้องขอพระบรมราชานุญาตก่อน เมื่อมีพระบรมราชานุญาตพระราชทานที่ดินนั้นเป็น เขตพุทธาวาสแก่หมู่สงฆ์แล้ว ที่ดินที่พระราชทานนั้นก็เป็นสิทธิ์ขาดของพระพุทธศาสนา ซึ่งใครๆ จะทำการซื้อ ขาย จำหน่าย จ่ายโอน มิได้โดยเด็ดขาด ถือเป็นเขตพุทธาวาส คือ เป็นอาวาสหรือเขตแดนของพระพุทธเจ้า และพระพุทธศาสนา หรือเป็นสิทธิของพระภิกษุสงฆ์โดยถูกต้องสมบูรณ์

พิธีผูกพัทธสีมาฝังลูกนิมิตอุโบสถ

   
 

พิธีผูกพัทธสีมา..ฝังลูกนิมิตอุโบสถ
หลวงพ่อถวิล จนฺทสโร ประธานสงฆ-์เจ้าอาวาส วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ เมื่อได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาแล้วนั้น จึงได้จัดพิธีกรรมทางศาสนาด้วยการจัดทำพิธีกรรม ฝังลูกนิมิต เพื่อเป็นการบ่งบอกเขตของวิสุงคามสีมาหรือ เขตวัด ให้ถูกต้อง ตามหลักกฏหมายของบ้านเมือง หรือผูกพัทธสีมา โดยเจ้าภาพลูกนิมิตเอกนำโดย คุณไพรวงษ์-คุณภัสสรา เตชะณรงค์และครอบครัวเตชะณรงค์ ตามด้วยเจ้าภาพส่วนอื่นอีกหลายท่าน

คำว่า “สีมา”แปลว่า“เขตแดน” ที่พระพุทธองค์ได้กำหนดไว้มี ๘ ประการ และเรียกเครื่องหมายบอกเขตแดนนี้ว่า “นิมิต" โดยในสมัยพุทธกาลใช้เครื่องหมายตามธรรมชาติ เช่น ก้อนหิน ต้นไม้ แต่นิมิตเหล่านี้ทำให้การกำหนดเขตแดนที่จะทำสังฆกรรมของสงฆ์ทำได้ยาก และมักคลาดเคลื่อน

ต่อมาจึงได้มีการพัฒนากำหนดนิมิตขึ้นใหม่อีกประเภทหนึ่งขึ้นแทน คือ เป็นนิมิตที่จัดสร้าง หรือทำขึ้นเฉพาะเช่น ขุดบ่อน้ำ คูน้ำ สระน้ำ และพัฒนามาใช้ก้อนหิน ที่ทำเป็นลูกกลมๆ เป็นเครื่องหมายที่ค่อนข้างถาวรขึ้นแทน และเรียกกันว่า “ลูกนิมิต”ดังที่เราเห็นกันอยู่ในปัจจุบัน รวมถึงมีการเรียกเขตแดนที่ใช้ทำสังฆกรรมนี้ว่า “อุโบสถ หรือ โบสถ์” ซึ่งสมัยก่อนโบสถ์คงมีลักษณะตามธรรมชาติมากกว่าจะเป็นถาวรวัตถุเช่นปัจจุบัน และเมื่อมี “ลูกนิมิต”เป็นเครื่องหมายบอกเขต ต่อมาก็มีพิธีที่เรียกว่าการ “ฝังลูกนิมิต” ขึ้นด้วย

สร้างอาคารที่พักผู้ปฏิบัติธรรม

 
   

สร้างอาคาร ๓ ชั้น ที่พักผู้ปฏิบัติธรรม
จากการที่ วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญโดยพระครูจันทนิภากร(หลวงพ่อถวิล จนฺทสโร) มุ่งเน้นการปฏิบัติธรรมไปในหลักของวิปัสสนากรรมฐานและสมถกรรมฐาน ตามหลักของพระพุทธศาสนา กอร์ปกับวัดยังมีสถานที่อันสัปปายะ สงบเงียบ สะอาด และวัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญยังได้รับแต่งตั้งเป็น "ศูนย์พัฒนาคุณธรรม-จริยธรรม ประจำจังหวัดเชียงรา" เพื่อเป็นสถานที่อบรมข้าราชการ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ อบรมผู้นำ อ.บ.ต. และผู้นำชุมชนในจังหวัดเชียงรายอีกประการหนึ่ง ทั้งได้รับการแต่งตั้งให้เป็น หน่วยอบรมประชาชน ประจำตำบล อ.บ.ต.ธารทอง และเป็นวัดกลุ่มเป้าหมายจัดดำเนินการตามโครงการ "แผ่นดินธรรมแผ่นดินทอง" หมู่บ้านรักษาศีล ๕ ประจำปีงบประมาณ ๒๕๕๘ นั้น จึงทำให้มีสาธุชน อุบาสก-อุบาสิกาเดินทางเข้าไปปฏิบัติธรรมตลอดปี ที่พักผู้ปฏิบัติธรรมจึงไม่เพียงพอที่จะรองรับสาธุชน

หลวงพ่อถวิล จนฺทสโร จึงดำริจัดสร้าง อาคารจันทนิภากร ๒ เป็นที่พักสำหรับผู้ปฏิบัติขึ้น ได้รับการถวายแบบอาคารจาก คุณพรเดช อุยะนันนท์ และยังปวารณาดูแล ให้คำปรึกษาในการก่อสร้างอาคาร รูปแบบเป็นอาคาร ๓ ชั้น มีจำนวนห้องพัก ๓๒ ห้อง แต่ละห้องบรรจุผู้เข้าปฏิบัติธรรมให้พักได้ห้องละ ๘-๑๐ ท่าน เมื่อเริ่มจัดสร้างจึงได้มีสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาได้ร่วมบริจาคช่วยอุดหนุนในการจัดสร้างตามกำลังทรัพย์ สร้างความสะดวกปลอดภัยให้กับผู้ปฏิบัติธรรมได้เป็นสัดส่วน โดยอาคารหลังนี้ได้วางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ ๓ มกราคม ๒๕๕๗ ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ ๑ ปี อาคารจึงเสร็จสมบูรณ์ สามารถใช้เป็นที่พักสำหรับผู้ปฏิบัติธรรมได้อย่างสะดวกปลอดภัยดียิ่ง

สร้างอาคารโรงทาน

   
 
 
 

การสร้างโรงทานพระ(ธรรม)ทำ
หลวงพ่อถวิล จนฺทสโร มีดำริในการจัดสร้างโรงทานวัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ สำหรับเป็นที่พักฉันภัตตาหาร
สืบเนื่องเมื่อมีงานปฏิบัติธรรมแล้วเกิดเหตุการณ์ฝนตกหนัก จนทำให้พระภิกษุสงฆ์และสาธุชนได้รับความลำบาก ไม่มีพี่พักเพื่อสำหรับนั่งฉันภัตตาหาร และสาธุชน อุบาสก-อุบาสิกาผู้ปฏิบัติธรรมก็ได้รับความเดือดร้อน ต้องพากันวิ่งหลบฝนเป็นทีโกลาหล สถานที่รองรับภายในวัดโดยส่วนมากเป็นพื้นที่โล่งสำหรับตั้งโต๊ะให้นั่งใต้ต้นไม้ แต่เมื่อมีฝนตกลงมาก็ทำให้พื้นที่เหล่านั้นเปียกแฉะไม่สามารถใช้งานได้

การก่อสร้างศาลาโรงฉัน โรงทาน จึงเริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๖๐ โดยหลวงพ่อถวิล จนฺทสโร ท่านได้เมตตาขอแรงจากพระภิกษุสงฆ์ภายในวัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ และจ้างแรงงานชาวบ้านอีกบางส่วนเพื่อร่วมกันดำเนินการก่อสร้างศาลาโรงทานหลังนี้ และได้รับสนับสนุนจากท่านผู้มีจิตเมตตาในบางหน่วยงาน และจากศรัทธาสาธุชนที่ได้เข้าไปร่วมปฏิบัติธรรม ที่เห็นถึงความจำเป็นของการก่อสร้างโรงทานหลังนี้ การก่อสร้างจึงดำเนินการเรื่อยมา กระทั่งเริ่มใช้งานได้บางส่วนและยังต้องปรับปรุงจนกว่าจะแล้วเสร็จต่อไป

ขอเชิญร่วมบุญสร้าง
พระมหาสถูปเจดีย์พุทธคยา(จำลอง)
ณ วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ
อ.พาน จ.เชียงราย

 
แบบพระมหาสถูปเจดีย์พุทธคยา(จำลอง)
 

"สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงตรัสสรรเสริญและแสดงธรรมเกี่ยวกับเรื่องการสร้างวัดหรือส่วนประกอบ ของวัด เช่น ที่ดิน หรือศาสนวัตถุต่างๆ โบสถ์ วิหาร ศาลา พระพุทธรูป กุฏิสงฆ์ เสนาสนะถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ผู้ประพฤติดี ปฏิบัติชอบ ไว้ดังนี้

  • ทานํ สคฺคสฺส โสปนํ   ทานกุศลจัดว่าเป็นบันได้ขั้นแรกที่จะนำขึ้นสู่สวรรค์
  • ทานํ ปาเถยฺยมุตตมํ  ทานกุศลจัดว่าเป็นเสบียงอันประเสริฐ
  • ทานํ อุชุคตํ มคฺคํ       ทานกุศลจัดว่าเป็นทางสายตรงไปสู่พระนิพพาน
  • ทานํ โมกฺขปทํ วรํ     ทานกุศลจัดว่าเป็นบาทให้ถึงซึ่งความหลุดพ้น

การสร้างวัด สร้างโบสถ์ ศาลา พระพุทธรูป อาคารที่พัก เพื่อถวายไว้กับวัดในพระพุทธศาสนาโดยพระสงฆ์องค์เจ้าก็ดี หรืออุบาสกอุบาสิกาต่อพุทธศาสนาก็ดี จัดเป็นทานอันเลิศ ตามที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ในพระไตรปิฎก

...พุทธคยา..คือสถานที่ตรัสรู้..ครั้งที่พระโพธิสัตว์สิทธัตถะทรงบำเพ็ญเพียร สั่งสมอบรมบารมีมายาวนานกระทั่งพระบารมีเต็มล้น จึงทรงเลือกสถานที่สำหรับบำเพ็ญเพียรครั้งสุดท้ายใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา สถานที่อันเป็นมงคลนั้นในปัจจุบันคือ พุทธคยา 
...พุทธคยา..จึงเป็นสถานที่พระพุทธองค์ทรงบำเพ็ญเพียร เป็นสถานที่พระโพธิสัตว์ทรงบรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ตรัสรู้อริยสัจ ๔ คือทางพ้นทุกข์ สำเร็จเป็นพระพุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ถือเป็นก้าวแรกแห่งการค้นพบพระสัทธรรม ก่อเกิดเป็นพระพุทธศาสนาที่ยั่งยืนสืบมาตราบกระทั่งปัจจุบัน
...พุทธคยา..จึงเป็นสัญลักษณ์แห่งการตรัสรู้ เป็นสถานที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้อริยสัจ ๔ ทรงค้นพบหนทางอันประเสริฐแห่งการพ้นทุกข์, อริยสัจ ๔ ที่พระพุทธองค์ทรงค้นพบคือทุกข์, สมุทัย, นิโรธ, มรรคหรือทุกข์, เหตุแห่งทุกข์, ทางแห่งการดับทุกข์, แนวปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์, พุทธคยาจึงเป็น ๑ ใน ๔ สังเวชนียสถานสำคัญในพระพุทธศาสนา และเป็นศาสนสถานอันเป็นสัญลักษณ์ หรือเป็นองค์ประกอบ ๑ ใน ๖ ประการของศาสนา 
...พุทธคยา(จำลอง)..สัญลักษณ์แห่งการตรัสรู้กำลังจะถูกจัดสร้างขึ้นโดยหลวงพ่อถวิล จันทสโร ณ วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ อ.พาน จ.เชียงราย โดยหลวงพ่อถวิล จนฺทสโร ได้มุ่งเน้นให้วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม-เผยแผ่ธรรม ปฏิบัติเพื่อมุ่งสู่ความพ้นทุกข์หรืออริยสัจ ๔ จะมีการจัดสร้างพระมหาสถูปเจดีย์พุทธคยา(จำลอง) ประดิษฐานไว้เพื่อให้สาธุชนที่เดินทางเข้าไปปฏิบัติธรรมแห่งนี้ ปฏิบัติตนเพื่อสั่งสมแนวทางแห่งการพ้นทุกข์ในที่สุด

วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ แห่งนี้ เป็นสถานที่ หลวงพ่อถวิล จนฺทสโร ท่านมุ่งเน้น นำในการปฏิบัติธรรม อันจะนำประโยชน์สุขมาสู่พระภิกษุสงฆ์และสาธุชน ที่มุ่งหวังหนทางแห่งความพ้นทุกข์ การดำริสร้างพระมหาสถูปเจดีย์พุทธคยา(จำลอง) อันเป็นสัญลักษณ์แห่งการตรัสรู้ของ องค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็เพื่อให้เกิดเป็นประโยชน์ต่อสาธุชน ได้ใช้เป็นที่ไหว้พระ สวดมนต์ ฝึกทำสมาธิ จึงถูกดำริให้สร้างขึ้นที่นี่ด้วย

จึงขอเชิญชวนสาธุชนท่านผู้มีจิตศรัทธา มาร่วมกันสร้างศาสนสถานอันเป็นบุญ ให้เกิดประโยชน์ในพระพุทธศาสนาโดยตรง ท่านที่ประสงค์จะร่วมทำบุญ ติดต่อขอรายละเอียดได้ที่ติดต่อร่วมบุญเจ้าภาพทอดกฐินสามัคคีได้ที่:
วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ โทร.๐๕๓-๑๘๔ ๓๒๕ หรือ


ร่วมสร้างบุญในนามชื่อบัญชี  
กองทุนสร้างสถูปเจดีย์พุทธคยา 

ธนาคาร: กรุงไทย, สาขา: พาน
เลขที่ : 522-0-45008-5

   
 
 
   

ผลงานและเกียรติคุณ
วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ

 

วัดในสังฆราชูปถัมภ์
วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ ได้รับพระเมตตาจาก สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ทรงรับวัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญไว้เป็น วัดในสังฆราชูปถัมภ์ เมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๕๔



 

   
รับรางวัล
วัดดีเด่นประจำจังหวัดเชียงราย

เป็น ๑ ใน ๕๐
วัดดีเด่นทั่วประเทศในปีพุทธชยันตี
 

วัดดีเด่นประจำจังหวัด
วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ ได้รับการแต่งตั้งเป็นวัดดีเด่นประจำจังหวัดเชียงราย โดยการสำรวจคัดเลือก จากสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดและได้รับการประกาศเกียรติคุณเป็นสำนักปฏิบัติธรรมดีเด่น จากสำนักงานพระพุทธศานาแห่งชาติประจำปีพุทธศักราช ๒๕๕๔ โดยพระครูจันทนิภากร (หลวงพ่อถวิล จนฺทสโร) เข้ารับใบประกาศเกียรติคุณ
"วัดดีเด่นประจำจังหวัดปีพุทธศักราช ๒๕๕๔ จากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
โดยสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ได้มีเมตตามอบให้กับวัดทั้งสิ้นจำนวน ๔๕ วัด

 

ความตามเอกสารของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้แจ้งไว้ดังปรากฏนี้ :

     ตามที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้มีนโยบายส่งเสริมพัฒนาในเชิงยกระดับให้มีคุณภาพ และ มาตรฐานในการดำเนินกิจการเผยแผ่พระพุทธศาสนาโดยประสานแจ้ง สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด ให้สำรวจและพิจารณาคัดเลือกสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดที่จัดตั้งขึ้นตามระเบียบมหาเถรสมาคม ว่าด้วยสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัด พ.ศ. ๒๕๔๓ ซึ่งมีคุณสมบัติตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด เพื่อเสนอเป็นสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดดีเด่น ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๕๔ นั้น

       บัดนี้ คณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกสำนักปฎิบัติธรรมประจำจังหวัดดีเด่น ซึ่งสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติแต่งตั้ง ได้พิจารณาคัดเลือกสำนักปฎิบัติธรรมประจำจังหวัด ที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด สมควรได้รับการประกาศเกียรติคุณเป็นสำนักปฏิบัติธรรม ประจำจังหวัดดีเด่น ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๕๔ จำนวน ๔๕ แห่ง เรียบร้อยแล้ว จึงประกาศให้ทราบโดยทั่วกันดังต่อไปนี้

  1. วัดปุรณาวาส ต.ศาลาธรรมสพน์ อ.ทวีวัฒนา กรุงเทพฯ 10170
  2. วัดโสมนัสวิหาร ต.วัดโสมนัสวิหาร อ.ป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ10100(ธ)
  3. วัดปทุมวนาราม ถ.พระราม 1 ต.ปทุมวัน อ.ปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330 (ธ)
  4. วัดวังขนายทายิการาม ต.วังขนาย อ.ท่าม่วง กาญจนบุรี 71110
  5. วัดประชานิยม 84 ถ.ถีนานนท์ ต.กาฬสินธุ์ อ.เมือง กาฬสินธุ์ 46000 (ธ)
  6. วัดเขาดิน ต.บางวัว อ.บางปะกง ฉะเชิงเทรา 24130
  7. วัดกรุณา ต.บางหลวง อ.สรรพยา ชัยนาท 17150
  8. วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ 395 ม.11 ต.ธารทอง อ.พาน เชียงราย 57250
  9. วัดพระธาตุดอยสุเทพ ต.สุเทพ อ.เมือง เชียงใหม่ 50000
  10. วัดห้วยจระเข้ 447 ถ.พิพิธประสาท ต.พระปฐมเจดีย์ อ.เมือง นครปฐม 73000
  11. วัดน้อยโพธิ์คำ ต.ในเมือง อ.เมือง นครพนม 48110
  12. วัดป่าหนองหิน ต.จักราช อ.จักราช นครราชสีมา 30230 (ธ)
  13. วัดพระมหาธาตุ ต.ในเมือง อ.เมือง นครศรีธรรมราช 80000 (ธ)
  14. วัดชลธาราวาส (วัดร่อน) 81 ม.2 ต.ตันหยงมัส อ.ระแงะ นราธิวาส 96130
  15. วัดขุนก้อง 224 ถ.โชคชัย-เดชอุดม ต.นางรอง อ.นางรอง บุรีรัมย์ 31110
  16. วัดซอยสามัคคี ต.คูคต อ.ลำลูกกา ปทุมธานี 12150
  17. วัดเขาอิติสุคโต ต.หัวหิน อ.หัวหิน ประจวบคีรีขันธ์ 77110
  18. วัดตาลเอน ม.1 ต.ตาลเอน อ.บางปะหัน อยุธยา 13220
  19. วัดอนาลโยทิพยาราม ต.สันป่าม่วง อ.เมือง พะเยา 56000 (ธ)
  20. วัดสวนร่มบารมี 99 ม.1 ต.วงฆ้อง อ.พรหมพิราม พิษณุโลก 65180
  21. วัดลิ้นช้าง ต.ยางน้ำกลัดเหนือ อ.หนองหญ้าปล้อง เพชรบุรี 76160
  22. วัดพระบาทมิ่งเมือง ต.ในเวียง อ.เมือง แพร่ 54000
  23. วัดรัตนวราราม ต.ท่ามะเดื่อ อ.บางแก้ว พัทลุง 93140
  24. วัดบรรพตมโนรมย์ ต.ในเมือง อ.เมือง มุกดาหาร 49000
  25. วัดขุนพรหมดำริ ต.ท่าสองคอน อ.เมือง มหาสารคาม 44000
  26. วัดเมืองยะลา ต.สะเตง อ.เมือง ยะลา 95000
  27. วัดสุวรรณคีรีวิหาร ต.เขานิเวศน์ อ.เมือง ระนอง 85000
  28. วัดมาบข่า ต.มาบข่า อ.นิคมพัฒนา ระยอง 21180
  29. วัดสิริจันทรนิมิตร ต.เขาพระงาม อ.เมือง ลพบุรี 15160 (ธ)
  30. วัดพระเจดีย์ซาวหลัง 268 ม.12 ต.ต้นธงชัย อ.เมืองลำปาง ลำปาง 52000
  31. วัดพระธาตุดอยเวียง ต.บ้านธิ อ.บ้านธิ ลำพูน 51180
  32. วัดเกียรติแก้วสามัคคี ต.ศรีแก้ว อ.ศรีรัตนะ ศรีสะเกษ 33240
  33. วัดอาจาโรรังสี 109 ม.4 ต.ไร่ อ.พรรณานิคม สกลนคร 47130 (ธ)
  34. วัดทรายขาว ต.ทุ่งหวัง อ.เมือง สงขลา 90000
  35. วัดลาดเป้ง ต.นางตะเคียน อ.เมือง สมุทรสงคราม 75000
  36. วัดโยธินประดิษฐ์ ต.สำโรง อ.พระประแดง สมุทรปราการ 10130
  37. วัดสิงห์สุทธาวาส ต.โพสังโฆ อ.ค่ายบางระจัน สิงห์บุรี 16150
  38. วัดพยัคฆาราม ต.ศรีประจันต์ อ.ศรีประจันต์ สุพรรณบุรี 72140
  39. วัดพัฒนาราม ต.ตลาด อ.เมือง สุราษฎร์ธานี 84000
  40. วัดเขาศาลาอตุลฐานะจาโร ต.จรัส อ.บัวเชด สุรินทร์ 32230 (ธ)
  41. วัดยอดแก้ว ต.จุมพล อ.โพนพิสัย หนองคาย 43120
  42. วัดพัฒนาราม ต.ตลาด อ.เมือง สุราษฎร์ธานี 84000
  43. วัดบ้านแขม ต.หัวดอน อ.เขื่องใน อุบลราชธานี 34150
  44. วัดนาหลวงถ้ำเก้ง ภูย่าอู่ บ้านนาหลวง ม.4 ต.คำด้วง อ.บ้านผือ อุดรธานี 41160
  45. วัดบ้านเก่าบ่อ ต.หนองแก้ว อ.หัวตะพาน อำนาจเจริญ 37240

ที่มา : สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาต

รับรางวัลหน่วยอบรมประจำตำบล(อ.ป.ต.)ดีเด่น
วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล อ.บ.ต.ธารทอง และได้รับคัดเลือกให้เป็นหน่วยอบรมดีเด่นประจำตำบล โดยได้รับรางวัล หน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล(อ.ป.ต.)ดีเด่น ๑๖ จังหวัดหนเหนือคณะสงฆ์ภาค ๔ โดยพระวิสุทธิวงศาจารย์ เจ้าคณะใหญ่หนเหนือเมตตาเป็นประธานในการมอบรางวัล ณ หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา จ.นครสวรรค์ โดยหลวงพ่อถวิล จนฺทสโร ประธานสงฆ์เป็นองค์แทนรับรางวัลในนามวัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ ต.ธารทอง อ.พาน จ.เชียงราย

   
 
 
     

หน่วยอบรมศีล ๕
วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ ได้รับมอบหมายให้เป็นสถานที่เป็นหน่วยอบรมโครงการศีล ๕ สัญจรบวรธรรม เป็นวัดกลุ่มเป้าหมายจัดดำเนินการตามโครงการแผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง หมู่บ้านรักษาศีล ๕ ประจำปีงบประมาณ ๒๕๕๘

ศูนย์พัฒนาคุณธรรม-จริยธรรม ประจำจังหวัดเชียงราย
วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ ได้รับแต่งตั้งเป็นสถานที่อบรมคุณธรรม-จริยธรรมประจำจังหวัดเชียงราย เพื่อให้บริการอบรมข้าราชการ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ องค์กรเอกชนและสถาบันการศึกษาต่างๆ

หน่วยอบรมองค์การบริหารตำบล
วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ ได้รับแต่งตั้งเป็นสถานที่อบรมผู้นำ อ.บ.ต. และผู้นำชุมชนในจังหวัดเชียงราย

 
 
   

กิจกรรมประจำปี

   
 
 
     

กิจกรรมประจำปี

  • งานปริวาสกรรมสำหรับพระภิกษุทั่วประเทศ วันที่  ๑-๑๐  กุมภาพันธ์ ของทุกปี
  • งานปริวาสกรรมสำหรับพระภิกษุทั่วประเทศ ก่อนกำหนดการเข้าพรรษาของพระภิกษุ ๑๕ วัน ของทุกปี (โดยนับจากวันแรกของปฏิทินการเข้าพรรษาประจำปีนั้นๆ ย้อนหลังลงมา ๑๕ วัน ตรงกับวันไหนก็ถือเอาวันที่นั้นเป็นวันแรกของการขอเข้าอยู่ปริวาสกรรมก่อนเข้าพรรษาจำนวน ๑๐ วัน ทั้งนี้เมื่อออกอัพภานก็จะมีเวลาเหลืออีก ๕ วันก่อนเข้าพรรษาไว้เพื่อความสะดวกสำหรับ
    พระภิกษุที่จะตัดสินใจเดินทางไปอยู่จำพรรษายังวัดใดวัดหนึ่งในพรรษานั้นๆ ของพระภิกษุ
  • จัดปฏิบัติธรรมในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ๓-๕ วัน ตลอดปี
  • จัดปฏิบัติธรรมวันหยุดสงกรานต์ ๓-๕ วัน และสรงน้ำพระมุทิตาจิตในวันที่ ๑๖ เมษายน
  • จัดปฏิบัติธรรมวันวิสาขบูชาของทุกปีสำหรับประชาชนทั่วไปทุกหมู่เหล่า
  • จัดปฏิบัติธรรมวันแม่แห่งชาติ ๓-๕ วัน เป็นประจำทุกปี
  • จัดปฏิบัติธรรมวันพ่อแห่งชาติ ๓-๕ วัน เป็นประจำทุกปี
  • จัดอบรมสำหรับหน่วยงานข้าราชการตามที่หน่วยงานต่างๆ ได้กำหนดมา
  • จัดอบรมสำหรับองค์กรเอกชนต่างๆ ตามที่องค์กรได้กำหนดมา
  • จัดอบรมสำหรับนักเรียน นิสิต นักศึกษา ตามที่สถาบันการศึกษาได้กำหนดมา โดยได้มีครู คณาจารย์ นำนักเรียน นิสิต นักศึกษามาให้ทางศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติ จัดอบรมคุณธรรม-จริยธรรมและความประพฤติเป็นประจำตลอดทั้งปี ทั้งนี้เพื่อช่วยขัดเกลาจิตใจเยาวชนของชาติ ให้มีความประพฤติดี มีระเบียบวินัย และมองเห็นโทษภัยที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบัน
  • เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ารับการปฏิบัติธรรม ๓-๕-๗ วัน ตลอดทั้งปี
    ในแต่ละปีจะมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งหมดประมาณ ๕,๐๐๐-๑๐,๐๐๐ คน
  • จัดปฏิบัติธรรมวันขึ้นปีใหม่ ๓๑ ธันวาคม-๑ มกราคม ทุกปี
  • จัดดำเนินการหน่วยอบรมโครงการศีล ๕ สัญจรบวรธรรม เป็นวัดกลุ่มเป้าหมายจัดดำเนินการตามโครงการแผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง หมู่บ้านรักษาศีล ๕ ประจำปีงบประมาณ ๒๕๕๘


ศาสนวัตถุภายในวัด

 
 
 
 
 
 

ศาสนวัตถุภายในวัด 

  1. อุโบสถ วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ ขนาดกว้าง ๑๓ เมตร ความยาว ๓๓ เมตร จำนวน ๑ หลัง
    ก่อสร้างเป็นศิลปแบบล้านนาประยุกต์ ออกแบบถวายโดยคุณจมร ปรปักษ์ประลัย สถาปนิกของกรมศิลปากร และได้รับพระเมตตาจาก สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก โปรดประทานตราสัญลักษณ์ ญ.ส.ส. เพื่ออัญเชิญขึ้นประดับหน้าบันอุโบสถ
  2. พระพุทธรูป จำนวน ๙ องค์ โดยพระพุทธรูปองค์ประธานในอุโบสถได้รับพระเมตตาจาก สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายกโปรดประทานพระนามที่ พระพุทธสุวรรณติโลกนาถปุญญาวาสสถิต และโปรดประทานตราสัญลักษณ์ ญ.ส.ส.
    เพื่ออัญเชิญขึ้นประดับบนผ้าทิพย์ฐานรองพระพุทธรูป
  3. ซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูป จำนวน ๔ ซุ้ม, พระพุทธรูปประธาน จำนวน ๙ องค์
    ประดิษฐานตรงจุดที่สำคัญ เช่น ในถ้ำ ลานปฏิบัติธรรม, ศาลาจันทนิภากร ๑, ศาลาธรรม ๑ ฯลฯ
  4. สันติธาตุเจดีย์ เป็นพระธาตุเจดีย์ จำนวน ๑ องค์ ซึ่งได้บรรจุพระธาตุไว้ตรงปลายยอดสันติธาตุเจดีย์
  5. ศาลาปฏิบัติธรรมจำนวน ๒ หลัง
    ศาลาปฏิบัติธรรมเฉลิมพระเกียรติ ประจำจังหวัดเชียงราย แห่งที่ ๕ หรือ ศาลาปฏิบัติธรรมจันทนิภากร ๑ มีขนาดพื้นที่ กว้าง ๓๐ เมตร ยาว ๖๐ เมตร  เป็นศาลาปฏิบัติธรรมที่สามารถบรรจุผู้ปฏิบัติธรรมได้ประมาณ ๑,๐๐๐-๑,๒๐๐ คน   ซึ่งใช้สำหรับการจัดอยู่ปริวาสกรรมของพระภิกษุสงฆ์ในช่วงฤดูฝน หรือการจัดอบรมเป็นหมู่คณะของหน่วยงานต่างๆ
    ศาลาปฏิบัติธรรม ๑ เป็นศาลาเล็กบรรจุผู้ปฏิบัติธรรมได้ประมาณ  ๑๐๐-๑๕๐ คน สำหรับปฏิบัติธรรมระยะสั้นหรือที่มีผู้ร่วมปฏิบัติะรรมน้อยกว่า ๑๐๐ คน   แต่ในปัจจุบันนี้ทางวัดได้ใช้เป็นหอฉัน และใช้ศาลาจันทนิภากร ๑ ในการปฏิบัติธรรมแทน
  6. ลานปฏิบัติธรรม ๑ แห่ง หรือ ลานธรรม"
    เป็นลานโล่งขั้นบันได ภายใต้ป่าโปร่งเป็นธรรมชาติ มีต้นไม้ใหญ่ปกคลุม มีลมพัดเย็นสบาย เป็นสถานที่สัปปายะ เหมาะสำหรับใช้เป็นสถานที่ประกอบกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา เช่น การอบรมการปฏิบัติธรรม การจัดอยู่ปริวาสกรรมสำหรับพระภิกษุสงฆ์จากทั่วประเทศในช่วง ๑-๑๐ กุมภาพันธ์ และปริวาสกรรมก่อนเข้าพรรษา ๑๕ วัน สำหรับพระภิกษุสงฆ์ การจัดกิจกรรมอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ในทางพระพุทธศาสนา เช่น ปฏิบัติธรรมวันหยุดนักขัตฤกษ์ต่างๆ
  7. กุฏิประธานสงฆ์ จำนวน ๑ หลัง
    สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อไว้เป็นที่ต้อนรับพระภิกษุชั้นผู้ใหญ่ พระเถระที่เมตตามาเป็นประธานเจ้าพิธีในกิจกรรมต่างๆ ทางพระพุทธศาสนา
  8. กุฏิพระสงฆ์จำนวน ๒๗ หลัง
    สำหรับไว้ต้อนรับพระภิกษุสงฆ์ที่แวะเวียนเดินธุดงค์มาพักปฏิบัติธรรมที่
    ศูนย์ปฏิบัติธรรมเฉลิมพระเกียรติ วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญแห่งนี้
  9. กุฏิแม่ชี จำนวน ๙ หลัง
    เพื่อสำหรับไว้เป็นพักของแม่ชีและอำนวยความสะดวกแก่อุบาสก–อุบาสิกาที่มารักษาศีล
    ปฏิบัติธรรม(บวชชีพราห์ม)หรือเนกขัมมะที่ศูนย์ปฏิบัติธรรมเฉลิมพระเกียรติแห่งนี้
  10. อาคารที่พักผู้ปฏิบัติธรรม จันทนิภากร ๒ เป็นอาคาร ๓ ชั้น จำนวน ๓๒ ห้อง เป็นอาคารที่ก่อสร้างขึ้นใหม่ เพื่อใช้สำหรับไว้เป็นที่พักผู้ปฏิบัติธรรม
  11. แท่นฐานซุ้มสำหรับปักกลดของพระภิกษุสงฆ จำนวน ๒๐๐ แท่น
    เพื่อสำหรับให้พระภิกษุสงฆ์ปักกลดปฏิบัติธรรมและการอยู่ปริวาสกรรม
    เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำฝนที่ตกลงมานองพื้น ไหลทะลักเข้าไปภายในซุ้มกลดของพระภิกษุสงฆ์
  12. โรงทานจำนวน  ๑  หลัง
    เพื่อสำหรับใช้เป็นโรงทานเตรียมภัตตาหารในยามที่มีการประกอบกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา และเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแด่่พระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ที่แวะเวียนมาปฏิบัติธรรม
  13. ถังกรองน้ำ ๒ ถัง แท็งค์น้ำจำนวน ๕๑ แท็งค์
    สำหรับใช้ประโยชน์ในการอุปโภคภายในสถานที่ปฏิบัติธรรมแห่งนี้
  14. สระน้ำ จำนวน ๒ สระ
    เพื่อเก็บกับน้ำประปาภูเขา สำหรับใช้ในการอุปโภคภายในสถานที่ปฏิบัติธรรมนี้
  15. ห้องน้ำ–ห้องสุขา ประมาณ ๘๐ ห้อง
    แยกเป็นของพระภิกษุสงฆ์ และอุบาสก อุบาสิกาออกจากกัน  

ในปัจจุบันนี้จะมีพระภิกษุสงฆ์ สามเณร อุบาสก  อุบาสิกา เนกขัมนารี นักเรียน นิสิต นักศึกษา ข้าราชการ  พนักงานรัฐวิสาหกิจ และประชาชนผู้มีจิตศรัทธาเดินทางมาปฏิบัติธรรมอยู่เสมอตลอดทั้งปี
           
นอกจากนี้หน่วยงานต่างๆ นำพนักงาน นิสิต นักศึกษา นักเรียนมาเข้ารับอบรบเป็นหมู่คณะมิได้ขาด หากหน่วยงานใดประสงค์จะเข้ารับการอบรมคุณธรรม-จริยธรรม ขอทราบรายละเอียดต่างๆ ได้ที่ วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ โทร. 053 184 325














         

                    
วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ
ศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติ ประจำจังหวัดเชียงราย
ศูนย์พัฒนาคุณธรรม-จริยธรรมประจำจังหวัดเชียงราย
๓๙๕ หมู่ ๑๑ ต.ธารทอง อ.พาน จ.เชียงราย ๕๗๒๕๐
โทรศัพท์ (๐๕๓)๑๘๔ ๓๒๕

website : www.watthumpra.com

email : watthumprachiangrai@gmail.com