ผูกพัทธสีมา
ฝังลูกนิมิต
วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ
ลูกนิมิต
นิมิต แปลว่า เครื่องหมาย
- ตามความหมายของพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน หมายถึง ลูกที่ทำกลมๆ ประมาณเท่าบาตร มักทำด้วยหิน ใช้ฝังเป็นเครื่องหมายเขตอุโบสถ
- ส่วนพจนานุกรมฉบับมติชนให้ความหมายว่า "ก้อนหินที่วางบอกเขตพัทธสีมาในการทำสังฆกรรม"
สรุปแล้ว ลูกนิมิต ก็คือ ลูกหินกลมๆ มีขนาดเท่าบาตรของพระสงฆ์ ที่ใช้ฝังเพื่อเป็นเครื่องหมายบอกให้ทราบว่าตรงไหนเป็นเขตของอุโบสถ หรือโบสถ์ เพื่อให้พระสงฆ์ได้ใช้เป็นที่ประกอบสังฆกรรมนั่นเอง
เพราะคำว่า นิมิต แปลว่า เครื่องหมาย
อุโบสถ (อ่านว่า อุ-โบ-สด) ถือเป็นอาคารที่สำคัญภายในวัดเนื่องจาก
เป็นสถานที่ที่พระภิกษุสงฆ์ใช้ทำสังฆกรรม ซึ่งแต่เดิมในการทำสังฆกรรมของพระภิกษุสงฆ์จะใช้เพียงพื้นที่โล่งๆ ที่กำหนดขอบเขตพื้นที่
สังฆกรรม โดยการกำหนดตำแหน่ง สีมา เท่านั้น แต่ในปัจจุบันจากการมีผู้บวชมากขึ้น อีกทั้งภายในพระอุโบสถมักประดิษฐานพระประธานที่เป็นพระพุทธรูปองค์สำคัญๆ ทำให้มีผู้มา สักการะบูชาและร่วมทำบุญเป็นจำนวนมาก พระอุโบสถจึงถูกสร้างขึ้นเป็นอาคารถาวร
และมักมีการประดับตกแต่งอย่างสวยงาม
ยังมีอีกมีหลายความหมาย คือ หมายถึง
- สถานที่ที่พระสงฆ์ ประชุมทำสังฆกรรมตามพระวินัย เช่นสวดพระปาติโมกข์ในวันพระทุกกึ่งเดือน
ขึ้น ๑๕ ค่ำ หรือ วันพระแรม ๘ ค่ำ แรม ๑๕ ค่ำ หรือ การบรรพชาสามเณร การอุปสมบทเป็นพระภิกษุ
หรือ การสวดสังฆกรรมของพระภิกษุสงฆ์ หรือสังฆกรรมใดๆ
ที่ต้องเกิดขึ้นในอุโบสถตาม พระวินัยบัญญัติ เรียกตามคำวัดว่า
อุโบสถาคาร บ้าง อุโบสถัคคะ บ้าง แต่เรียกโดยทั่วไปว่า โบสถ์
- การเข้าจำ คือการรักษาศีล ๘ ของอุบาสก อุบาสิกา ในวันขึ้นและ
แรม ๘ ค่ำ ๑๕ ค่ำ เรียกว่า รักษาอุโบสถ และรักษาอุโบสถศีล
- วันพระหรือวันฟังธรรมของคฤหัส วันขึ้นและแรม ๘ ค่ำ ๑๕ ค่ำ ซึ่งเป็นวันที่คฤหัสถ์รักษาอุโบสถกัน
เรียกว่า วันอุโบสถ
- วันที่พระสงฆ์ลงฟังพระปาติโมกข์ทุกกึ่งเดือน เรียกว่า วันอุโบสถ
- การสวดพระปาติโมกข์ทุกกึ่งเดือนหรือทุกวันอุโบสถของพระสงฆ์
เรียกว่า การทำอุโบสถ
- โบสถ์ เป็นคำเรียกสถานที่สำหรับพระสงฆ์ใช้ประชุมกันทำสังฆกรรม
ตามพระวินัย เช่นสวดพระปาติโมกข์ ให้อุปสมบท มีสีมาเป็นเครื่องบอกเขต คำว่า โบสถ์ เป็นคำที่ใช้เฉพาะใน พระพุทธศาสนา
- โบสถ์ เรียกเต็มคำว่า อุโบสถ หรือ โรงอุโบสถ ถ้าเป็นของพระอารามหลวงเรียกว่า พระอุโบสถ
บางถิ่นเรียกว่า สีมา หรือ สิม
- โบสถ์ เป็นสถานที่ศักดิ์ศิทธิ์ เป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้า
เป็นเขตแดนที่พระเจ้าแผ่นดิน พระราชทานให้แก่สงฆ์เป็นพิเศษ
เรียกว่าพระราชทาน วิสุงคามสีมา
ก่อนที่จะมาเป็นอุโบสถที่ถูกต้องตามพระวินัยจะต้องมีสังฆกรรมที่เรียกว่า ผูกสีมา หรือ ผูกพัทธสีมา ก่อน
มูลเหตุความเป็นมา
ในครั้งพุทธกาล เมื่อพระพุทธองค์ทรงประกาศพระศาสนาและมีผู้มาขออุปสมบทบรรพชาเป็นพระสาวก
พระพุทธองค์ทรงประทาน เอหิภิกขุ
ให้ได้สำเร็จเป็นพระภิกษุสงฆ์ดังประสงค์ เมื่อมีพระภิกษุสงฆ์มากถึงจำนวน ๖๐ รูปเป็นพระสงฆ์สาวกในเวลาอันรวดเร็วนั้น พระพุทธองค์
ทรงมีพระพุทธประสงค์ให้พระภิกษุสงฆ์
สาวกเหล่านั้นกระจายกันออกจาริกไปยังทิศต่างๆ เพื่อเป็นการเผยแผ่พระพุทธศาสนาและพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ จึงทำให้ผู้ที่ได้ฟังพระธรรมนั้นมีความเลื่อมใสศรัทธา ประสงค์ที่จะขออุปบรรพชาสมบทเป็นพระสาวกมากขึ้น
พระภิกษุสงฆ์สาวกเหล่านั้นก็จะนำผู้ที่จะขออุปสมบทบรรพชาในพระพุทธศาสนา มาเข้าเฝ้าสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเพื่อทรงพระเมตตา
ประทานการบรรพชาอุปสมบทให้แด่ผู้มีจิตศรัทธาเหล่านั้น ซึ่งพระภิกษุสงฆ์สาวกที่ออกจาริก เผยแผ่พระธรรมคำสอน และพระพุทธศาสนาไปยังดินแดนต่างๆ นั้นต่างก็อยู่ห่างไกลจากที่พระพุทธองค์ทรงประทับอยู่จึงทำให้
การเดินทางกลับมาเข้าเฝ้าพระพุทธองค์เป็น ไปด้วยความยากลำบาก
เมื่อเป็นดังนี้ พระพุทธองค์ทรงคำนึงถึงความลำบากของเหล่าพระสงฆ์สาวก
ในการเดินทาง พระองค์จึงทรงมีพระกรุณาธิคุณโดยมีพระบรมพุทธานุญาตให้พระภิกษุสงฆ์สาวกเหล่านั้น ทำการอุปสมบทบรรพชาให้กับผู้มีความเลื่อมใสศรัทธา โดยมิต้องสร้างความยุ่งยากลำบากในการนำผู้ที่ประสงค์
จะขออุปสมบทบรรพชามาเข้าเฝ้า ขอบรมพุทธานุญาตจากพระพุทธองค์
เป็นการลดขั้นตอนที่ยุ่งยากลำบากแก่เหล่าพระสงฆ์สาวก
การที่พระภิกษุสงฆ์สาวกออกไปอยู่ห่างไกลจากพระพุทธองค์นั้น
ประการหนึ่งนั้นก็เท่ากับห่างจากการฟังพระธรรมคำสั่งสอนของพระองค์ ซึ่งในสมัยพุทธกาลนั้นพระธรรม
พระวินัยต่างๆ ที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้ ให้พระสงฆ์สาวกปฏิบัติตามนั้นยังไม่มีการจดบันทึกรวบรวมไว้เป็นคัมภีร์ หรือรวบรวมเป็นพระไตรปิฏก ไม่ได้จัดแยกหมวดหมู่ดังเช่นปัจจุบัน
ดังนั้นพระธรรม พระวินัยต่างๆ นั้น จึงต้องอาศัยการจดจำ ท่องจำโดยการสวดสืบต่อๆ กัน เรียกว่าการสวดพระปาติโมกข์ อีกทั้งเมื่อมีเหตุการณ์ใดที่พระสงฆ์สาวกจะต้องตัดสินใจร่วมกัน ให้พระสงฆ์ได้มีการปรึกษาหารือเพื่อแก้ปัญหา หรือทำกิจบางประการร่วมกัน
ด้วยเหตุนี้พระพุทธองค์จึงได้กำหนดให้พระสงฆ์ต้องประชุมร่วมกันหรือที่เรียกว่าทำ สังฆกรรม คือทำกิจของสงฆ์ให้สำเร็จลุล่วง
เช่นการทบทวนพระธรรมวินัยที่พระพุทธองค์ทรงกำหนดไว้ หรือเรียกว่า
การสวดพระปาติโมกข์ การอุปสมบท บรรพชา หรือการบวชพระ
การกรานกฐิน และการปวารณากรรม เป็นต้น โดยกำหนดให้ทำ
สังฆกรรม ในบริเวณที่กำหนดไว้เท่านั้น เพื่อมิให้ฆราวาสมายุ่งเกี่ยวกับกิจของสงฆ์ผู้ทรงศีลโดยเฉพาะ แต่เนื่องจากในสมัยต้นพุทธกาลนั้นพระภิกษุยังไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งแน่นอน
แม้ต่อมาพระเจ้าพิมพิสารมหาราชแห่งแคว้นมคธจะมีศรัทธาถวายพื้นที่สวนไผ่ของราชวงศ์ ให้เป็นวัดแรกในพระพุทธศาสนา
ชื่อ วัดเวฬุวัน ให้พระภิกษุสงฆ์โดยมีพระพุทธเจ้าเป็นประธานได้เป็นที่พักอาศัย แต่ส่วนใหญ่ก็จะเป็นป่าตามธรรมชาติ ดังนั้นเมื่อพระสงฆ์ต้องจาริกไปยังที่ต่างๆ จึงทรงดำริให้หมายเอาวัตถุบางอย่างเป็นเครื่องกำหนดเขตแดนขึ้น เรียกว่า การผูกสีมา ซึ่งคำว่า สีมา ที่แปลว่า เขตแดน ซึ่งพระพุทธองค์ได้กำหนดไว้มี ๘ ประการ และเรียกเครื่องหมายบอกเขตแดนนี้ว่า นิมิต
แต่นิมิตเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติ
ทำให้การกำหนดเขตแดนที่จะทำสังฆกรรม กำหนดสถานที่ประชุมสงฆ์ทำได้ยากและมักคลาดเคลื่อน เช่น หากใช้ต้นไม้เป็นสิ่งบอกเขต
แต่เมื่อต้นไม้นั้นล้มตายลงหรือหักโค่นจนตายไป ก็ทำให้เขตที่อาศัยต้นไม้นั้นก็จะคลาดเคลื่อนไป
ต่อมาจึงได้มีการพัฒนากำหนดนิมิตขึ้นใหม่อีกประเภทหนึ่งขึ้นแทน
คือ เป็นนิมิตที่จัดสร้างหรือทำขึ้นเฉพาะ
เช่น ขุดบ่อน้ำ คูน้ำ สระน้ำและก้อนหิน โดยเฉพาะก้อนหินเป็นที่นิยมกันมากเพราะทนทานและเคลื่อนย้ายได้ยาก ครั้นเมื่อเทคโนโลยีมีความก้าวหน้ามากขึ้น
จึงได้มีการประดิษฐ์ก้อนหินให้เป็นลูกกลมๆ ประมาณเท่าบาตรของพระสงฆ์เป็นอย่างน้อย เป็นเครื่องหมายที่ค่อนข้างถาวรขึ้นแทน
และเรียกกันว่า ลูกนิมิต ดังที่เราเห็นกันอยู่ในปัจจุบันรวมถึงมีการเรียกเขตแดนที่ใช้ทำสังฆกรรมนี้ว่า อุโบสถ หรือ โบสถ์ ซึ่งสมัยก่อนโบสถ์คงมีลักษณะตามธรรมชาติมากกว่าจะเป็นถาวรวัตถุดังเช่นปัจจุบัน และเมื่อมี ลูกนิมิต เป็นเครื่องหมายบอกเขต ต่อมาก็มีพิธี
ที่เรียกว่าการ ฝังลูกนิมิต ขึ้นด้วย
ชม การสร้างอุโบสถ
คลิกลิ้งค์ที่รูป
|
|
|
|
สีมา
สีมา แปลว่า เขต หรือ แดน
สีมานั้น มีอยู่ ๒ ประเภท คือ
- พัทธสีมา คือ เขตที่สงฆ์กำหนดเอาเอง แปลว่า แดนที่ผูก
- อพัทธสีมา คือ เขตที่เขากำหนดไว้ตามปกติของบ้านเมือง แปลว่า แดนไม่ได้ผูก
นิมิต หรือ วัตถุที่ใช้เป็นเครื่องหมายเขตแห่งสีมา มี ๘ ชนิด คือ
- ภูเขา หรือ ปพฺพโต
- ศิลา หรือ ปาสาโณ
- ป่าไม้ หรือ วนํ
- ต้นไม้ หรือ รุกฺโข
- จอมปลวก หรือ วมฺมิโก
- หนทาง หรือ มคฺโค
- แม่น้ำ คูน้ำ หรือ นที
- สระน้ำ หนองน้ำ หรือ อุทกํ
พัทธสีมา ๓ ชนิด (แต่ตามคัมภีร์มหาวรรคมี ๔ ชนิด) คือ
- ขัณฑสีมา คือ สีมาผูกเฉพาะโรงอุโบสถ
- มหาสีมา คือ สีมาผูกรอบวัด
- สีมาสองชั้น คือ สีมาที่มีขัณฑสีมาอยู่ภายในมหาสีมา
- นทีปารสีมา คือ สีมาที่สมมติคร่อมฝั่งน้ำ
อพัทธสีมา ๓ ชนิด (หากนับสีมาสังกระเข้าด้วยมี ๔ ชนิด) คือ
- คามสีมา แดนบ้านที่ฝ่ายอาณาจักรจัดไว
- สัตตัพภันตรสีมา เขตที่สงฆ์กำหนดขึ้นในป่าชั่ว ๗ อัพภันดร
- อุทกุกเขปสีมา เขตแห่งสามัคคีชั่ววักน้ำสาด
- สีมาสังกระ สีมาที่คาบเกี่ยวปะปนกัน
สีมาสังกระ คือ การสมมติสีมาคาบเกี่ยวกัน เช่น การสมมติสีมาใหม่คาบเกี่ยวกับสีมาเดิม แต่สงฆ์ไม่รู้ว่าเป็นสีมาเดิม ทั้งไม่ได้ทำการสวดถอนก่อน สีมาใหม่ที่สมมติขึ้นนั้นย่อมวิบัติใช้ไม่ได้
พิธีสวดทักสีมา
จากนั้นการฝังลูกนิมิต นี้ มีชื่อเรียกเป็นทางการอีกอย่างหนึ่งว่าการ
ผูกพัทธสีมา ซึ่งก็แปลว่า เขตทำสังฆกรรมที่กำหนดตามพุทธานุญาต
โดยปัจจุบันจะเริ่มจากพระสงฆ์ประชุมพร้อมกันในอุโบสถหรือโบสถ์
เพื่อทำพิธี สวดถอน เพื่อให้แน่ใจว่ามิให้อาณาบริเวณที่จะกำหนดเป็นเขตแดนนี้ ไปทับที่ที่เคยเป็นสีมาเดิมหรือสีมาเก่ามาก่อน หรือเป็นที่ที่มีเจ้าของครอบครองอยู่ก่อน เมื่อพระสงฆ์สวดถอนเป็นแห่งๆ ไปตลอดสถานที่ที่กำหนดเป็นเขตแดนทำสังฆกรรมแล้วว่า มีอาณาเขตเท่าใด โดยทั่วไปลูกนิมิตที่ใช้ผูกสีมาจะมีจำนวน ๙ ลูก
โดยฝังตามทิศต่างๆ
โดยรอบอุโบสถทั้ง ๘ ทิศๆ ละ ๑ ลูก และฝังไว้กลางอุโบสถอีก ๑ ลูก
เป็นลูกเอก เมื่อจะผูกสีมาพระสงฆ์จำนวน ๔ รูป หรือจตุวรรคสงฆ์
ก็จะเดินตรวจลูกนิมิตที่วางไว้ตามทิศต่างๆ
โดยเริ่มตั้งแต่ทิศตะวันออกเป็นต้นไปเรียกว่า สวดทักสีมา เวียนขวาไปจนครบทั้ง ๘ ทิศ หรือ ๘ ลูกนิมิต
จนครบทุกทิศ และมาจบที่ทิศตะวันออกอีกครั้ง เพื่อให้แนวนิมิตบรรจบกันเป็นสี่เหลี่ยมหรือวงกลม เมื่อสวดทักนิมิตจบแล้วก็จะกลับเข้าไปประชุมสงฆ์ในอุโบสถ
และสวดประกาศสีมาอีกครั้ง หลังจากนั้นก็จะทำการตัดลูกนิมิตลงหลุมเพื่อกลบ แล้วสร้างเป็นซุ้มหรือก่อเป็นฐานตั้งใบสีมาต่อไป
ใบสีมา นี้จะถูกตั้งหรือตั้งครอบอยู่บนลูกนิมิตที่ถูกฝังอยู่ภายใต้พื้นดิน
ซึ่งที่เป็นดังนี้ก็อาจเพื่อให้เป็นที่สังเกตได้ง่ายว่า สถานที่ตรงบริเวณใด
เป็นที่ประดิษฐานลูกนิมิตไว้ข้างใต้ เพื่อให้รู้เขตแดนของวิสุงคามสีมาที่มีลูกนิมิตฝังอยู่ เพื่อให้สังเกตได้ชัดเจนและง่ายขึ้น และใบเสมานั้น
ก็ถูกประดิษฐ์ขึ้นตามแต่ช่างจะออกแบบให้สวยงาม โดยนำนิมิตหมายเอา
สัญลักษณ์ทางพระพุทธศาสนามาประดิษฐ์เป็นลวดลายของใบเสมา
เช่น
เครื่องหมายธรรมจักร สัญลักษณ์กวางหมอบ หรือรูปเทวดา ความแตกต่างของวัดที่ตั้งใบเสมาลงบนลูกนิมิต
วัดราษฏร์ ใบเสมาจะตั้งใบเดียวต่อลูกนิมิต ๑ จุด วัดทั่วไปจะมีใบเสมาจำนวน ๘ ใบ คือใบเสมาที่ตั้งครอบลูกนิมิตจำนวน ๘ ลูก
รอบอุโบสถ ใบเสมา ๑ ใบครอบลูกนิมิต ๑ ลูก ส่วนนิมิตลูกเอกหรือนิมิตที่อยู่ในอุโบสถนั้นไม่ต้องตั้งใบเสมา
ซึ่งการจะสังเกตว่านิมิตลูกเอกนั้นตั้งอยู่บริเวณไหน ให้ถือเอาใจกลางอุโบสถเป็นหลัก หรือสังเกตุจากสายพระเนตรของพระพุทธรูปที่ทอดพระเนตรลงเป็นมุม ๔๕ องศา ตรงหน้าพระพักตร์ของพระพุทธรูปพระประธานของอุโบสถ
วัดหลวง
ใบเสมาจะตั้งเป็นใบเสมาคู่ต่อลูกนิมิต ๑ จุด
เพื่อให้รู้ว่าวัดแห่งนั้นเป็นวัดหลวง และอุโบสถของวัดหลวงจะเรียกขึ้นต้นด้วยคำว่า พระ เช่น พระอุโบสถ แต่ถ้าเ็ป็นวัดราษฏร์ทั่วไปจะเรียกว่า อุโบสถ ดังนั้นใบเสมาของวัดหลวงที่ตั้งครอบลูกนิมิตจำนวน ๘ ลูก แต่ละลูกจะมีใบเสมาจำนวน ๒ ใบอยู่คู่กัน จึงทำให้วัดที่ถูกตั้งเป็นวัดหลวงนั้นต้องผูกใบสีมา
จำนวน ๑๖ ใบ ครอบลูกนิมิตโดยรอบอุโบสถทั้ง
๘ ลูกนั้น ทั้งนี้เพื่อให้เห็นความแตกต่างและสังเกตุได้ง่ายถึงความต่างระหว่าง วัดราษฏร์ และวัดหลวง
ชม การจัดสร้างพระพุทธรูป
พระประธานในอุโบสถ
กดลิ้งค์ที่รูป |
|
|
|
การผูกพัทธสีมา
นิมิต แปลว่า เครื่องหมาย ลูกนิมิตทั้ง ๙ ลูก
องค์แทนพระพุทธองค์และพระอัครสาวกทั้ง ๘ "การฝังลูกนิมิต" นี้ มีชื่อเรียกเป็นทางการอีกอย่างหนึ่งว่าการ "การผูกพัทธสีมา"
ซึ่งก็แปลว่า..เขตทำสังฆกรรมที่กำหนดตามพุทธานุญาต หรือการกำหนดเขตของวัด ก็จะทำการตัดลูกนิมิตลงหลุมเพื่อกลบ
แล้วสร้างเป็นซุ้มหรือก่อเป็นฐานตั้งใบสีมาต่อไป ก่อนที่จะมาเป็นโบสถ์ที่ถูกต้องตามพระวินัยจะต้องมีสังฆกรรมที่เรียกว่า ผูกสีมา
หรือ ผูกพัทธสีมา ก่อนตั้งใบสีมาต่อไป
ความหมายของลูกนิมิตทั้ง ๙ ลูก
ลูกนิมิตทั้ง ๙ ลูกนั้น จำนวน ๑ ลูก
ซึ่งถือเป็นนิมิตเอกนั้นจะตั้งอยู่กลางอุโบสถ..เพื่อถวายการ บูชาพระพุทธเจ้า ส่วนจำนวน ๘ ลูก ถูกจัดให้อยู่ตามทิศต่างๆ โดยรอบอุโบสถ
ซึ่งทิศที่อยู่รอบอุโบสถนั้นเรียกว่าทิศทั้ง ๘ มีความหมายที่เป็นมงคล คือ เพื่อเป็นสัญลักษณ์หรือองค์แทนพระอรหันตสาวก และเพื่อเป็นการบูชาพระอรหันต์สาวกผู้ใหญ่ประจำทิศ หรืออีกนัยหนึ่งนั้นเป็นองค์แทนพระอรหันต์สาวกที่รักษาอุโบสถ หรือเขตพุทธาวาสของพระพุทธเจ้า และเป็นการบูชาเทพนพเคราะห์
ทั้ง ๙ ให้เกิดบุญและสิริมงคลแก่ตัวเองและครอบครัว โดยแต่ละลูก มีความหมายดังนี้
- นิมิตลูกเอก ฝังไว้บริเวณใจกลางอุโบสถ เป็นลูกที่มีความสำคัญมาก
ถือเป็นประธานของลูกนิมิตทั้งหมด ฝังไว้บริเวณใจกลางอุโบสถ หรือบางท่านเรียกว่า สะดือโบสถ ก็มีรายล้อมด้วยลูกนิมิตอีก ๘ ลูก
เป็นการถวายการ บูชาพระพุทธเจ้า ผู้เป็นพระบรมศาสดาเอก
ของพระพุทธศาสนาผู้เป็นพระประมุขแห่งสงฆ์ เป็นการอัญเชิญและ บูชาพระเกตุ
เทพผู้คุ้มครองสถานที่ส่วนกลางของอุโบสถ
- ทิศตะวันออก (ทิศบูรพา) ลูกที่อยู่ด้านหน้าของอุโบสถถือเป็นลูกบริวาร
ที่มีความโดดเด่นเป็นพิเศษ เป็นลูกแรกที่ต้องเริ่มนับยกเว้นลูกกลางสะดือโบสถ์
ดังนั้นจึงเปรียบนิมิตลูกนี้เหมือนปฐมสาวก หรือพระสาวกองค์แรกของพระพุทธเจ้า คือ พระอัญญาโกณฑัญญะ พระะอัครสาวก
เป็นเอตทัคคะ ผู้รู้ราตรีกาลนาน คือ มีความรู้มาก ผ่านโลกมามาก
คือมีความรู้มาก ผ่านโลกมามาก เนื่องจากท่านเป็นผู้เดียวที่เมื่อยังเป็นพระดาบสที่ทำนายพระราชกุมาร
คือพระพุทธเจ้า เมื่อมีพระประสูติกาล และทำนายว่าพระองค์จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า และพระดาบสก็เฝ้ารอการบรรพชาของพระองค์
เพื่อจะได้ออกบวชตามพระองค์ และถวายตัวเป็นพระอัครสาวก การฝังลูกนิมิตไว้ด้านทิศตะวันออกเพื่อเป็นการบูชา
พระอัญญาโกณฑัญญะ เป็นการอัญเชิญ บูชาพระจันทร์ เทพผู้คุ้มครองสถานที่ส่วนด้านหน้าของอุโบสถ
- ทิศตะวันออกเฉียงใต้ (ทิศอาคเนย์) หรือด้านหน้าฝั่งขวาของอุโบสถ การฝังลูกนิมิตไว้ทางทิศนี้เพื่อบูชา พระมหากัสสปะเถระ พระะอัครสาวก
ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะ
ผู้ทรงธุดงค์คุณ ซึ่งต่อมาได้เป็นประธานสงฆ์ทำสังคายนา
เป็นการอัญเชิญและ บูชาพระอังคาร เทพผู้คุ้มครองสถานที่
ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ ของอุโบสถอีกองค์หนึ่ง
- ทิศใต้ (ทิศทักษิณ) เป็นลูกนิมิตที่อยู่ด้านขวาของอุโบสถ
เป็นการบูชา..พระสารีบุตร พระอัครสาวกฝ่ายขวา พระอัครสาวกผู้ได้รับการยกย่องว่า เป็น เอตทัคคะผู้เลิศในทางปัญญา เป็นการอัญเชิญ
และ บูชาพระพุธ เทพผู้คุ้มครองสถานที่ด้านทิศใต้ของอุโบสถ
- ทิศตะวันตกเฉียงใต้ (ทิศหรดี) หรือทิศด้านหลังฝั่งขวาของอุโบสถ การฝังลูกนิมิตทางด้านทิศนี้
เพื่อบูชา พระอุบาลีเถระ พระอัครสาวกผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะ ผู้เลิศในทางวินัย และเป็นการอัญเชิญและ บูชาพระเสาร์ ซึ่งเป็นเทพหนึ่งในนพเคราะห์ทั้ง ๙ คือ เทพผู้ดูแลคุ้มครองสถานที่ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ ของอุโบสถ
- ทิศตะวันตก (ทิศประจิม) เป็นลูกนิมิตที่ฝังอยู่ด้านหลังของตัวอุโบสถ
เครื่องหมายของเงา ซึ่งเปรียบได้กับพระเถระที่เป็นพุทธอุปัฏฐาก คอยเฝ้าติดตามดูแลปรนนิบัติรับใช้พระพุทธองค์เหมือนเงาตามตัว ดังนั้นการฝังลูกนิมิตทางทิศนี้
เพื่อเป็นการบูชา พระอานนท์เถระ พระอัครสาวกผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็น เอตทัคคะ ผู้เลิศในทางพหูสูต และเป็นมหาพุทธอุปัฎฐากแด่พระพุทธเจ้า และอัญเชิญบูชา พระพฤหัสบดีเทพคุ้มครองทิศตะวันตก
- ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ (ทิศพายัพ) การฝังลูกนิมิตที่ฝังอยู่ด้านหลังฝั่งซ้าย
ของอุโบสถทางด้านทิศนี้ เป็นการบูชา พระควัมปติเถระพระอัครสาวก
ผู้ด้รับการยกย่องว่าเป็น เอตทัคคะผู้เลิศในทางลาภสักการะและรูปงาม ท่านเป็นพระอรหันต์องค์ที่ ๑๐
ของโลก และเป็นสหาย ๑ ใน ๔
ของพระยสะกุลบุตร อีกทั้งเป็นบุตรของนางสุชาดา ผู้ถวายข้าวมธุปายาส ในวันก่อนที่พระพุทธเจ้าจะได้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ
และอัญเชิญ บูชาพระราหู
ซึ่งเป็นเทพประจำทิศนี้
- ทิศเหนือ (ทิศอุดร) ลูกนิมิตที่ฝังทางด้านทิศนี้ถือเป็นลูกที่มีความสำคัญอีกลูกหนึ่ง ซึ่งอยู่ด้านซ้ายของตัวอุโบสถ
เพื่อเป็นการบูชา พระมหาโมคคัลลานะ
พระอัครสาวกฝ่ายซ้ายของพระพุทธเจ้าผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะผู้เลิศ
ในทางแสดงฤทธิ์ และอัญเชิญบูชา พระศุกร์ เทพคุ้มครองรักษาประจำทิศนี้
- ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ (ทิศอีสาน) ลูกนิมิตที่ฝังอยู่ด้านหน้าฝั่งซ้ายของอุโบสถทางทิศเหนือนี้ เป็นสัญญลักษณ์แห่งความผูกพัน มีผลทางด้านจิตใจ
ถือเป็นทิศสุดท้าย เพื่อเป็นการบูชา..พระราหุลเถระ ซึ่งเป็นพระโอรสของเจ้าชายสิทธัตถะ พระอัครสาวกผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะ ผู้เลิศในทางการศึกษา และอัญเชิญ บูชาพระอาทิตย์ เทพผู้คุ้มครองรักษาประจำทิศนี้
สิ่งเหล่านี้เป็นคตินิมิตที่ครูบาอาจารย์ท่านได้แสดงไว้ว่าทำไมลูกนิมิตถึงมีจำนวน ๙ ลูก
จึงนำเกร็ดความรู้อันเป็นประโยชน์ต่อสาธุชนชาวพุทธให้ได้ลองศึกษาดู..
เพราะเราเป็นชาวพุทธจึงควรศึกษาให้เข้าใจไว้..
อานิสงส์ของการฝังลูกนิมิต
ด้วยเหตุที่ในสมัยก่อน การที่จะสร้างอุโบสถได้หลังหนึ่ง หรือแม้จะซ่อมแซมอุโบสถเก่าให้สวยงามขึ้นมิใช่เรื่องง่ายๆ และต้องใช้ระยะเวลานานมาก ดังนั้น จึงเชื่อกันว่า หากใครได้มีโอกาสทำบุญ ฝังลูกนิมิต หรือว่าได้ร่วมสร้างอุโบสถไว้ในพระพุทธศาสนาเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา คือ การบูชาคุณของพระพุทธเจ้า และเป็นการสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา ให้พระภิกษุสงฆืได้ใช้ทำสังฆกรรมนั้น จะมีอานิสงส์ถึง ๖ ประการด้วยกัน
อานิสงส์ถึง ๖ ประการคือ
- ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บทุกชาติ ปราศจากอุปัททวะ ทั้งหลาย
- ไม่เกิดในตระกูลต่ำ
- หากเกิดในมนุษย์โลก ก็จะเกิดเป็นท้าวพระยามหากษัตริย์
- หากเกิดในเทวโลก ก็จะเกิดเป็นท้าวสักกเทวราช
- จะสมบูรณ์ด้วยทรัพย์สินเงินทอง มีผิวพรรณผ่องใส และ
- มีอายุยืนนาน
นอกจากนี้ในพิธีผูกพัทธสีมาปิดทองฝังลูกนิมิตนั้นนิยมจะใส่สมุด ดินสอ เข็มและด้าย เป็นต้น
ลงไปในหลุมที่ฝังลูกนิมิตด้วย ทั้งนี้เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นนิมิตหมายแห่งความเป็นสิริมงคลแก่ผู้ได้สร้างบุญ ซึ่งขอนำมาอรรถาธิบายโดยสังเขป ดังนี้
- เข็ม หมายถึง ความเป็นผู้มีปัญญา สามารถรู้แจ้งแทงตลอดอย่างทะลุปรุโปร่ง
- ด้าย หมายถึง ความเป็นผู้มีอายุยืนยาวตราบเท่าอายุขัย
- ธูป หมายถึง พระคุณของพระพุทธเจ้า ๓ ประการ คือ พระบริสุทธิคุณ พระปัญญาธิคุณ และพระมหากรุณาธิคุณ ที่เราทั้งหลายน้อมรำลึกถึงอยู่ ธูปจึงเป็นสัญญลักษณ์แห่งการบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
- เทียน หมายถึง พระธรรมอันแสดงถึงความสว่างไสวประดุจดังประทีปส่องสว่าง ฉะนั้น เทียนจึงเป็นสัญลักษณ์แห่งการบูชาพระธรรม
- ดอกไม้ หมายถึง ความสวยงาม ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ดอกไม้จึงเป็นสัญลักษณ์แห่งการบูชาพระสงฆ์ ซึ่งดอกไม้หลากสีสัน เมื่อนำมาใส่แจกันจัดเป็นดอกไม้จึงทำให้เกิดความสวยสดงดงาม อุปมาดังหมู่สงฆ์ที่มาจากต่างตระกูล ต่างครอบครัว เมื่อมาอยู่ร่วมกันในร่มพระพุทธศาสนาแล้วก็ก่อให้เกิดความงดงามอย่างยิ่ง
- แผ่นทอง หมายถึง ธรรมดาว่า ทองคำ เป็นคุณชาติที่สูงค่าที่นำมาปิดองค์พระ ลูกนิมิต ช่อฟ้า เป็นเครื่อง แสดงให้เห็นถึงความยกย่อง เชิดชูบูชาด้วยใจที่สูงส่ง ผลานิสงส์ย่อมอำนวยผลให้ได้ผลสำเร็จในสิ่งที่เป็น ความงามโดยประการทั้งปวง
- สมุด,แผ่นกระดาษ ดินสอ สำหรับจดบันทึกจารึกสิ่งต่าง ๆ ไว้ หมายถึง ความเป็นผู้ทรงจำดี ไม่มีหลงลืมเลือน
อันที่จริงแล้ว การฝังลูกนิมิต เพื่อกำหนดเขตทำสังฆกรรม หรือปัจจุบันก็คือ การกำหนดเขตที่เป็นอุโบสถนั้น เป็นกิจของสงฆ์โดยเฉพาะ ฆราวาสหรือชาวบ้านไม่ได้เกี่ยวข้องแต่อย่างใด แต่เนื่องจากปัจจุบันอุโบสถมิเพียงแต่จะเป็นสถานที่ที่สงฆ์ใช้ทำสังฆกรรมเท่านั้นแต่ยังเป็น ศาสนสถานที่พุทธศาสนิกชนใช้เป็นที่ประกอบพิธีกรรมอื่นๆ ด้วย อีกทั้งไม่ว่าจะสร้างหรือซ่อมแซมอุโบสถขึ้นใหม่ จำเป็นต้องมีการผูกสีมาใหม่ทุกครั้ง ดังนั้นทางวัดต่างๆ จึงมักจะประกาศเชิญชวนให้พุทธศาสนิกชนได้มาทำบุญสร้างกุศล เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต และยังเป็นการยกย่องบูชาพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ อีกด้วย
การขอพระราชทานวิสุงคามสีมา
การขอพระราชทานวิสุงคามสีมานั้น เพื่อขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต
เพื่อถวายที่ดินบริเวณนั้นให้เป็นสิทธิ์ของสงฆ์ ที่เรียกว่าขอ วิสุงคามสีมา คือ เขตแดนที่ได้พระราชทานแก่สงฆ์ เพื่อใช้เป็นที่ทำสังฆกรรม
เป็นการแยกส่วนบ้านออกจากส่วนวัด ซึ่งคำว่า วิสุง แปลว่า ต่างหาก, คาม แปลว่า บ้าน การที่ต้องขอพระบรมราชานุญาตเพราะถือว่าพระมหากษัตริย์เป็นเจ้าของแผ่นดิน การจะกระทำการใดๆ
บนพื้นแผ่นดินจึงต้องขอพระบรมราชานุญาตก่อน เมื่อมีพระบรมราชานุญาตพระราชทานที่ดินนั้นเป็นเขตพุทธาวาสแก่หมู่สงฆ์แล้ว ที่ดินที่พระราชทานนั้นก็เป็นสิทธิ์ขาดของพระพุทธศาสนา ซึ่งใครๆ จะทำการซื้อขาย จำหน่ายจ่ายโอนมิได้โดยเด็ดขาด ถือเป็นเขตพุทธาวาส คือเป็นอาวาสหรือเขตแดนของพระพุทธเจ้าและพระพุทธศาสนา หรือสิทธิของพระภิกษุสงฆ์โดยถูกต้องสมบูรณ์
ในปัจจุบันนี้ เมื่อมีการก่อสร้างอุโบสถขึ้นภายในวัดใด เมื่อการก่อสร้างใกล้จะแล้วเสร็จ ก่อนการทำสังฆกรรมเกี่ยวกับการกำหนดเขตแดนของอุโบสถหรือฝังลูกนิมิตนั้น ทางวัดหรือเจ้าอาวาสผู้มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบในวัดนั้นๆ ที่ได้จัดสร้างอุโบสถขึ้นใหม่ จะต้องแจ้งการสร้างอุโบสถของวัดไปยังเจ้าคณะตำบล เจ้าคณะอำเภอ และเจ้าคณะจังหวัด
ซึ่งเจ้าคณะจังหวัดก็จะมีคณะพระภิกษุสงฆ์ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบ ไปทำการตรวจสอบอุโบสถที่จัดสร้างขึ้นใหม่ แล้วให้วัดทำหนังสือขอพระราชทานวิสุงคามสีมา ซึ่งหนังสือเอกสารที่นำแจ้งขอพระราชทานวิสุงคามสีมานี้ จะต้องผ่านขั้นตอนการตรวจสอบตามลำดับที่ได้กล่าวมา
และแจ้งขนาดของอุโบสถให้ถูกต้องว่าอุโบสถมีขนาดพื้นที่ความสูง ความกว้าง
ความยาว เท่าไร เมื่อเอกสารการขอพระราชทานวิสุงคามสีมาได้รับการจัดทำเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ได้รับการอนุมัติรับรองไปตามลำดับขั้น
ตั้งแต่เจ้าอาวาส เจ้าคณะตำบล เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะจังหวัด และ
สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดที่วัดนั้นสังกัดอยู่ จนถึงสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
นำเอกสารขอพระราชทานวิสุงคามสีมานำเสนอไปยังสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อท่านรัฐมนตรีที่รับผิดชอบงานทางพระพุทธศาสนารับรองอนุมัติ
ต่อจากนั้นนำทูลสมเด็จพระสังฆราชทรงประทานอนุมัติ แล้วเสนอเพื่อนำความกราบบังคมทูล ขอรับพระราชทานวิสุงคามสีมาต่อไป
ซึ่งขั้นตอนต่างๆ มีลำดับดังนี้
ปัจจุบัน การขอรับพระราชทานวิสุงคามสีมา มีขั้นตอนและวิธีดำเนินการ
ตามที่ได้กำหนดไว้ในกฎกระทรวง
ฉบับที่ ๑ (พ.ศ.๒๕๐๗) ออกตามความ
ในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ดังนี้
- เจ้าอาวาสเสนอรายงานขอรับพระราชทานวิสุงคามสีมาตามแบบ ต่อเจ้าคณะตำบลและเจ้าคณะอำเภอ
- เมื่อเจ้าคณะตำบลและเจ้าคณะอำเภอ เห็นสมควรให้นำปรึกษานายอำเภอ
แล้วเสนอเรื่องและความเห็นไปยังเจ้าคณะจังหวัด
- เมื่อเจ้าคณะจังหวัดเห็นสมควร ให้นำปรึกษาผู้ว่าราชการจังหวัด แล้วเสนอเรื่องและความเห็นไปยังเจ้าคณะภาค และสำนักงานพระพุทธศาสนาประจำจังหวัด
- เมื่อเจ้าคณะภาคเห็นสมควรแล้ว ให้ส่งเรื่องและความเห็นไปยังสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาต
- เมื่อสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเห็นสมควรแล้ว จะได้นำเสนอ
ไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นหน่วยงานที่นำเรื่อง
กราบบังคมทูลพระกรุณาโปรดเกล้าฯ กราบทูลสมเด็จพระสังฆราช
เพื่อทรงประทานอนุมัติ แล้วเสนอเพื่อนำเรื่องกราบบังคมทูลพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานวิสุงคามสีมาเพื่อนำลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา ขอรับพระราชทานวิสุงคามสีมาต่อไป
- เมื่อพระราชทานวิสุงคามสีมาแก่วัดใดแล้วให้นายอำเภอท้องที่ที่วัดนั้น
ตั้งอยู่ดำเนินการปักหมายเขตที่ดินตามที่ได้พระราชทานต่อไป
อนึ่งในการขอรับพระราชทานวิสุงคามสีมาสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
จะดำเนินการขอให้กับวัดที่มีคุณสมบัติครบถ้วน และส่งรายงานการขอรับ
พระราชทานมายังสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
ปีละ ๖ งวด โดยจะรวบรวมรายชื่อวัด แล้วเสนอขอรับพระราชทานวิสุงคามสีมา ๒ เดือนต่อ ๑ งวด
*******************************************
การขอรับพระราชทานวิสุงคามสีมา
มติมหาเถรสมาคม ครั้งที่ ๗/๒๕๕๐
สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม
มติที่
...
เรื่อง การขอรับพระราชทานวิสุงคามสีมา
ในการประชุมมหาเถรสมาคม ครั้งที่ ๗/๒๕๕๐ เมื่อวันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๕๐
เลขาธิการมหาเถรสมาคมเสนอว่า สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
โดยกองพุทธศาสนา ได้รายงานว่าปัจจุบันวัดต่างๆ ได้ทำเรื่องขอรับพระราชทานวิสุงคามสีมา โดยผ่านความเห็นชอบจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายบ้านเมือง และเจ้าคณะผู้ปกครองฝ่ายสงฆ์ มายังสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเพื่อดำเนินการและเรื่องยังไม่แล้วเสร็จ ทางวัดได้กำหนดจัดงานผูกพัทธสีมาไว้ล่วงหน้า โดยที่ยังไม่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ทำให้ประสบปัญหาไม่สามารถจัดงานได้
สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติขอนมัสการว่า ในการขอรับพระราชทานวิสุงคามสีมา มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เป็นหน่วยงานที่นำเรื่องกราบบังคมทูลพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานวิสุงคามสีมา และ
นำลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีเรื่องอื่นๆ ในลักษณะเดียวกัน
ที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจะต้องดำเนินการให้ตามลำดับ ซึ่งไมสามารถ
ทราบได้ล่วงหน้าว่าขั้นตอนดังกล่าวจะดำเนินการเสร็จสิ้นเมื่อใด
สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ โดยกองพุทธศาสนสถาน
พิจารณาแล้วเห็นควรแจ้งเจ้าคณะจังหวัดเกี่ยวกับการขอรับพระราชทาน
วิสุงคามสีมาว่า ควรได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาก่อน แล้วจึงกำหนด
จัดงานผูกพัทธสีมาและตัดลูกนิมิต และแจ้งเจ้าอาวาสที่ขอรับพระราชทาน
วิสุงคามสีมา ไม่ให้กำหนดวันจัดงานจนกว่าจะได้รับประกาศ.
ที่ประชุมพิจารณาแล้วลงมติเห็นชอบตามที่เสนอ
(นางจุฬารัตน์ บุณยากร)
ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
|
|
*******************************************
|