กฐินสามัคคี
ขอเชิญร่วมบุญ
ทอดกฐินสามัคคี
วันเสาร์ที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๖๒
ตามพระพุทธวินัยบัญญัติ
และร่วมสมทบทุนสร้าง
พระมหาสถูปเจดีย์พุทธคยา(จำลอง)
วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ
กำหนดการ : วันเสาร์ที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๖๒
- ๒๕ ตุลาคม ๒๕๖๒
เวลา ๑๘.๐๐ น. ทำวัตร-สวดมนต์เย็น ร่วมพิธีสวดฉลองผ้ากฐิน
- ๒๖ ตุลาคม ๒๕๖๒
เวลา ๐๘.๒๙ น.
๐ คณะสงฆ์พร้อมศรัทธาญาติธรรม พร้อมเพรียงกัน ณ ศาลาจันทนิภากร๑
เวลา ๑๐.๐๐ น.
๐ บุญพิธีทอดถวายผ้ากฐิน
เวลา ๑๑.๐๐ น.
๐ ถวายภัตตาหารเพลแด่พระภิกษุสงฆ์
เวลา ๑๒.๐๐ น.
๐ เสร็จพิธี พักผ่อนตามอัธยาศัย
เรียน ท่านสาธุชนผู้มีจิตศรัทธา
วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ ได้ดำเนินการพิธีเททองหล่อพระพุทธเมตตาจำลองแล้วเสร็จ เมื่อวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ ที่ผ่านมานี้
ในลำดับต่อไปคือการจัดสร้าง พระมหาเจดีย์พุทธคยา ที่จำลองแบบบางส่วนมาจากประเทศอินเดีย โดยทั้งนี้ยังมีศาสนิกชนไทยอีกเป็นจำนวนมาก ที่ประสงค์จะได้เดินทางไปเคารพสักการะกราบไหว้พระพุทธเมตตา ยังสถานที่ตรัสรู้ขององค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ ประเทศอินเดีย
แต่ก็ยังไม่มีโอกาสได้เดินทางไปดังประสงค์ ทั้งนี้ด้วยข้อจำกัดทางด้านการเดินทาง ข้อจำกัดทางด้านค่าใช้่จ่ายที่ไม่สามารถจะจัดหาเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปได้ จึงทำให้ศาสนิกชนไทยทั้งพระภิกษุสงฆ์ สามเณร ชี และอุบาสก-อุบาสิกา จำนวนมากไม่สามารถเดินทางไปได้
ทางคณะกรรมการ จึงขอเชิญชวนสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาทุกท่านได้ร่วมเป็นเจ้าภาพร่วมบุญสร้าง พระมหาสถูปเจดีย์พุทธคยา เพื่อเป็นพระมหาสถูปเจดีย์ที่ประดิษฐานพระพุทธเมตตาไว้ ณ วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญเพื่อเปิดโอกาสให้สาธุชนได้เคารพสักการะ โดยร่วมบุญจัดสร้างได้ตามกำลังศรัทธา
คณะกรรมการวัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญพร้อมญาติธรรมทุกท่าน จึงขออนุญาตบอกบุญมาเพื่อทราบ..
ขออำนาจแห่งคุณพระศรีรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากลโลก
จงปกปักรักษาคุ้มครองท่านและครอบครัวของท่าน ให้มีความเจริญไพบูลย์ใน อายุ วรรณะ สุขะ พละ ปฏิภาณ ธนสารสมบัติ ด้วยกันทุกท่านเทอญ
แจ้งข่าวบุญมาด้วยความเคารพนับถือ
คณะกรรมการวัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ
บุญพิเศษที่จำกัดกาล..บุญกฐิน
การทอดกฐิน เป็นพุทธบัญญัติ เป็นสิ่งที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติให้พระภิกษุสงฆ์ที่อยู่จำพรรษาถ้วนไตรมาส ๓ เดือน ในช่วงฤดูเข้าพรรษาให้ได้รับกฐิน ซึ่งเป็นเรื่องของการถวายผ้าไตรจีวร เพื่อให้พระภิกษุสงฆ์ได้นำผ้าใหม่มาผลัดเปลี่ยนแทนจีวรผืนเดิมที่พระภิกษุใช้อยู่ กฐิน จึงเป็นเรื่องของพระวินัยสงฆ์โดยตรงที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้
บุญ..การทอดกฐินเป็นประเพณีอันดีงามของชาวพุทธ ที่ศาสนิกชนประพฤติปฏิบัติสืบต่อกันมา
เป็นเวลายาวนานกว่า ๒,๕๐๐ ปี
กำเนิดขึ้นเมื่อครั้งที่พระภิกษุชาวเมืองปาไฐยรัฐออกเดินทางไกล
เพื่อไปเข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ วัดพระเชตวัน พระภิกษุเหล่านั้นมีจีวรที่เปรอะเปื้อนเปียกชุ่มและเปื่อยขาดด้วยความเก่า พระบรมศาสดาจึงทรงมีพุทธานุญาตให้ภิกษุผู้อยู่จำพรรษารับผ้ากฐินได้้หลังออกพรรษา เพื่อนำมาผลัดเปลี่ยนผ้าเก่า ประเพณีการทอดกฐินได้เกิดขึ้นตั้งแต่ครั้งนั้นและสืบทอดมาจนกระทั่งปัจจุบัน
บุญจากการถวายกฐินเป็นบุญพิเศษที่ทำได้ยากกว่าบุญอื่นด้วยสาเหตุหลายประการ ดังนี้
- จำกัดกาลเวลา..คือ ต้องถวายภายใน ๑ เดือน นับตั้งแต่วันออกพรรษา
- จำกัดชนิดทาน..คือ ต้องถวายเป็นสังฆทานเท่านั้น จะถวายเจาะจงภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเหมือนทานอย่างอื่นไม่ได้
- จำกัดคราว..คือ แต่ละวัดรับกฐินได้เพียงปีละ ๑ ครั้ง เท่านั้น
- จำกัดผู้รับ.คือพระภิกษุผู้รับกฐินได้จะต้องจำพรรษาที่วัดนั้นครบไตรมาส(๓ เดือน) และต้องมีจำนวนตั้งแต่ ๕ รูปขึ้นไป
- จำกัดงาน..คือ เมื่อพระภิกษุรับผ้ากฐินแล้วจะต้องกรานกฐินให้เสร็จภายในวันนั้น
- จำกัดของถวาย.. คือ ไทยธรรมที่ถวายต้องเป็นผ้าผืนใดผืนหนึ่งในไตรจีวรเท่านั้น โดยทั่วไปนิยมใช้ สังฆาฏิ ในส่วนไทยธรรมอื่นจัดเป็นบริวารกฐิน
เหตุเกิดจากพุทธประสงค์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงมีพุทธานุญาตให้พระภิกษุสงฆ์รับผ้ากฐินเพื่อผลัดเปลี่ยนไตรจีวรเก่า แต่ทานอย่างอื่นทายกทูลขอให้ทรงอนุญาต เช่น มหาอุบาสิกาวิสาขาทูลขออนุญาตถวายผ้าอาบน้ำฝน
นอกจากนี้การทอดกฐินยังเป็นทานที่พิเศษ คือ ทั้งพระภิกษุและสาธุชนผู้ทอดกฐินได้อานิสงส์ด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่าย
การทอดกฐินจึงเป็นบุญใหญ่ที่ผู้ให้ (คฤหัสถ์) และผู้รับ (พระภิกษุสงฆ์) ต่างก็ได้บุญอย่างมหาศาล
อานิสงส์แห่งการสร้างศาสนสถาน
พระพุทธเจ้าเป็นรัตนะที่เกษมสูงสุด "พุทธะปูชา มะหาเตชะวันโต" แปลว่า "การบูชาพระพุทธเจ้ามีเดชอำนาจมาก"
"สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงตรัสสรรเสริญและแสดงธรรมเกี่ยวกับเรื่องการสร้างวัด หรือส่วนประกอบ
ของวัด เช่น ที่ดิน หรือศาสนวัตถุต่างๆ โบสถ์ วิหาร ศาลา พระพุทธรูป
กุฏิสงฆ์ เสนาสนะถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ผู้ประพฤติดี
ปฏิบัติชอบ ไว้ดังนี้
- ทานํ สคฺคสฺส โสปนํ ทานกุศลจัดว่าเป็นบันได้ขั้นแรกที่จะนำขึ้นสู่สวรรค์
- ทานํ ปาเถยฺยมุตตมํ ทานกุศลจัดว่าเป็นเสบียงอันประเสริฐ
- ทานํ อุชุคตํ มคฺคํ ทานกุศลจัดว่าเป็นทางสายตรงไปสู่พระนิพพาน
- ทานํ โมกฺขปทํ วรํ ทานกุศลจัดว่าเป็นบาทให้ถึงซึ่งความหลุดพ้น
การสร้างวัด สร้างโบสถ์ ศาลา พระพุทธรูป อาคารที่พัก
เพื่อถวายไว้กับวัดในพระพุทธศาสนาโดยพระสงฆ์องค์เจ้าก็ดี หรืออุบาสกอุบาสิกาต่อพุทธศาสนาก็ดี จัดเป็นทานอันเลิศ
ตามที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ในพระไตรปิฎก
เหตุให้ทำบุญ
ครั้งหนึ่ง เมื่อองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน เมืองเวสาลี ได้มีกษัตริย์ลิจฉวีทรงพระนามว่า มหาลี ได้เข้าเฝ้ากราบทูลถามสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า..
..."ข้าแแต่พระองค์ผู้เจริญ..มีสิ่งใดเป็นเหตุเป็นปัจจัยแห่งการกระทำบุญ แห่งความเป็นไปเพื่อการกระทำบุญ
พระเจ้าข้า"
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสว่า...
..."ดูก่อนมหาลี..อโลภะ อโทสะ อโมหะ โยนิโสมนสิการ จิตที่ตั้งไว้ชอบ ทั้ง ๔ อย่างนี้ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ทำกุศลกรรม
- บุคคลให้ทานได้ก็เพราะ..อโลภะ
- บุคคลให้ทานได้ก็เพราะ..อโทสะ
- บุคคลให้ทานได้ก็เพราะ..อโมหะ
- บุคคลจะสำเร็จ มรรค ผล นิพพานได้ ก็เพราะโยนิโสมนสิการ
การกระทำความดีต่างๆ ได้ ก็เพราะจิตที่ตั้งไว้ชอบ การที่จิตตั้งไว้ชอบนั้นคือ ตั้งจิตไว้ในกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ หรือตั้งจิตไว้ในสัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา อย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้ง ๔ อย่าง จิตที่ตั้งไว้ชอบนี้สามารถให้สมบัติทั้งปวงได้ เพราะสมบัติใดๆ ที่มารดา-บิดา เป็นต้น ไม่สามารถยกให้ได้ในสมบัตินั้น จิตที่บุคคลตั้งไว้ชอบนี้แหละสามารถยกให้ได้" ดังคำว่า
น ตํ มาตา ปิตา กยิรา
อญเญ วา ปน ญาตกา
สมุมาปณิหิตํ จิตตํ
เสยโย นํ ตโต กเร.
ความว่า.."จิตที่บุคคลตั้งไว้ชอบย่อมทำบุญใด้ดีกว่ามารดา-บิดาหรือญาติเหล่าอื่นจะทำได้" ดังนี้ อธิบายว่าเมื่อมารดา-บิดาจะให้ทรัพย์แก่บุตรทั้งหลายก็ให้ได้เพียงในชาตินี้ แต่ไม่สามารถที่จะให้สมบัติจักรพรรดิ หรือทิพยสมบัติ ฌาน สมาบัติ มรรค ผล นิพพาน แก่บุตรนั้น ฉะนั้นจิตที่บุคคตั้งไว้ชอบนี้แหละอาจให้สมบัติทั้งปวงได้
เพราะฉะนั้นจึงควรคำนึงไว้ว่า จิตที่ตั้งไว้ชอบ คือตั้งไว้ในสัทธา
ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา หรือในกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ
ชื่อว่าเป็นจิตอันประเสริฐ เป็นปัจจัยอันวิเศษในการทำกัลยาณกรรม
คือ ความดีต่างๆ จึงควรที่ทุกคนพึงตั้งจิตไว้ในกุศลกรรมบถทั้งหลาย
การทำ การพูด การคิดก็เป็นสุจริตเสมอ ผลที่ได้ด้วยสุจริตก็เป็นผลที่ดีเสมอ และผลดีนั่นแล คือ "บุญ"ดังที่พระพุทธองค์ทรงตรัสพระวาจานี้ประทานแก่ท่านมหาลี แล้วท่านทั้งหลายผู้มีศรัทธา ได้สั่งสมบุญให้เกิดขึ้นแก่ตัวท่านแล้วหรือยัง?
ติดต่อร่วมบุญเจ้าภาพทอดกฐินสามัคคีได้ที่:
วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ โทร.๐๕๓-๑๘๔ ๓๒๕ หรือ
หรือร่วมสร้างบุญได้ในนามชื่อบัญชี :
กองทุนสร้างสถูปเจดีย์พุทธคยา
ธนาคาร: กรุงไทย, สาขา: พาน
เลขที่ : 522-0-45008-5
|
|
|
|
ก ฐิ น
คำว่า กฐิน หรือ กฐินะ นี้ เป็นภาษาบาลี จัดเป็นสังฆกรรมชนิดหนึ่ง
โดยมีชื่อมาจากไม้ชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นอุปกรณ์สำหรับขึง ผ้าเป็นสี่เหลี่ยมเพื่อขึงผ้าให้ตึงสำหรับเย็บทำเป็นจีวร ซึ่งสมัยโบราณที่เครื่องเย็บปักถักร้อยยังไม่มีเครื่องจักรเช่นปัจจุบัน จึงเรียกไม้ชนิดนี้ว่า
ไม้สะดึง คือไม้ที่ลาดหรือกางออกไปเพื่อขึงเย็บจีวร
การกรานกฐินเป็นคำมาจากกิริยาที่ลาดหรือกางไม้สะดึงนั้น
คำว่า "กฐิน" มีความหมายที่เกี่ยวข้องกันอยู่หลายความหมายดังนี้ กฐินที่เป็นชื่อของกรอบไม้กรอบไม้แม่แบบสำหรับทำจีวร ซึ่งอาจเรียกว่าไม้สะดึงก็ได้
เนื่องจากในครั้งพุทธกาล การทำจีวรให้มีูรูปลักษณะตามที่กำหนดกระทำได้โดยยาก จึงต้องทำกรอบไม้สำเร็จรูปไว้เพื่อเป็นอุปกรณ์สำคัญ ในการทำเป็นผ้านุ่งหรือผ้าห่ม หรือผ้าห่มซ้อนที่เรียกว่า ไตรจีวร เป็นส่วนรวมผืนใดผืนหนึ่งก็ได้ ในภาษาไทยนิยมเรียก ผ้านุ่ง ว่า สบง ผ้าห่ม ว่า จีวร และ ผ้าห่มซ้อน ว่า สังฆาฏิ
การทำผ้าโดยอาศัยแม่แบบเช่นนี้
หรือการทาบผ้าลงไปกับแม่แบบแล้วตัดเย็บย้อม ทำให้เสร็จในวันนั้น ด้วยความสามัคคีของสงฆ์ เป็นการร่วมใจกันทำกิจที่เกิดขึ้นและเมื่อทำเสร็จ หรือพ้นกำหนดกาลแล้ว แม่แบบหรือกฐินนั้นก็รื้อเก็บไว้ใช้ในการทำผ้าเช่นนั้นในปีต่อๆ ไป
การรื้อแบบไม้นี้เรียกว่า เดาะ ฉะนั้น คำว่า กฐินเดาะ หรือ เดาะกฐิน จึงหมายถึงการรื้อไม้แม่แบบเพื่อเก็บไว้ใช้ในโอกาสหน้า
มูลเหตุแห่งการกรานกฐิน
กล่าวในสมัยพุทธกาลในคัมภีร์พระวินัยปิฏกกฐินขันธกะมีว่า
มีพระภิกษุจากเมืองปาฐารัฐ หรือ ปาไถยรัฐ จำนวน
๓๐ รูป
ซึ่งถือธุดงควัตรอย่างยิ่งยวด มีความประสงค์จะเข้าเฝ้าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งขณะนั้นได้พักอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร
กรุงสาวัตถี แคว้นโกศล จึงพากันเดินทางมุ่งหน้าไปยังเมืองนั้น พอถึงเมืองสาเกตก็เป็นวันเข้าพรรษาพอดี เดินทางต่อไปมิได้
ต้องอยู่จำพรรษาที่เมืองสาเกตตามพระวินัยบัญญัติ ขณะที่จำพรรษาอยู่ ณ เมืองสาเกต
เกิดความร้อนรนอยากเฝ้าพระพุทธเจ้าเป็นกำลัง
ดังนั้นพอออกพรรษาปวารณาแล้วก็รีบเดินทางต่อ
การเดินทางในสมัยพุทธกาลในเขตประเทศอินเดียของพระภิกษุทั้ง ๓๐ รูป ท่านเดินทางด้วยเท้า ไม่มีพาหนะอื่นใด จึงเดินทางได้ช้า ซึ่งเมืองสาเกตอยู่ห่างจากกรุงสาวัตถีเป็นระยะทางประมาณ ๖ โยชน์
(๑ โยชน์ = ๑๖ ก.ม.) หรือประมาณ ๙๖ กิโลเมตร แต่ระยะนั้นมีฝนตกมากหนทางที่เดินชุ่มไปด้วยน้ำ เป็นโคลนเป็นตม ต้องบุกต้องลุยกรำฝนทนแดดไปตลอดทาง ทำให้สบง จีวร ของพระภิกษุเหล่านั้นต่างก็เปียกชุ่มโชกไปด้วยน้ำฝนไปตามๆ กัน บางท่านก็จีวรขาดทะลุและเปรอะเปื้อนไปด้วยโคลนตม จนกระทั่งถึงกรุงสาวัตถีได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าสมความประสงค์
เมื่อพระพุทธองค์ทรงเห็นความลำบากตรากตรำของพระภิกษุเหล่านั้น ต่อมาจึงเรียกประชุมสงฆ์ และยกเรื่องราวของพระภิกษุทั้ง ๓๐ รูปนั้นเป็นเหตุ แล้วจึงทรงมีพระบรมพุทธานุญาตตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาว่า
ให้พระภิกษุที่จำพรรษาครบถ้วนไตรมาส(๓ เดือน) ให้รับผ้ากฐินเสียก่อน ทั้งนี้เพราะว่าแม้ออกพรรษาแล้วก็ตาม ฝนก็ยังไม่หมดเสียทีเดียว
ถ้าไม่มีความจำเป็นมากก็ให้อยู่รับผ้ากฐินเสียก่อนแล้วจึงเดินทางไปยังที่อื่น
แล้วทรงกำหนดเวลาอันเป็นเขตของกฐินไว้ว่าตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑
สามารถรับผ้ากฐินได้ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำกลางเดือน ๑๑ หรือประมาณไม่เกิน ๑ เดือน
หลังจากออกพรรษา
โดยความเป็นจริงแล้วเรื่องผ้ากฐินนั้นเป็นเรื่องของพระภิกษุสงฆ์อย่างเดียวในการทำผ้า เมื่อพระภิกษุไปได้ผ้ามาจากที่ต่างๆ แล้วนำมารวมกันเย็บให้เป็นผืนเดียว แล้วตกลงกันว่าจะมอบจีวรชุดนี้ให้แก่พระภิกษุรูปใด
(ซึ่งในสมัยพุทธกาลนั้นผ้าส่วนใหญ่เป็นผ้าบังสุกุลหรือผ้าที่พิจารณามาจากผ้าห่อศพ ผ้าจึงมีจำนวนน้อยและหายากการจะทำเป็นจีวรจึงทำได้เพียงผืนเดียว) และยอมมอบผ้าที่ทำเป็นจีวรนั้นให้แก่พระภิกษุที่มีผ้าเก่าที่สุดนำไปใช้นุ่งห่ม
ในธรรมบทภาค ๔ กล่าวว่าในครั้งพุทธกาลมีการประชุมใหญ่ในการทำผ้า
เมื่อครั้งพระอนุรุทธะได้ผ้าบังสุกุลมา จะทำจีวรเปลี่ยนผ้าครองสำรับเก่า
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงทราบจึงพร้อมด้วยพระภิกษุ ๕๐๐ รูป
เสด็จไปประทับเป็นประธานในวันนั้น พระอสีติมหาสาวกก็ไปร่วมประชุมช่วยทำผ้ากฐิน พระมหากัสสปะนั่งอยู่ต้นผ้า
พระสารีบุตรนั่งอยู่ท่ามกลางผ้า พระอานนท์นั่งอยู่ปลายผ้า พระภิกษุสงฆ์ช่วยกันกรอด้ายสำหรับเย็บ
พระบรมศาสดาทรงสนเข็ม พระโมคคัลลานะเป็นผู้อุดหนุนกิจการทั้งปวง ประชาชนต่างนำสิ่งของไปถวาย เมื่อผ้าทำเสร็จแล้วจึงมีการประชุมสงฆ์ทำสังฆกรรมเกี่ยวกับผ้ากฐิน
ต่อมาด้วยเหตุการณ์ต่าง ๆ ของสังคมในอินเดียมีผู้ศรัทธานำผ้ากฐินมาถวาย แต่ไม่ปรากฏนามว่าผู้ใด เป็นผู้ได้ถวายผ้ากฐินเป็นคนแรกที่พระพุทธเจ้าทรงมีพระบรมพุทธานุญาต
ผ้าที่ควรทำเป็นผ้ากฐินมี ๕ ชนิด คือ
- ผ้าใหม่
- ผ้าบังสุกุล
- ผ้าเทียมใหม่
- ผ้าตกตามร้าน
- ผ้าเก่า
องค์แห่งพระภิกษุผู้ควรกรานกฐินมี ๘ คือ
- รู้จักบุพกรณ์
- รู้จักถอนไตรจีวร
- รู้จักอธิษฐานไตรจีวร
- รู้จักการกราน
- รู้จักมาติกา
- รู้จักปลิโพธกังวล
- รู้จักการเดาะกฐิน
- รู้จักอานิสงส์กฐิน
บุพกรณ์มี ๗ คือ
- ซักผ้า
- กะผ้า
- ตัดผ้า
- เนาหรือด้นผ้าที่ตัดแล้ว
- เย็บเป็นจีวร
- ย้อมจีวรที่เย็บแล้ว
- ทำกัปปะ คือ พินทุ(หรือเครื่องหมายบนผ้า)
หลักสำหรับพิจารณาในการเดาะกฐิน
ความสิ้นอานิสงส์ของกฐินเชื่อว่าการเดาะกฐินนั้นๆ
จะเดาะหรือไม่
ข้อนี้มีปลิโพธ ๒ มาติกา ๘
เป็นหลักพิจารณาดังนี้ คือ
ปลิโพธ มี ๒ อย่าง คือ
- อาวาสปลิโพธ คือ ยังมีความกังวล อาลัย ผูกใจจะอยู่ในอาวาสนั้นอยู่
- จีวรปลิโพธ คือ ยังมีความกังวลอาลัย ผูกใจในการที่จะทำจีวรนั้นอยู่ ปลิโพธทั้ง ๒ อย่างนี้ ถ้ายังมีอยู่แม้แต่อย่างใดอย่างหนึ่ง กฐินก็ยังไม่เดาะ ถ้าขาดทั้งหมดก็เดาะ
มาติกา คือ หัวข้อเพื่อให้รู้จักการเดาะกฐิน มี ๘ คือ
ไม้สะดึงหรือแม่แบบหรือกฐินนั้นก็รื้อเก็บไว้ใช้ในการทำผ้าเช่นนั้นในปีต่อๆ ไป การรื้อแบบไม้นี้เรียกว่า เดาะ ฉะนั้น คำว่า กฐินเดาะ หรือ เดาะกฐิน จึงหมายถึงการรื้อไม้แม่แบบเพื่อเก็บไว้ใช้ในโอกาสหน้า จึงมีมาติกา ๘ ดังนี้
- เดาะกฐินด้วยกำหนดหลีกไปด้วยคิดจะไม่กลับ
- เดาะกฐินด้วยทำจีวรเสร็จแล้ว
- เดาะกฐินด้วยสันนิษฐานว่า จะไม่ทำผ้าจีวร
- เดาะกฐินด้วยผ้าหาย หรือเสีย
- เดาะกฐินด้วยได้ยินข่าวว่าเลิกอานิสงส์กฐิน
- เดาะกฐินด้วยสิ้นหวังจากการได้ผ้า
- เดาะกฐินด้วยล่วงพ้นเขตหรือเวลา
- เดาะกฐินด้วยพร้อมภิกษุทั้งหลาย
อานิสงส์ของพระภิกษุเมื่อได้กรานกฐินมี ๕ คือ
- เที่ยวไปไม่ต้องบอกลาตามสิขาบทที่ ๖ แห่งอเจลวรรค ปาจิตติยภัณฑ์
- จาริกไปไม่ต้องถือไตรจีวรไปครบสำรับ
- ฉันคณะโภชน์ได้(การเอ่ยนามภัตตาหารได้)
- เก็บอติเรกจีวรไว้ได้ตามปรารถนา
- จีวรอันเกิดขึ้นในที่นั้น เป็นของได้แก่พวกเธอ(ทั้งยังได้โอกาสขยายเขตจีวรกาลไปอีก ๔ เดือน)
คำอธิษฐานผ้ากฐิน ว่าดังนี้
ผ้าสังฆาฏิ
..อิมาย สงฺฆาฏิยา กฐินํ อตฺถรามิ
ผ้าอุตตราสงฆ์
..อิมินา อุตฺตราสงฺเคน กฐินํ อตฺถรามิ
ผ้าอันตรวาสก
..อิมินา อนฺตรวาสเกน กฐินํ อตฺถรามิ
คำถวายกฐิน
ตั้งนะโม ๓ จบ แล้วว่าดังนี้
อิมัง สะปริวารัง กะฐินะจีวะระทุสสัง สังฆัสสะ
โอโณชะยามะ สาธุโน ภันเต สังโฆ อิมัง สะปริวารัง
กะฐินะทุสสัง
ปะฏิคคัณหาตุ ปาฏิคคะเหตวา จะ
อิมินา ทุสเสนะ กะฐินัง
อัตถะระตุ อัมหากัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะฯ
คำแปล
ข้าแต่พระสงฆ์ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายผ้ากฐินจีวร กับทั้งบริวารทั้งหลายเหล่านี้ แด่พระภิกษุสงฆ์ ขอพระภิกษุสงฆ์จงโปรดรับผ้ากฐินจีวร กับทั้งบริวารทั้งหลายเหล่านี้ของข้าพเจ้าทั้งหลาย ครั้นรับแล้วขอจงกรานกฐินด้วยจีวรนี้ เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายสิ้นกาลนานเทอญฯ
ประเภทของกฐิน
กฐินในประเทศไทยมีอยู่ด้วยกันหลายประเภท ดังนี้ คือ
- กฐินหลวง คือ กฐินที่พระเจ้าแผ่นดินเสด็จพระราชดำเนินทอดถวาย
ณ พระอารามหลวงที่กำหนดไว้เป็นกรณีพิเศษ ปัจจุบันมีอยู่ด้วยกัน
๑๖ วัด
เช่น
๑. วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กรุงเทพมหานคร
๒.
วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ กรุงเทพมหานคร
๓. วัดสุทัศน์เทพวราราม กรุงเทพมหานคร
๔. วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานคร
๕. วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม กรุงเทพมหานคร
๖. วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพมหานคร
๗. วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม กรุงเทพมหานคร
๘. วัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพมหานคร
๙. วัดราชาธิวาส กรุงเทพมหานคร
๑๐. วัดมกุฎกษัตริยาราม กรุงเทพมหานคร
๑๑. วัดอรุณราชวราราม กรุงเทพมหานคร
๑๒. วัดราชโอรสาราม กรุงเทพมหานคร
๑๓. วัดพระปฐมเจดีย์ นครปฐม
๑๔. วัดสุวรรณดาราราม พระนครศรีอยุธยา
๑๕. วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ พระนครศรีอยุธยา
๑๖. วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ พิษณุโลก
- กฐินต้น คือ กฐินที่พระเจ้าแผ่นดินทรงมีพระราชศรัทธา
พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ เสด็จพระราชดำเนินทอดถวายตามพระอารามที่ทรงพอพระราชหฤทัย โดยจะเป็นพระอารามหลวง หรือวัดชั้นราษฏร์ก็สุดแท้แต่พระราชอัธยาศัย
- กฐินพระราชทาน คือ กฐินที่พระเจ้าแผ่นดินทรงมีพระบรมราชานุญาตให้ข้าราชบริพาร หรือหน่วยงาน
ราชการต่างๆ
นำไปทอดถวาย ณ พระอารามหลวงต่างๆ
แทนพระองค์ เช่น วัดอนงคาราม วัดกัลยาณมิตร เป็นต้น
- กฐินราษฏร์ คือ กฐินที่ราษฏร หรือประชาชนจัดขึ้นเป็นการส่วนตัวหรือเป็นหมู่คณะ แล้วนำไปทอดถวายตามวัดต่างๆ ในกรุงเทพฯ
และต่างจังหวัดและวัดนั้นเป็นวัดที่ราษฏรสร้างขึ้น
- กฐินสามัคคี คือ กฐินที่พุทธศาสนิกชนร่วมกันจัดขึ้นเป็นหมู่คณะ
และนำไปทอดถวายยังวัดใดวัดหนึ่ง ด้วยความพร้อมเพรียงกัน
- กฐินทรงเครื่อง คือ กฐินที่มีผ้าป่าไปทอดสมทบ เรียกว่า
ผ้าป่าหางกฐิน
มีมหรสพสมโภชน์เป็นที่ เอิกเริกสำราญใจในบุญพิธีกฐิน
- กฐินโจร คือ กฐินที่เจ้าภาพนำไปทอดโดยมิได้ให้ทางวัดทราบล่วงหน้า
พอผ่านไปพบวัดใดวัดหนึ่ง ที่ยังไม่มีกฐิน ไม่มีผู้จองกฐิน
จวนจะหมดเขตกฐินอยู่แล้ว ก็จู่โจมเข้าไปทอดถวายคล้ายกับโจรปล้น มิให้เจ้าของทรัพย์รู้ตัว หรือจะเรียกอีกอย่างว่า กฐินตกค้าง
- จุลกฐิน คือ กฐินน้อย หมายถึง มีเวลาทำน้อยต้องทำด้วยความรีบร้อนด่วน เป็นกฐินฉุกละหุก เพราะต้องการทำทุกอย่างให้แล้วเสร็จภายในวันเดียว นับตั้งแต่หาฝ้ายมาปั่นด้วยทอทำเป็นผ้า และเย็บย้อมให้สำเร็จเป็นจีวรแล้วนำไปทอดถวายสงฆ์ที่จำพรรษาในอาวาสนั้นตลอดไตรมาส หรือสามเดือน
|
|
|
|
ปกิณกะกฐิน
ธงจระเข้ ปัญหาที่ว่าเพราะเหตุไรจึงมีธงจระเข้ยกขึ้นในวัดที่ทอดกฐินแล้ว
ยังไม่ปรากฎหลักฐานและข้อวิจารณ์อันสมบูรณ์ โดยมิต้องสงสัย
เท่าที่รู้กันมี 2 มติ คือ
- ในโบราณสมัย การจะเดินทางต้องอาศัยดาวช่วยประกอบเหมือนเช่น การยกทัพเคลื่อนขบวนในตอนจวนจะสว่างจะต้องอาศัยดาวจระเข้นี้ เพราะดาวจระเข้นี้ขึ้นในจวนจะสว่าง การทอดกฐินมีภาระมาก บางทีต้องไปทอด ณ วัดซึ่งอยู่ไกลบ้าน ฉะนั้นการดูเวลาจึงต้องอาศัยดาว พอดาวจระเข้ขี้นเคลื่อนองค์กฐินไปสว่างเอาที่วัดพอดี
และต่อมาก็คงมีผู้คิดทำธงในงานกฐิน ในชั้นต้นก็คงทำธงทิวประดับประดาให้สวยงานทั้งที่องค์กฐินทั้งที่บริเวณวัด และภายหลังคงหวั่นจะให้เป็น เครื่องหมายเนื่องด้วยการกฐินดังนั้นจึงคิดทำธงรูปจระเข้เสมือนประกาศให้รู้ว่าทอดกฐินแล้ว
- อีกมติหนึ่งเล่าเป็นนิทานโบราณว่า ในการแห่กฐินในทางเรือของอุบาสกผู้หนึ่ง มีจระเข้ตัวหนึ่งอยากได้บุญ จึงอุตส่าห์ว่ายตามเรือไปด้วย แต่ยังไม่ทันถึงวัดก็หมดกำลังว่ายตามต่อไปอีกไม่ไหว จึงร้องบอกอุบาสกว่าเหนื่อยนักแล้วไม่สามารถจะว่ายตามไปร่วมกองการกุศล วานท่านเมตตาช่วยเขียนรูปข้าพเจ้า เพื่อเป็นสักขีพยานว่าได้ไปร่วมการกุศลด้วยเถิด อุบาสกผู้นั้นจึงได้เขียนรูปจระเข้ยกเป็นธงขึ้นในวัด เป็นปฐมและสืบเนื่องมาจนบัดนี้
ร่วมบุญตั้งโรงทานได้ทุกปี
พระใหม่ ออกพรรษา รับกฐิน
ลมพัดชายจีวรอ้อนแล้ว
สกุณาเจื้อยแจ้วรับปลายฝน
ลมเหนือโบกส่ายไม้เบื้องบน
ออกพรรษาอีกหนก็วนมา
ผีเสื้อล้อลมชมชายกลีบ
ดอกประทีปเทียนลู่หยดซู่ซ่า
ปฏิทินวันเปลี่ยนที่เขียน-กา
รับกฐินพิจารณาเย็บผ้าไตร
แก่นขนุนโรงย้อมถนอมผ้า
สังฆาฏิหนาผืนผึ่งพึ่งตากใหม่
ก้มกราบอุปัชฌาย์จะลาไป
เป็นทิดใหม่ดินแดนหมื่นแสน-ทุกข์
ขอบคุณบทกลอนไพเราะจาก oknation
|