: : ยินดีต้อนรับเข้าสู่สถานปฏิบัติธรรม กับธรรมชาติที่สัปปายะ สงบ สะอาด ป่าไม้ ถ้ำ และภูเขา บนเนื้อที่ ๘๐ ไร่ ..วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ อ.พาน จ.เชียงราย โทร.053 184 325
 

วันออกพรรษา
วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ

                     
วันออกพรรษา คือ วันสุดท้ายในการจำพรรษาของพระภิกษุสงฆ์
ตรงกับวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ (หรือขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ในกรณีเข้าพรรษาหลัง)

   
 

“วันออกพรรษา” คือวันสุดท้ายในการจำพรรษาของพระภิกษุสงฆ หรือ วันที่สิ้นสุดระยะ การจำพรรษาของพระภิกษุตามวินัยบัญญัติ โดยพระวินัยบัญญัติให้พระภิกษุต้องอยู่ประจำที่ หรืออยู่ในวัดแห่งเดียวตลอดระยะเวลาถ้วนไตรมาส ๓ เดือน ในช่วงฤดูฝน ซึ่งตรงกับวันเพ็ญ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ (หรือขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ในกรณีเข้าพรรษา หลัง) ของทุกป

“วันออกพรรษา”  มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “วันปวารณา หรือ วันมหาปวารณา” โดยในวันนี้ พระภิกษุสงฆ์จะทำพิธีปวารณา หรือ “ปวารณากรรม” ซึ่งพระภิกษุทั้งหลายทั้งพระผู้ใหญ่และพระผู้น้อย ต่างเปิดโอกาสอนุญาตแก่กันและกัน ยอมให้ว่ากล่าวตักเตือนซึ่งกันและกันได้ เนื่องจากในระหว่างจำพรรษานั้นพระภิกษุบางรูป อาจมีข้อบกพร่องที่จำเป็น ต้องแก้ไข ซึ่งการเปิดโอกาสให้ผู้อื่นว่ากล่าวตักเตือนได้ เป็นวิธีที่จะทำให้รู้ถึงข้อบกพร่องของตนเอง เพื่อนำข้อบกพร่อง ดังกล่าว ไปปรับปรุง ในทางที่ดีขึ้น และที่สำคัญคือ การว่ากล่าวตักเตือนจะเป็นการกระทำที่เปิดเผย และไม่ถือเป็นเรื่องที่ จะมาโกรธเคืองกันภายหลังได้

วันมหาปวารณา
การทำปวารณานี้มีปรากฏเป็นหลักฐานในพระไตรปิฎก กล่าวคือ เมื่อพระพุทธเจ้าทรงประทับ จำพรรษาอยู่ ณ พระเชตวัน มหาวิหาร กรุงสาวัตถี มีพระภิกษุกลุ่มหนึ่งแยกย้ายกันจำพรรษาอยู่ ตามอารามรอบๆ นคร พระภิกษุเหล่านั้นเกรงจะเกิดการขัดแย้งทะเลาะวิวาทกันจนอยู่ไม่เป็นสุข ตลอดพรรษาจึงได้ตั้งกติกาว่าจะไม่พูดจากัน(มูควัตร) จนกระทั่งถึงวันออกพรรษา พระภิกษุเหล่านั้น ก็พากันไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าที่พระเชตวันมหาวิหารกราบทูลเรื่องทั้งหมดให้ทรงทราบ พระพุทธเจ้า จึงทรงตำหนิว่าอยู่กันเหมือนฝูงปศุสัตว์แล้วทรงมีพระบรมพุทธานุญาตให้พระภิกษุกระทำการ ปวารณาต่อกัน พระองค์ทรงตรัสว่า

“ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุทั้งหลายผู้จำพรรษาแล้วปวารณากันในสามลักษณะ คือด้วยการเห็นก็ดี ด้วยการได้ยินก็ดี ด้วยการสงสัยก็ดี”

การทำปวารณากรรมนี้ จะกระทำในวันสุดท้ายที่ครบ ๓ เดือน นับแต่วันเข้าพรรษา ในวันนี้พระสงฆ์ ไม่ต้องทำอุโบสถกรรม(สวดพระปาติโมกข์) อย่างวันเพ็ญหรือวันสิ้นเดือนอื่น ๆ แต่มีพระวินัยบัญญัติให้ ทำปวารณากรรมแทนการสวดพระปาติโมกข์ นอกจากนี้ ปีหนึ่ง ๆ ในวัดหนึ่งจะมีปวารณากรรมได้ เพียงครั้งเดียว ฉะนั้นปวารณากรรมจึงนับเป็นสังฆกรรมพิเศษ เป็นหน้าที่ บังคับให้ภิกษุทุกรูปต้องทำ เมื่อพระภิกษุทำปวารณากรรมแล้ว ถือว่าพ้นข้อผูกพันที่ต้องอยู่ประจำ สามารถไปไหนมาไหนได้ทั่วไป ฉะนั้นจึงนิยมเรียก ปวารณากรรมนี้อย่างเข้าใจง่าย ๆ ว่า “ออกพรรษา” ปวารณากรรม หรือ
การออกพรรษา
มี คำกล่าวปวารณาเป็นภาษาลีความว่า

“สังฆัมภันเต ปะวาเรมิ ทิฎเฐนะ วา สุเตนะ วา ปะริสังกายะ วา วะทันตุ มัง อายัสมันโต อะนุกัมปัง อุปาทายะ ปัสสันโต ปฎิกะริสสามิ”

แปลว่า “ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าขอปวารณาต่อสงฆ์ ด้วยได้เห็นก็ดี ด้วยได้ยินก็ดี หรือสงสัยก็ดี ขอท่านทั้งหลายจงอาศัยความกรุณาโปรดอนุเคราะห์ ว่ากล่าวตักเตือนข้าพเจ้าด้วย เมื่อข้าพเจ้าสำนึกได้ จักทำคืนเสีย แล้วจักสำรวมระวังต่อไป (กล่าว ๓ ครั้ง)

การกล่าวปวารณา เท่ากับเป็นการช่วยระมัดระวังข้อประพฤติปฏิบัติที่ไม่ดีของพระรูปหนึ่งรูปใด ซึ่งเป็นการป้องกันปัญหาจากจุด เล็กๆ น้อยๆ ก่อนจะลุกลามก่อความเสื่อมเสียไปถึงพระสงฆ์หมู่มาก และลุกลามไปถึงพระพุทธศาสนาอันเป็นจุดศูนย์กลางได้ ซึ่งเป็นกุศโลบายในการจัดการโดย ใช้วิธีป้องกันไว้ก่อนดีกว่าการแก้ไขในภายหลัง ดังจะเห็นได้ว่า วันออกพรรษา หรือ วันมหาปวารณาที่พระภิกษุสงฆ์ทั้งหลายกระทำเช่นนี้ เป็นเครื่องชี้ให้เห็นวิธีการคอยสังวร คือ ตามระวัง ไม่ประมาท ไม่ยอมให้ความเลวร้ายเกิดขึ้นได้ เหมือนล้อมรั้วไว้ก่อนที่วัวจะหาย

ธรรมเนียมราษฏร์ปฏิบัติในวันออกพรรษา :

   

สำหรับธรรมเนียมปฏิบัติของฆราวาสที่เกี่ยวเนื่องกันในวันออกพรรษานี้ก็ได้แก่การบำเพ็ญบุญกุศล ต่างๆ เช่น การทำบุญตักบาตรรักษาศีล ฟังธรรม ณ วัดที่อยู่ใกล้เคียง การทำบุญซึ่งเป็นประเพณีนิยมที่กระทำกันมานานแล้วในวันออกพรรษาคือ “ตักบาตรเทโว”หรือเรียกชื่อเต็มคำว่า“ตักบาตรเทโวโรหนะ” ซึ่งการตักบาตรเทโวนี้จะกระทำในวันขึ้น ๑๕ เดือน ๑๑ หรือวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๒ ก็ได้สุดแท้แต่จะเห็นพร้อมกัน แต่โดยส่วนมากมักจะจัดการทำบุญตักบาตรหลังวันออกพรรษา ๑ วัน คือ วันแรม ๑ ค่ำเดือน ๑๒

 


   

 



                 





    
        

                           
         
                               
         

 

            
วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ
ศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติ ประจำจังหวัดเชียงราย
ศูนย์พัฒนาคุณธรรม-จริยธรรมประจำจังหวัดเชียงราย
๓๙๕ หมู่ ๑๑ ตำบลธารทอง อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ๕๗๒๕๐
โทรศัพท์ (๐๕๓)๑๘๔ ๓๒๕ โทรสาร (๐๕๓)๑๘๔ ๓๒๕

website : www.watthumpra.com
email : watthumprachiangrai@gmail.com