: : ยินดีต้อนรับเข้าสู่สถานปฏิบัติธรรม กับธรรมชาติที่สัปปายะ สงบ สะอาด ป่าไม้ ถ้ำ และภูเขา บนเนื้อที่ ๘๐ ไร่ ..วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ อ.พาน จ.เชียงราย โทร.053 184 325
 

.. วันวิสาขบูชา

ขอเชิญร่วมปฏิบัติธรรม
วันวิสาขบูชา
3-5 มิถุนายน 2566
ณ วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ

จัดเวียนเทียนวันพระวิสาขบูบา
เวลา 20.๐๐ น
.

วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ ได้จัดปฏิบัติธรรมในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาเป็นปกติประจำทุกปี
ทุกครั้งจะมีญาติธรรมที่สนใจในการปฏิบัติธรรมได้มาร่วมกิจกรรมการปฏิบัติธรรมเป็นจำนวนมาก ซึ่งการจัดกิจกรรมส่วนใหญ่จะจัดประมาณ 3-5 วัน ขึ้นอยู่กับโอกาสและวันหยุดในวันสำคัญนั้นๆ ซึ่งหากวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาวันไหนที่ตรงกับวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ หรือ เป็นวันนักขัตฤกษ์ ที่หยุดติดต่อกับวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ กิจกรรมการปฏิบัติธรรมก็จะพิจารณาตามความเหมาะสม

ส่วนญาติธรรมที่สนใจการปฏิบัติธรรมเป็นการส่วนตัวเฉพาะบุคคล หรือเป็นหมู่คณะในนามหน่วยงาน ก็สามารถที่จะทำได้โดยติดต่อไปที่วัดโดยตรงที่ โทร.053 184 325 หรือหากไปเฉพาะบุคคล 3 วัน 5,7,9 วัน ก็สามารถทำได้โดยเดินทางไปที่วัด และจัดเตรียมของใช้ส่วนตัวที่จำเป็นของแต่ละบุคคลไปด้วย ส่วนชุดเครื่องแต่งกายที่จะนำไปใช้เวลาอยู่ปฏิบัติในวัดนั้น แต่ละบุคคลก็ควรจะจัดเตรียมไปให้พร้อม เป็นของใช้ส่วนตัว

จึงขอเชิญชวนท่านที่สนใจในการร่วมปฏิบัติธรรม ถือศีล บวชชีพราหมณ์ ได้ร่วมปฏิบัติธรรม สามารถที่จะเข้าร่วมปฏิบัติธรรมได้ทุกวัน และขอรับศีลอุโบสถในเวลา 09.00 น. หรือ 17.00 น. ทุกวัน

สิ่งที่ต้องเตรียมสำหรับญาติธรรมที่จะไปบวชเนกขัมม-ชีพราหมณ์ที่วัด

  1. เตรียมตัว และเตรียมตนเองให้พร้อม นำบัตรประชาชนไปแสดงตัว
    ซึ่งเป็นกฏของมหาเถรสมาคมที่ทุกวัดต้องปฏิบัติตาม
  2. เสื้อผ้า ชุดขาว
    ผู้หญิง : เสื้อขาวชุดปฏิบัติธรรม แขนสามส่วนคล้ายของแม่ชีใช้ ผ้าถุงสีขาว

    ผู้ชาย : เสื้อขาวชุดปฏิบัติธรรม คอกลมแขนสั้นหรือเสื้อยืดขาว กางเกงสีขาวหลวม
  3. ของใช้ส่วนตัว ของที่ไม่ใช้ร่วมกับผู้อื่น เช่น ยารักษาโรคที่ตนเองจำเป็นต้องใช้อยู่เป็นประจำ
    ยาตามแพทย์สั่ง และของใช้ส่วนตัวอื่นเช่น สบู่ ยาสีฟัน
    เครื่องใช้ส่วนตัวอื่น
  4. เครื่องนอนต่างๆ เช่นหมอน ผ้าห่ม ผ้านวม ที่วัดมีให้ใช้บริการ
    ควรช่วยกันดูแลรักษาความสะอาดให้เรียบร้อย
    หรือหากท่านใดจะนำมาจากที่บ้านเป็นของใช้ส่วนตัวก็อนุญาต
  5. ดอกไม้ ธูป เทียน ทึ่จะเตรียมไปรับศีล ขอศีลบวชชีพราหมณ์
    ควรเตรียมไปจากที่บ้านให้เรียบร้อย
    อย่าไปเสาะหาจากในวัด
    บางท่านไปเด็ดดอกไม้ในวัดจะทำให้ติดหนี้สงฆ์และเป็นการทำลายของสงฆ์
  6. เคารพกฏ ระเบียบ ที่ทางวัดได้วางไว้อย่างเรียบร้อยดีงาม
    เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างผาสุข
  7. หากจะรับศีลตั้งแต่เช้าให้เดินทางไปถึงที่วัดตามเวลา ดังนี้
    ช่วงเช้า ตั้งแต่ 9.00 น.เป็นต้นไป
    ช่วงเย็น ไปถึงวัดไม่ควรเกิน 17.00 น.

หมายเหตุ:

มีการปฏิบัติธรรม ทำวัตรเช้า-สวดมนต์เย็น ทุกวัน และเจริญสติภาวนา ยืน เดิน นั่ง หลังสวดมนต์เช้า-เย็น และฟังธรรมบรรยายจากพระอาจารย์สอนด้านวิปัสนากรรมฐาน

ซึ่งเวลาในการทำความเพียรเริ่มเมื่อได้ยินเสียงระฆังตีให้สัญญาณ
    เวลาเช้า ๐๔.๐๐ น. และ
    เวลา เย็น ๑๗.๓๐ น.
เมื่อได้ยิน เสียงระฆังในเวลาเช้า หรือ เย็น จากนั้นทางวัดจะเปิดเทปธรรมเสียง เสียงปลุก เสียงปลง เป็นเสียงตามสายที่เปิดเพื่อเตือนให้ผู้ปฏิบัติธรรมทุกท่านได้เตรียมตัว ซึ่งเทปเสียงที่เปิดนี้จะใช้เวลา ๓๐ นาที ซึ่งในระยะเวลา ๓๐ นาทีนี้ หากท่านใดยังไม่ได้เตรียมตัวให้ทุกท่านเตรียมทำธุระส่วนตัวให้พร้อม หากเมื่อพร้อมแล้ว ก็ให้เข้าสู่สถานที่ปฏิบัติธรรม ประจำวัน เมื่อเสียงเทปธรรมะหยุดลงก็เป็นเวลาเริ่มทำ วัตรเช้าหรือทำวัตรเย็น

เมื่อถึงเวลาปฏิบัติธรรม: 

  1. ขั้นตอนที่ ๑
    ทำวัตร สวดมนต์แปลประมาณ ๒๐-๓๐ นาท
  2. ขั้นตอนที่ ๒
    เจริญสติ นั่งสมาธิ หรือเดินจงกรม ๓๐-๖๐ นาท
  3. ขั้นตอนที่ ๓
    ฟังธรรมบรรยายจากหลวงพ่อหรือพระวิปัสนาจารย์ ๓๐-๔๐ นาท
ตารางเวลาในการปฏิบัติธรรมประจำวัน
โปรดรักษาเวลา และตรงต่อเวลา
เพราะหลวงพ่อและคณะสงฆ์ท่านจะเน้นย้ำเรื่องการตรงต่อเวลาที่สุด
อีกทั้งการตรงต่อเวลานั้นยังทำให้ไม่เป็นการรบกวนสมาธิของผู้อื่น ซึ่งกำลังเข้าสู่เวลาแห่งการปฏิบัติธรรม


วันที่ เวลา กิจกรรม หมายเหตุ
เมื่อมี
กิจกรรม
รับศีล
๐๙.๐๐ น.
ช่วงเช้า 09.00 น.ทุกวัน
ช่วงเย็น 17.00 น.ทุกวัน เพื่อความพร้อมเพรียงเป็นระเบียบเรียบร้อย

 
ภาคเช้า
๐๔.๐๐ น.
สัญญาณระฆังเตรียมพร้อม ซึ่งขณะเดียวกันก็จะเปิด
ธรรมคีตะเพื่อให้ตื่นรู้และทำภารกิจส่วนตัวให้เสร็จ
ภายในเวลา เมื่อธรรมคีตะจบก็เริ่มทำวัตรเช้า
 
๐๔.๓๐ น.
ปฏิบัติธรรม-สวดมนต์ทำวัตรเช้า นั่งสมาธิ-เดินจงกรม
ตามแต่โอกาส รับฟังพระธรรมบรรยาย
จนถึงเวลา ๐๖.๐๐ น. รับประทานอาหารเช้า
 

๐๘.๐๐ น.
หลวงพ่อนำพระภิกษุสงฆ์รับบิณฑบาตภายในวัด
 
ภาคสาย
๐๘.๓๐ น.
สัญญาณระฆังเตรียมพร้อม(เปิดเทปธรรมคีตะ ๓๐ นาที)  
 
๐๙.๐๐ น.
ปฏิบัติธรรม-สวดมนต์ทำวัตรเช้า เดินจงกรม
รับฟังพระธรรมบรรยาย
 
 
๑๑.๐๐ น.
พระภิกษุสงฆ์รับภัตตาหารเพล..
ผู้ร่วมปฏิบัติธรรมพักรับประทานอาหาร
 
 
๑๒.๐๐ -
๑๓.๓๐ น.
.....ทำภารกิจส่วนตัว-พักผ่อนตามอัธยาศัย......
 
ภาคบ่าย
๑๓.๓๐ น.
สัญญาณระฆังเตรียมพร้อม(เปิดเทปธรรมคีตะ ๓๐ นาที)  
 
๑๔.๐๐ น.
ปฏิบัติธรรม-สวดมนต์ นั่งสมาธิ รับฟังพระธรรมบรรยาย
จนถึงเวลา ๑๖.๐๐ น. พักผ่อน-ทำภารกิจส่วนตัว
 
ภาคค่ำ
๑๗.๓๐น.
สัญญาณระฆังเตรียมพร้อม(เปิดเทปธรรมคีตะ ๓๐ นาที)  
   
๑๘.๐๐ น.
ปฏิบัติธรรม-สวดมนต์ทำวัตรเย็น นั่งสมาธิ
รับฟังพระธรรมบรรยายจนถึงเวลา ๒๐.๐๐ น.
โดยประมาณ พักผ่อนตามอัธยาศัย
 
 
...จงดูจิต ระวังจิต รักษาจิต...
 
วันปกติ
  เริ่มที่เวลา เช้า ๐๔.๐๐ น. และเวลาเย็น ๑๘.๐๐ น.
ในระหว่างวันจะมีผู้นำปฏิบัติตามควร
 

สำหรับการอยู่ปฏิบัติธรรมตามปกติ
เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจการทำวัตรปฏิบัติธรรมแล้วอนุญาตให้พักหรือให้ช่วยกันทำหน้าที่ต่างๆ ต่อไป โดยหากเป็น

  • ช่วงเช้า ปฏิบัติธรรมตามเวลาปกติ
  • เวลาเย็น เริ่มที่เวลา ๑๖.๐๐ น. (๔ โมงเย็น) ทุกท่านก็พร้อมใจช่วยกันทำความสะอาดบริเวณวัด เช่นการกวาดใบไม้ หรือทำความสะอาดรอบบริเวณวัด กุฏิ ศาลา จนถึงเวลา ๑๗.๐๐-๑๗.๓๐ น. สัญญาณระฆัง ในการทำวัตรเย็นก็จะดังขึ้น ทุกท่านก็เตรียมทำภารกิจส่วนตัวให้พร้อมก่อนขึ้นทำวัตรเย็นต่อไป
  • ทำวัตรเย็น ๑๘.๐๐ น. (๖ โมงเย็น)   

กิจกรรมการเวียนเทียน
วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ โดยพระเดชพระคุณ พระครูจันทนิภากร (หลวงพ่อถวิล จนฺทสโร) เมตตานำคณะสงฆ์และญาติธรรม จัดเวียนเทียนรอบอุโบสถวัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา ในเวลาประมาณ ๒๐.๐๐ น. สาธุชนที่แม้ไม่ได้เข้าร่วมปฏิบัติธรรมก็สามารถเข้าร่วมกิจกรรมเวียนเทียนได้ตามเวลาดังที่แจ้งไว้นี้

วิสาขบูชา

วิสาขบูชา วันที่พระพุทธเจ้าทรงพระประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน
ตรงกับวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ (หรือ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๗ ในปีอธิกมาส)

“วิสาขะ” เป็นชื่อเรียกของเดือน ๖ ส่วนคำว่า “วิสาขบูชา” ย่อมาจากคำว่า “วิสาขปุรณมีบูชา” แปลว่า “การบูชาพระในวันเพ็ญเดือน ๖” ดังนั้นวันวิสาขบูชาจึงตรงกับวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ (หรือขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๗ ในปีอธิกมาส คือปีที่มีเดือน ๘ สองหน)

วันวิสาขบูชาเป็นวันที่พุทธศาสนิกชนทั้งหลายถือเอาความอัศจรรย์ ๓ ประการที่เกิดขึ้นกับพระพุทธเจ้า
โดยเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่างปี แต่พ้องวันกัน คือ วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ซึ่งความอัศจรรย์ทั้ง ๓ ประการ ที่เกิดในวันวิสาขบูชา หรือวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ในสมัยพุทธกาล ได้แก่

     ๑.  เป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ก่อนพุทธศักราช ๘๐ ปี
     ๒.  เป็นวันที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้   ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ก่อนพุทธศักราช ๔๕ ปี
     ๓.  เป็นวันที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ก่อนพุทธศักราช  ๑ ปี

. เป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ พระพุทธเจ้าทรงประสูติเมื่อวัน ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีจอ ก่อนการกำหนดใช้พุทธศักราช ๘๐ ปี โดยมีพุทธประวัติสังเขปดังนี้

สวรรค์ชั้นดุสิต
เป็นสวรรค์ชั้นที่ ๔ ชื่อว่า ตุสิตา หรือ ตุสิตะ หรือ ชั้นดุสิต แปลว่า ยินดีชื่นบาน คือมีปีติอยู่ด้วยสิริสมบัติ
ของตน เทวราชผู้ ปกครองทรงพระนามว่า สันตุสิต ซึ่งพระโพธิสัตว์ผู้สร้างโพธิสมภารที่จะลงมาตรัสเป็น
พระพุทธเจ้าในโลกมนุษย์ย่อมสถิต อยู่ในชั้นนี้ เทพในชั้นนี้เป็นผู้รู้บุญรู้ธรรม เพราะพระโพธิสัตว์ได้ทรงแสดงธรรมสั่งสอนเนืองๆ

และความโกลาหลอย่างขนานใหญ่ของเหล่าเทวดาามีอยู่สามสมัย คือสมัยเมื่อโลกจะวินาศ สมัยเมื่อพระพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้น สมัยเมื่อพระเจ้าจักรพรรดิจะเกิดขึ้น ซึ่งพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ที่จะได้จุติในโลกได้ทรงเป็นพระโพธิสัตว์ประทับอยู่ที่สวรรค์ชั้นดุสิตนี้ ซึ่งกาลที่พระพุทธเจ้าจะทรงอุบัตินั้นเหล่าเทวดาก็เกิดโกลาหล จึงได้พากันไปเฝ้าทูลอารธนาพระโพธิสัตว์ให้จุติลงไปตรัส

เมื่อพระองค์ได้รับการกราบทูลอัญเชิญจากท้าวมหาพรหมและเทวราชในสวรรค์ทั้ง ๖ ชั้น พระองค์
ทรงพิจารณา ปัญจมหาวิโลกนะ ได้แก่การพิจารณาถึงสิ่งสำคัญ ๕ ประการ หรือกาลสมัยอันสมควร ทั้ง ๕ ประการ ดังนี้

ปัญจมหาวิโลกนะ ทั้ง ๕ ประการได้แก่
๑.  กาลเวลา   
๒.  ทวีป   
๓.  กาลประเทศ   
๔.  ราชตระกูล   
๕.  พระมารดา

  • กาลเวลา
    คือ กาลเวลาแห่งอายุของมนุษย์ คือ ถ้ามนุษย์มีอายุมากเกินแสนปีขึ้นไป หรือต่ำกว่าร้อยปีลงมาก็ไม่ใชกาลที่จะลงมาตรัสรู้ เพราะยุคสมัยที่มนุษย์อายุมากเกินไปก็ไม่อาจเห็นพระไตรลักษณ์ หรือหากอายุสั้นเกินไปก็มีกิเลสหนามากไม่อาจเห็นธรรม แต่ในยุคนี้เป็นยุคที่มนุษย์มีอายุร้อยปีจึงเป็นกาลที่จะลงมาตรัสรู้ได
  • ทวีป
    ทรงเห็นว่าชมพูทวีปเป็นทวีปที่เหมาะสมที่จะลงมาตรัสรู้
  • กาลประเทศ
    ทรงเห็นว่า มัชฌิมประเทศ คือท้องถิ่นร่วมกลางชมพูทวีป (ซึ่งบัดนี้อยู่ในอินเดีย    ปากีสถานเป็นส่วนมาก เลยเข้าไปในเนปาลบ้าง เช่น สถานที่ประสูติอยู่ในเนปาล) เป็นสถานที่เหมาะที่จะลงมาตรัสรู้
  • ราชตระกูล
    ทรงเห็นวงศ์ สักยราชตระกูล และพระเจ้าสุทโธทนะจะทรงเป็นพระราชบิดาได้
  • พระมารดา
    คือ ทรงเห็นพระนางสิริมหามายามีศีลและบารมีธรรม สมควรเป็นพระมารดาได้ ทั้งจะมีพระชนม์สืบไปจากเวลาที่พระโอรสประสูติเพียงเจ็ดวัน สัตว์อื่นไม่อาจอาศัยคัพโภทร(ครรภ์) บังเกิดได้อีก

ครั้นพระโพธิสัตว์ทรงเห็นสถานะทั้ง ๕ มีครบบริบูรณ์แล้ว จึงทรงรับอารธนาจากเหล่าเทวราช เหตุที่จะรู้ว่าพระโพธิสัตว์เทพใกล้จะจุตินั้น เพราะได้เกิดบุพนิมิต ๕ ประการ แก่พระองค์ คือ

  1. ทิพยบุปผาที่ประดับพระกายเหี่ยวแห้ง
  2. ทิพยภูษาทรงมีสีเศร้าหมอง
  3. พระเสโทไหลจากพระกัจฉะ (รักแร้)
  4. พระสรีรกายปรากฏอาการชรา
  5. มีพระหทัยเป็นทุกข์เหนื่อยหน่ายจากเทวโลก ไม่ยินดีที่จะสถิตในทิพยอาสน์

ครั้นเห็นว่าอยู่ในสถานะอันสมควรแล้วจึงทรงรับคำทูลของท้าวมหาพรหมแล้วจึงได้เสด็จจุติลงมาปฏิสนธิ ในพระครรภ์ของพระนางสิริมหามายาเทวี พระมเหสีของพระเจ้าสุทโธทนะ ซึ่งในคืนวันเพ็ญเดือน ๘ พระนางสิริมหา มายาทรงอธิษฐานสมาทานอุโบสถศีล ในยามใกล้รุ่งได้ทรงสุบินนิมิตว่าท้าวจตุมหาราชทั้งสี่ได้ทูลเชิญพระนาง เสด็จไปสรงน้ำในสระอโนดาต ชำระล้างมลทินแห่งมนุษย์แล้วทรงผลัดด้วยผ้าทิพย์ลูบไล้ด้วยของหอมทรงประดับบุปผชาติอันเป็นทิพย์ แล้วเชิญเสด็จเข้าที่บรรทมบนพระแท่นในวิมานทองในภูเขาเงิน ทรงบ่ายพระเศียร ไปยังทิศตะวันออก

๒.  เป็นวันที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ    
พระองค์ทรงตรัสรู้ในตอนเช้ามืด วันพุธ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีระกา ก่อนพุทธศักราช ๔๕ ปี (หลังจากออกผนวชได้ ๖ ปี) ณ ใต้ร่มไม้ศรีมหาโพธิ์ ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ปัจุบันสถานที่ตรัสรู้แห่งนี้ เรียกว่า 
“พุทธคยา” เป็นตำบลหนึ่งของเมืองคยา แห่งรัฐพิหารของอินเดีย

พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสรู้อริยสัจสี่ หรือความจริงอันประเสริฐ ๔ ประการ ซึ่งได้รับการยอมรับว่า     การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าเป็นการตรัสรู้อันยอดเยี่ยม ไม่มีผู้เสมอเหมือน ดังนั้น วันตรัสรู้ของ     พระพุทธเจ้าจึงจัดเป็นวันสำคัญ เพราะเป็นวันที่บังเกิดพระพุทธเจ้าพระนามว่า “โคตมะ”อุบัติขึ้นในโลก โดยมีพุทธประวัติสังเขปดังนี้

พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญเพียร ที่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ทรงเริ่มบำเพ็ญสมาธิให้เกิดในพระทัย     เรียกว่า การเข้า “ฌาน” เพื่อให้บรรล“ญาณ”
จนเวลาผ่านไปจนถึง

ยามต้น  : ทรงบรรลุ “ปุพเพนิวาสานุสติญาณ” คือทรงระลึกชาติในอดีตทั้งของตนเองและผู้อื่น
ยามสอง :
ทรงบรรลุ “จุตูปปาตญาณ” คือการรู้แจ้งการเกิดและดับของสรรพสัตว์ทั้งหลาย
ยามสาม :
ทรงบรรลุ “อาสวักขญาณ” คือรู้วิธีกำจัดกิเลสด้วยอริยสัจ ๔(ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค)

ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในคืนวันเพ็ญเดือน ๖ ซึ่งขณะนั้นพระพุทธองค์มีพระชนมายุได้ ๓๕ พรรษา

๓. วันที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน 
คือ การดับสังขารไม่เวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป ทรงดับขันธ์ปรินิพพานเมื่อวันอังคาร ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีมะเส็ง ก่อนพุทธศักราช ๑ ปี

คราเมื่อพระบรมศาสดาได้ทำการ “ปลงมายุสังขาร” ณ ปาวาลเจดีย์ เมืองเวสาลี แคว้นวัชชี ในวันมาฆบูชา ซึ่งการปลงมายุสังขารของพระบรมศาสดาในครั้งนี้ก็ทำให้อีก ๓ เดือนต่อมา
พระพุทธองค์ก็เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานในวันวิสาขบูชาซึ่งในการปลงพระชนมายุสังขารในครั้งนี้
พระพุทธองค์ทรงตรัสกับพระอานนท์ว่า..


“ดูกรอานนท์! เพราะอบรมอิทธิบาทสี่ มาอย่างดีแล้ว ทำจนแจ่มแจ้งแล้ว
อย่างเรานี้ถ้าปรารถนาจะมีชีวิตอยู่ถึงหนึ่งกัป (คือหนึ่งร้อยยี่สิบปี) ก็สามารถจะมีชีวิตอยู่ได้”
  

พระพุทธองค์ตรัสเช่นนี้ถึง ๓ ครั้ง แต่พระอานนท์ก็คงเฉยมิได้ทูลอะไรเลย เมื่อเห็นพระอานนท์เฉยอยู่
พระพุทธองค์จึงตรัสว่า “อานนท์! เธอจงไปพักผ่อนเสียบ้างเถิด เธอเหนื่อยมากแล้ว แม้ตถาคตก็จะ
พักผ่อนเหมือนกัน” พระอานนท์จึงหลีกไปพักผ่อน ณ โคนต้นไม้อีกต้นหนึ่ง ซึ่ง ณ เวลานั้น
พระพุทธองค์ทรงรำพึงถึงกาลที่ทรงตรัสรู้ล่วงมา ๔๕ ปี ที่แรกเริ่มทรงท้อพระทัยในการที่จะประกาศ
ธรรมสั่งสอนสัตว์ แต่ด้วยพระมหากรุณาต่อสรรพสัตว์ จึงตกลงรับอารธนาแสดงธรรม ทรงตั้งพระทัย
ว่าถ้าบริษัทสี่ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ยังไม่เป็นปึกแผ่น พระธรรมยังไม่แพร่หลายเพียงพอ
ตราบนั้นพระองค์จะทรงยังไม่เสด็จปรินิพพาน แต่ในกาลบัดนี้พระธรรมคำสอนของพระองค์
แพร่หลายเพียงพอแล้ว เหล่าพุทธบริษัทสี่ ฉลาดสามารถพอที่จะดำรงพระสัทธรรมของพระองค์
ให้เป็นปึกแผ่นได้เป็นการสมควรแล้วที่พระองค์จะเข้าสู่มหาปรินิพพาน เมื่อทรงดำริเช่นนี้แล้ว
จึงทรงปลงมายุสังขารคือ ตั้งพระทัยแน่วแน่ว่า พระองค์จะปรินิพพานในวันเพ็ญวิสาขปูรณมีเดือน ๖

ซึ่งการปลงมายุสังขารของพระพุทธองค์ ก่อให้เกิดความวิปริตแปรปรวนแก่โลกธาตุทั้งสิ้น มหาปฐพี
มีอาการสั่นสะเทือน หมู่มวลแมกไม้แกว่งไกวด้วยแรงพายุแล้วกลับสงบนิ่ง ท้องนภากาศกลาย
เป็นสีแดงเพลิงประดุจโลหิต หมู่มวลสรรพสัตว์ร้องระเบงเซ็งแซ่สนั่นหวั่นไหว พระอานนท์
พุทธอุปัฏฐาก สังเกตเห็นความวิปริตแปรปรวนของโลกธาตุดังนี้จึงเข้าเฝ้าพระตถาคตทูลถามว่า
“พระองค์ผู้เจริญ ! โลกธาตุวิปริตแปรปรวนผิดปกติ ไม่เคยมี ไม่เคยเป็น ได้เป็นแล้วเพราะเหตุอะไรหนอ”


“ดูกรอานนท์! อย่างนี้แหล่ะ คราใดที่ตถาคตประสูติ ตรัสรู้ หมุนธรรมจักร ปลงมายุสังขาร
และปรินิพพาน ครานั้นย่อมจะมีเหตุการณ์วิปริตอย่างนี้เกิดขึ้น”

พระอานนท์จึงทราบว่า บัดนี้พระพุทธองค์ทรงปลงมายุสังขารเสียแล้ว เมื่อทราบดังนั้นพระอานนท์จึงทูลว่า

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ขอพระองค์อาศัยความกรุณาในข้าพระองค์ และหมู่สัตว์ จงดำรงพระชนม์ชีพต่อไปอีกเถิด อย่าเพิ่งด่วนปรินิพพาน เลย”...

“ดูกรอานนท์!
เป็นไปไม่ได้ที่จะให้ตถาคตกลับใจ ตถาคตต้องปรินิพพานในวันเพ็ญแห่งเดือนวิสาขะ
อีกสามเดือนข้างหน้านี้
อานนท์! เราได้แสดงนิมิตโอภาสอย่างแจ่มแจ้งแก่เธอพอเป็นนัยมา
ไม่น้อยกว่าสิบหกครั้งแล้วว่า คนอย่างเรานี้มีอิทธิบาทภาวนาที่ได้อบรมมาด้วยดี ถ้าประสงค์จะอยู่ถึง
หนึ่งกัปป์ คือ หนึ่งร้อยยี่สิปปี หรือมากกว่านั้นก็พออยู่ได้ แต่เธอหาเฉลียวใจไม่ มิได้ทูลเราเลย
เราตั้งใจไว้ว่าในคราวก่อน ๆ นั้นถ้าเธอทูลให้เราอยู่ต่อไป เราจะห้ามเสียสองครั้ง พอเธอทูลครั้งที่สาม
เราจะรับอาราธนาของเธอ แต่บัดนี้ช้าเสียแล้ว เรามิอาจกลับใจได้อีก”


ดูกรอานนท์! เราเคยบอกเธอแล้วมิใช่หรือว่า บุคคลย่อมต้องพลัดพรากจากสิ่งที่รักที่พึงใจ
เป็นธรรมดา หลีกเลี่ยงไม่ได้ ชีวิตนี้มีความพลัดพรากเป็นที่สุด สิ่งทั้งหลายมีความแตกไป ดับไป
สลายไป เป็นธรรมดา จะปรารถนามิให้เป็นอย่างที่มัน ควรจะเป็นนั้นเป็นฐานะที่ไม่พึงหวังได้
ทุกสิ่งทุกอย่าง ดำเนินไป เคลื่อนไป สู่จุดสลายตัวอยู่ทุกขณะ”


เมื่อพระพุทธองค์ได้ตรัสรู้และแสดงธรรมมาเป็นเวลา ๔๕ ปี ซึ่งมีพระชนมายุได้ ๘๐ พรรษา
ได้ประทับจำพรรษา ณ เวฬุคาม ใกล้เมืองเวสาลี แคว้นวัชชี ในระหว่างนั้นทรงประชวรอย่างหนัก
ครั้นเมื่อถึงวันเพ็ญเดือน ๖ พระพุทธองค์กับพระภิกษุสงฆ์ทั้งหลายได้ทรงเสด็จผ่านทางเมืองปาวา
ประทับ ณ สวนมะม่วงของนายจุนทะบุตรแห่งนายช่างทองนายจุนทะทูลอาราธนาพระพุทธองค์
รับภัตตาหาร ณ บ้านของตน แล้วจัดแจงโภชนาหารอย่างประณีตถวายพระพุทธองค์ อดทัศนาการ
เห็นสุกรมัทวะ อาหารชนิดหนึ่งซึ่งย่อยยาก จึงรับสั่งให้ถวายแด่พระองค์แต่เพียงผู้เดียว
มิให้ถวายแก่ภิกษุรูปอื่น เมื่อพระองค์เสวยแล้วก็รับสั่งให้ฝังเสีย พระองค์เสวยสูกรมัทวะที่นายจุนทะ
ตั้งใจทำถวาย ก็เกิดอาพาธลง มีพระบังคนเป็นโลหิต แต่ทรงอดกลั้น มุ่งเสด็จไปยังเมืองกุสินารา
เพื่อเสด็จให้ถึงสถานที่เพื่อ ดับขันธ์ปรินิพพาน


ในระหว่างนั้นพระพุทธองค์ทรงปริวิตกถึงนายจุนทะผู้ถวายสุกรมัทวะ จึงตรัสกับพระอานนท์ว่า..
“ดูกรอานนท์!
เมื่อเราปรินิพพานไปแล้ว อาจมีผู้กล่าวโทษจุนทะว่าถวายอาหารที่เป็นพิษ
จนเป็นเหตุให้เราปรินิพพานหรือมิฉะนั้นจุนทะอาจจะเกิดวิปฏิสารเดือดร้อนใจตัวเองว่า
เพราะเสวยสุกรมัทวะ อันตนถวายแล้วพระตถาคตจึงนิพพาน
   
ดูกรอานนท์!
บิณฑบาตทานที่มีอานิสงส์มาก มีผลไพศาล มีอยู่สองคราวด้วยกัน คือ
เมื่อนางสุชาดาถวายเราก่อนจะตรัสรู้ครั้งหนึ่ง และอีกครั้งหนึ่งที่นายจุนทะ
ถวายนี้
ครั้งแรกเสวยอาหารของสุชาดาเป็นเวลาที่ตถาคตถึงซึ่งกิเลสนิพพาน
คือการดับกิเลส ครั้งหลังนี้เสวยอาหารของจุนทะบุตรนายช่างทองก็เป็นเวลาที่เราถึงซึ่ง
ขันธนิพพาน คือ ดับขันธ์อันเป็นวิบากที่เหลืออยู่ ถ้าใคร ๆ จะพึงตำหนิจุนทะ เธอพึงกล่าว
ให้เขาเข้าใจตามนี้ ถ้าจุนทะจะพึงเดือดร้อนใจ เธอพึงกล่าวปลอบใจให้เขาคลายวิตกกังวลเสีย
อาหารของจุนทะเป็นอาหารมื้อสุดท้ายสำหรับเรา”


ครั้นพระตถาคต พร้อมด้วยพระอานนท์และภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่เสด็จถึงเมืองกุสินารา
เข้าสู่สาลวโนทยาน คือ อุทยานที่เต็มไปด้วยต้นสาละที่ออกดอกสพรั่ง จึงทรงรับสั่งให้
พระอานนท์จัดแท่นบรรทม ระหว่างต้นสาละที่โน้มกิ่งเข้าหากันหันพระเศียรไปทางทิศอุดร
แล้วทรงปรารภกับพระอานนท์ว่า

“ดูกรอานนท์! พุทธบริษัททั้ง ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ทำสักการะบูชา
ด้วยเครื่องบูชาสักการะทั้งหลายอันเป็นอามิส เช่น ดอกไม้ ธูป เทียน ของหอม เป็นต้น
หาชื่อว่าบูชาตถาคตด้วยการบูชาอันยิ่งไม่ 

ดูกรอานนท์!
ผู้ใดปฏิบัติตามธรรม ปฏิบัติอันชอบยิ่ง ปฏิบัติธรรมอันเหมาะสม ผู้นั้นแล
ชื่อว่า สักการะบูชาเราด้วยการบูชาอันเยี่ยม”

ในเวลานั้นพระอานนท์ได้กราบทูลถามว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! เมื่อพระองค์ปรินิพพานแล้วจะปฏิบัติเกี่ยวกับพระพุทธ สรีระอย่างไร”

พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า
“อย่าเลยอานนท์
เธออย่ากังวลกับเรื่องนี้เลย หน้าที่ของพวกเธอคือคุ้มครองตนด้วยดี
จงพยายามทำความเพียรเผาบาปให้เร่าร้อนอยู่ทุกอิริยาบถเถิด สำหรับเรื่องสรีระของเรานั้น
เป็นหน้าที่ของคฤหัสถ์ที่จะพึงทำกัน กษัตริย์ พราหมณ์ และคหบดีเป็นจำนวนมากที่เลื่อมใส
ตถาคตก็มีอยู่ไม่น้อยเขาคงทำกันเองเรียบร้อย”

 

พระอานนท์ทูลว่า “พระเจ้าข้า” เรื่องนี้เป็นหน้าที่ของคฤหัสถ์ก็จริงอยู่
แต่ถ้าเขาถามข้าพระองค์ ข้าพระองค์จะพึงบอกเขาอย่างไร”

พระองค์ทรงตรัสว่า “อานนท์ !ชนทั้งหลายปฏิบัติต่อสรีระแห่งพระเจ้าจักรพรรดิอย่างไร
ก็พึงปฏิบัติต่อสรีระแห่งตถาคตอย่างนั้นเถิด”


พระอานนท์ทูลถามว่า “ทำอย่างไรเล่า พระเจ้าข้า”

พระองค์ทรงตรัสว่า “อานนท์ ! คืออย่างนี้ เขาจะพันสรีระแห่งพระเจ้าจักรพรรดิด้วยผ้าใหม่
แล้วซับด้วยสำลี แล้วพันด้วยผ้าใหม่อีก ทำอย่างนี้ถึงห้าร้อยคู่ หรือห้าร้อยชั้นแล้ว
นำวางในรางเหล็กซึ่งเต็มไปด้วยน้ำมันแล้วปิดครอบด้วยรางเหล็กเป็นฝาแล้วทำจิตกาธาน
ด้วยไม้หอมนานาชนิดแล้วถวายพระเพลิงเสร็จแล้วเชิญพระอัฐิธาตุแห่งพระเจ้าจักรพรรดินั้น
ไปบรรจุสถูป ซึ่งสร้างไว้ ณ ทางสี่แพร่ง และสรีระแห่งตถาคตก็พึงทำเช่นเดียวกัน
ทั้งนี้เพื่อผู้เลื่อมใส จักได้บูชา และเป็นประโยชน์สุขแก่เขาตลอดกาลนาน”


และแล้วพระตถาคตทรงแสดง ถูปารหบุคคล คือ บุคคลผู้ควรบรรจุอัฐิธาตุไว้ในพระสถูปสี่จำพวก
คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอรหันตสาวก และพระเจ้าจักรพรรดิ

สุภัททะปริพาชก

ในราตรีนั้นได้มีนักบวชปริพาชกนอกพระพุทธศาสนาผู้หนึ่งชื่อ สุภัททะ ขอเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า พระอานนท์จึงขอร้องวิงวอนว่า อย่าได้รบกวนพระผู้มีพระภาคเจ้าเลย ซึ่งปริพาชกสุภัททะก็ยังกล่าววิงวอน ขอเข้าเฝ้าเพื่อทูลถามข้อข้องใจบางประการ พระอานนท์ได้ห้ามว่า
“อย่าเลย สุภัททะ ท่านอย่ารบกวนพระผู้มีพระภาคเจ้าเลย พระองค์ทรงลำบากพระวรกายมากอยู่แล้ว พระองค์ประชวรหนักจะปรินิพพานในยามสุดท้ายแห่งราตรีนี้แน่นอน”
ท่านสุภัททะยังได้วิงวอนต่อว่า “โอกาสของข้าพเจ้าเหลือเพียงเล็กน้อย ขอท่านอาศัยความเอ็นดู
โปรดอนุญาตให้ข้าพเจ้าเข้าเฝ้าพระศาสดาเถิด”
พระอานนท์ทัดทานอย่างเดิมและสุภัททะก็อ้อนวอนเช่นเดิมครั้งแล้วครั้งเล่า จนได้ยินถึงพระพุทธองค์ จึงรับสั่งว่า

“อานนท์!ให้สุภัททะเข้ามาหาตถาคตเถิด”

เมื่อสุภัททะได้เข้าเฝ้าพระศาสดานั้น ก็ขอประทานโอกาสกราบทูลถามข้อข้องใจบางประการ
ซึ่งพระพุทธองค์ก็อนุญาตให้ถาม โดยสุภัททะถามว่า
“พระองค์ผู้เจริญ
คณาจารย์ทั้งหกคือ ปูรณะกัสสปะ มักขลิโคศาล อชิตเกสกัมพล
ปกุทธะกัจจายนะ สัญชัย เวลัฏฐบุตร และนิครนถ์นาฏบุตร เป็นศาสดาเจ้าลัทธิที่มีคนนับถือมาก
เคารพบูชามาก ศาสดาเหล่านี้ยังจะเป็นพระอรหันต์ หมดกิเลสหรือประการใด”

พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า
“เรื่องนี้หรือสุภัททะที่เธอดิ้นรนขวนขวายมาหาเราด้วยความพยายามอย่างยิ่งยวด”

พระศาสดาตรัสทั้งยังหลับพระเนตรอยู่ แล้วทรงตรัสแก่สุภัททะว่า
“อย่าสนใจกับเรื่องนี้เลย สุภัททะ เวลาของเราและของเธอเหลือน้อยเต็มทีแล้ว

จงถามสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่เธอเองเถิด”
  
“ถ้าอย่างนั้น..ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหาสามข้อ คือ รอยเท้าในอากาศมีอยู่หรือไม่
สมณะภายนอกศาสนาของพระองค์มีอยู่หรือไม่ สังขารที่เที่ยงมีอยู่หรือไม
่”
 
พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า

“สุภัททะ !
รอยเท้าในอากาศนั้นไม่มี ศาสนาใดไม่มีมรรคมีองค์แปด
สมณะผู้สงบถึงที่สุดก็ไม่มีในศาสนานั้น สังขารที่เที่ยงนั้นไม่มีเลย

สุภัททะ
ปัญหาของเธอมีเท่านี้หรือ" 
“มีเท่านี้ พระพุทธเจ้าข้า”

พระพุทธองค์ทรงทราบอุปนิสัยของสุภัททะจึงตรัสว่า
“
สุภัททะ!  ถ้าอย่างนั้นจงตั้งใจฟังเถิด เราจะแสดงธรรมให้ฟังแต่โดยย่อ
ดูกรสุภัททะ!
อริยมรรคประกอบด้วยองค์แปดเป็นทางประเสริฐ สามารถให้บุคคลผู้เดินไปตามทางนี้ ถึงซึ่งความสุขสงบเย็นเต็มที่ เป็นทางเดินไปสู่อมตะ
ดูกรสุภัททะ!
ถ้าภิกษุหรือใครก็ตามจะพึงอยู่โดยชอบ ปฏิบัติดำเนินตามมรรคอันประเสริฐ
ประกอบด้วยองค์แปดนี้อยู่ โลกก็จะไม่พึงว่างจากพระอรหันต์”


สุภัททะปริพาชก เมื่อได้ฟังพระดำรัสนี้แล้วเกิดความเลื่อมใส ทูลขออุปสมบทบรรพชา
พระพุทธองค์ทรงตรัสว่าผู้ที่เคยเป็นนักบวชในศาสนาอื่นมาก่อน ถ้าประสงค์จะบวชในศาสนา
ของพระองค์ จะต้องอยู่ “ติตถิยปริวาส” คือ บำเพ็ญตนทำความดีจนภิกษทั้งหลายไว้ใจ
เป็นเวลา ๔ เดือนก่อนแล้วจึงจะบรรพชา อุปสมบทได้ สุภัททะทูลว่าตนเองพอใจอยู่บำรุง
ปฏิบัติพระภิกษุทั้งหลาย ๔ ปี

พระตถาคตเห็นความตั้งใจของสุภัททะจึงรับสั่งให้พระอานนท์นำสุภัททะไปบรรพชาอุปสมบท
พระอานนท์ทรงทำตามรับสั่งนำสุภัททะปริพาชกไปปลงผม โกนหนวด บอกกรรมฐาน
ให้ตั้งอยู่ในไตรสรณคมน์ศีล สำเร็จเป็นสามเณร บรรพชาแล้วนำมาเฝ้าพระตถาคต
ซึ่งทรงตรัสบอกกรรมฐานอีกครั้งหนึ่ง

ตลอดราตรีนั้น พระภิกษุสุภัททะได้ตั้งใจแน่วแน่ว่าจะทำกรรมฐาน เดินจงกรมอย่างไม่ยอมย่อท้อ
ไม่คำนึงถึงความเหน็ดเหนื่อย เพื่อบูชาคุณแห่งพระบรมศาสดาผู้จะปรินิพพานในปัจฉิมยามนี้
ในขณะที่เดินจงกรมอยู่ภายใต้แสงจันทร์เต็มดวงในคืนวิสาขปุรณมีนั้น พระจันทร์ที่สุกสกาว
เจิดจรัสเต็มท้องฟ้านั้น กลับถูกเมฆก้อนใหญ่ดำทมึนเคลื่อนคล้อยเข้าบดบังจนมิดดวงไป
แต่ไม่นานนักก้อนเมฆนั้นก็เคลื่อนคล้อยออก แสงจันทร์นวลสุกสกาวกลับสว่างตามเดิม

นั่นเป็นเหตุให้ดวงปัญญาของพระภิกษุสุภัททะบังเกิดขึ้น เมื่อท่านเปรียบเทียบแสงจันทร์
และก้อนเมฆนั้น
“โอ..จิตนี้เป็นธรรมชาติที่ผ่องใส มีรัศมีเหมือนดวงจันทร์ แต่อาศัยกิเลศที่จรมาเป็นครั้งคราว
จิตนี้จึงเศร้าหมองเหมือนก้อนเมฆบดบัง
ดวงจันทร์ให้อับแสง”

แล้ววิปัสนาญานก็บังเกิดแก่พระภิกษุสุภัททะ สามารถขจัดอาสวะกิเลสทั้งมวล บรรลุอรหัตผลในคืนนั้น
จึงนับเป็นพระอัครสาวกองค์สุดท้ายที่พระพุทธเจ้าทรงประทานบวชให้

เมื่อถึงยามสุดท้ายของคืนนั้น พระพุทธองค์ก็ทรงประทาน ปัจฉิมโอวาท ดังความว่า

          “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย..
         อันว่าสังขารทั้งหลาย ย่อมมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา          ท่านทั้งหลายจงยังกิจทั้งปวงอันเป็นประโยชน์ของตน และประโยชน์ของผู้อื่น          ให้บริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด”

หลังจากนั้นก็เสด็จดับขันธุ์ปรินิพพานใต้ต้นสาละ ณ สาลวโนทยานของมัลลกษัตริย์ เมืองกุสินารา
แคว้นมัลละ (ปัจจุบันอยู่ในเมืองกุสีนคร) แคว้นอุตตรประเทศ อินเดีย สิริรวมพระชนมายุได้ ๘๐ พรรษา

การปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ถือเป็นวันสำคัญของพุทธศาสนิกชนทั่วโลก เพราะพุทธศาสนิกชน
ได้สูญเสียดวงประทีปของโลก ซึ่งนับเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ และครั้งสำคัญของพระพุทธศาสนา
ดังมีพุทธประวัติสังเขปมานั้น

ตารางการปฏิบัติธรรม
กฏระเบียบของวัดที่ควรทราบ

ตารางเวลาสำหรับการปฏิบัติธรรมประจำวัน
วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ 


 


   

 



                 





    
        

                           
         
                               
         

 

                    
วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ
ศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติ ประจำจังหวัดเชียงราย
ศูนย์พัฒนาคุณธรรม-จริยธรรมประจำจังหวัดเชียงราย
๓๙๕ หมู่ ๑๑ ตำบลธารทอง อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ๕๗๒๕๐
โทรศัพท์ (๐๕๓)๑๘๔ ๓๒๕ โทรสาร (๐๕๓)๑๘๔ ๓๒๕

website : www.watthumpra.com
email : watthumprachiangrai@gmail.com